โภชนาการ 'เด็กไทยวัยเรียน' พบ อ้วน น้ำหนักเกิน กว่า 32%

โภชนาการ 'เด็กไทยวัยเรียน' พบ อ้วน น้ำหนักเกิน กว่า 32%

แพทย์ เผย 'เด็กไทย' ยังอยู่ใน 'ภาวะโภชนาการ' ขาดหรือเกิน และขาดสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด แนะปรับการบริโภคอาหารให้เหมาะสม หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพดี

Key Point : 

  • การวิจัยโภชนาการเด็กไทย พบว่า ทารกและเด็กไทยอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 5 ปี ประสบปัญหาภาวะโภชนาการขาดหรือเกิน และขาดสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด 
  • แม้ภาวะตัวเตี้ยของเด็กไทยจะมีสัดส่วนเพียง ร้อยละ 6.2 แต่ที่เป็นปัญหามาก คือ ภาวะน้ำหนักเกิน/ อ้วน ในเด็กวัยเรียนซึ่งพบมากถึงร้อยละ 30-32 รวมถึงการขาดสารอาหารรองอย่างแคลเซียม สังกะสี ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินดี
  • ทั้งนี้ แนวทางการแก้ปัญหาขาดสารอาหาร สามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมอาหารด้วยนม หรือ ในกลุ่มเสี่ยงที่รับสารอาหารไม่เพียงพอ สามารถทานเสริมในรูปแบบยา 

 

จากผลงานวิจัย โภชนาการเด็ก ในงานประชุมวิชาการด้านโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 16 หัวข้อ การแก้ปัญหาช่องว่างทางโภชนาการในเด็กเล็ก จัดโดย สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็ก เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 พบว่า ทารกและเด็กไทยอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 5 ปี ประสบปัญหาภาวะโภชนาการขาดหรือเกิน และขาดสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด 

 

รศ.พญ.สุภาพรรณ ตันตราชีวธร นายกสมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย และรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผยข้อมูลการสำรวจภาวะโภชนาการในทารกและเด็กอายุ 6 เดือนถึง 12 ปี ของ SEANUT II พบว่า เด็กไทยมีภาวะ Triple burden of malnutrition ได้แก่

  • ตัวเตี้ย
  • น้ำหนักเกิน
  • อ้วน
  • ภาวะความหิวซ่อนเร้น (การขาดสารอาหารรอง)

 

เด็กไทยมีภาวะตัวเตี้ย 1 ใน 16 หรือประมาณร้อยละ 6.2 อยู่ในระดับที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่เป็นปัญหามาก คือ ภาวะน้ำหนักเกิน/ อ้วน ในเด็กวัยเรียนซึ่งพบมากถึงร้อยละ 30-32

 

 

โภชนาการ \'เด็กไทยวัยเรียน\' พบ อ้วน น้ำหนักเกิน กว่า 32%

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ขาดสารอาหารรอง

 

ในขณะที่การขาดสารอาหารรอง (micronutrients) เป็นอีกปัญหาที่สำคัญ พบว่าสารอาหารรองที่เด็กไทยได้รับไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร (problem nutrients) มี 6 ชนิด ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินดี โดยเด็กไทยได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ ร้อยละ 94 ตามด้วย แคลเซียม ร้อยละ 76 สังกะสี ร้อยละ 72 วิตามินซี ร้อยละ 67  และวิตามินเอ ร้อยละ 54 ตามลำดับ

 

การขาดสารอาหารเหล่านี้ มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะการขาดธาตุเหล็กและสังกะสี ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโลหิตจาง มีผลต่อพัฒนาการสมองและภูมิคุ้มกันของร่างกาย

 

ขณะที่ การขาดแคลเซียมมีผลต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของกระดูก การขาดแคลเซียมพบมากในเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป เนื่องจากเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ควรดื่มนมวันละ 2 แก้วหรือกล่อง แต่เด็กมักดื่มนมเพียงวันละ 1 กล่องเท่านั้น

 

"นอกจากนี้ สารอาหารอื่นที่ขาด ได้แก่ สังกะสี เนื่องจากการรับประทานเนื้อสัตว์น้อย การขาดวิตามินซี เกิดจากการรับประทานผักและผลไม้น้อย ส่วนวิตามินดีเป็นสารอาหารที่พบน้อยในอาหารที่ทารกและเด็กได้รับ ในภาวะปกติร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากแสงแดด แต่ปัจจุบันเด็กไม่ค่อยเล่นกลางแจ้ง จึงทำให้ขาดวิตามินดี" รศ.พญ.สุภาพรรณ กล่าว

 

3 แนวทางแก้ปัญหา 'ขาดสารอาหาร'

 

1. รับประทานอาหารตามธรรมชาติ ให้ครบ 5 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และนม แต่ละกลุ่มให้หลากหลาย เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน เพียงพอ

 

2. รับประทานอาหารที่เสริมสารอาหาร (fortified food) เช่น ข้าวเด็กหุงสุกเร็วมีการเสริมธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม และวิตามินบี 1 น้ำปลาและซีอิ๊วมีการเสริมธาตุเหล็กและไอโอดีน และนมสำหรับเด็กเล็กเติมสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็กและวิตามินดี ช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น

 

 

 

โภชนาการ \'เด็กไทยวัยเรียน\' พบ อ้วน น้ำหนักเกิน กว่า 32%

3. รับประทานเสริมในรูปยา วิธีนี้เหมาะสำหรับรายที่ขาดสารอาหาร หรือในประชากรกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร ได้แก่ การให้ยาธาตุเหล็กเสริมในทารกเกิดก่อนกำหนด ทารกอายุ 6 เดือน – 2 ปี หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น

 

"อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร คือ การรับประทานให้ครบ 5 กลุ่ม อย่างหลากหลายและเพียงพอ ร่วมกับติดตามการเจริญเติบโต โดยชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กมีการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม"

 

อัพเดทความรู้โภชนาการไทย

 

ด้าน ผศ.ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยและกรรมการมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพฯ เสริมว่า ในด้านองค์ความรู้ด้านโภชนาการ ของไทยนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุง เพราะมีการค้นพบจากงานวิจัยใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

 

เด็ก 6 เดือนขึ้นไป ควรเรียนรู้การทานอาหารอื่นๆ

 

ในส่วนของนม อาหารหลักสำหรับเด็กเล็ก พบว่า แม้เด็กจะดื่มนมแม่ ก็จำเป็นที่ต้องได้รับสารอาหารจากอาหารตามวัย ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ที่เด็กควรเริ่มเรียนรู้การรับประทานอาหารอื่นๆ ตาม “ข้อแนะนำอาหารตามวัย” ของเด็กแต่ละวัย และหลังอายุ 1 ปีไปแล้วสามารถดื่มนมเสริมอาหารที่จะช่วยเสริมสารอาหารที่ได้รับไม่เพียงพอหรือขาดหายไป เพื่อให้เด็กได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอต่อความต้องการร่างกาย

 

นมแม่ แต่ละภูมิภาค มีสารอาหารไม่เท่ากัน

 

นอกจากนี้ จากการศึกษาเรื่อง คุณภาพของนมแม่ เราพบว่า นมแม่ ของคุณแม่ในแต่ละภูมิภาคมีสารอาหารบางตัวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอาหารที่คุณแม่รับประทาน เพราะอาหารที่คุณแม่รับประทานไป จะมีผลต่อการสร้างสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามิน และกรดไขมันในน้ำนมให้กับเด็กแรกเกิด

 

เช่น คุณแม่ที่อาศัยอยู่ ทางภาคใต้ จะมีปริมาณสารอาหาร DHA หรือกรดไขมันในตระกูลโอเมก้า 3 ในนมแม่ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของสมองเด็ก มากกว่าในนมแม่ของคุณแม่ในจังหวัดอื่น เพราะคุณแม่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ริมทะเล จึงมีโอกาสได้รับประทานอาหารปลาทะเลที่มีปริมาณโอเมก้า 3 สูง

 

"แสดงให้เห็นว่าคุณภาพของน้ำนมแม่นั้น สามารถมีคุณภาพที่ยิ่งดีมากขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับสารอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ตัวคุณแม่จะต้องรับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เพื่อให้นมแม่มีสารอาหารสำคัญเพียงพอต่อความต้องการของลูก" 

 

ดังนั้น ข้อแนะนำการบริโภคสำหรับแม่ในช่วงให้นมลูก ตาม “ธงโภชนาการสำหรับแม่ให้นมลูก” จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากแม่ขาดสารอาหารอย่างรุนแรง เด็กก็จะไม่ได้รับสารอาหารที่สำคัญอย่างครบถ้วนและเพียงพอ

 

โภชนาการ \'เด็กไทยวัยเรียน\' พบ อ้วน น้ำหนักเกิน กว่า 32%

 

เด็กไทย ขาดวิตามินดี 

 

รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ อดีตประธานชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย และอาจารย์พิเศษ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปทิ้งท้ายว่า มีสารอาหารหลายอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนมีแสงแดดตลอด เด็กไทยจะขาด วิตามินดี ที่ร่างกายเราสามารถสังเคราะห์ได้จากแสงแดด สะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการใช้ชีวิตและการเลี้ยงดูบุตรเปลี่ยนแปลงไป

 

"โดยสรุป จึงควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารให้เหมาะสม ครบ 5 หมู่ หลากหลายและเพียงพอ ไม่น้อยหรือมากเกินไป จะช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารสำคัญ และสารอาหารอื่นๆ เพียงพอในแต่ละวัน ช่วยลดช่องว่างด้านโภชนาการของเด็กไทยได้ดี"