ป่วย "โควิด" แนวโน้มลด ปัญหา "สุขภาพจิต" พุ่ง

ป่วย "โควิด" แนวโน้มลด ปัญหา "สุขภาพจิต" พุ่ง

ในขณะที่ผู้ป่วย “โควิด” แนวโน้มลดลง “ปัญหาสุขภาพจิต” กลับมีแนวโน้มจะกลายเป็นโรคที่น่ากังวลแทนและอาจจะพุ่งแซงหน้าทุกโรคแม้แต่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย และอาจสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นอันดับ 1 ได้ในอีกราว 10-20 ปีข้างหน้า

สถานการณ์โควิด-19 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวหรือมีผลตรวจโควิด-19 โดยตั้งแต่วันที่ 8-21 ม.ค. 2566 พบผู้ติดเชื้อ 8 ราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพียง 1 ราย และที่เหลือส่วนใหญ่ไม่มีอาการ สัญชาติที่ตรวจพบเชื้อ อันดับ 1 คือ จีน 3 ราย เมียนมา กัมพูชา ญี่ปุ่น อังกฤษและเกาหลีใต้ อย่างละ 1 ราย อัตราการพบผลบวกต่อโรคโควิด-19 ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 (8-14 ม.ค. 2566) พบ 1.7% สัปดาห์ที่ 3 (15-21 ม.ค. 2566) พบเพียง 0.5% เท่านั้น

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่าขณะนี้สายพันธุ์ที่พบในไทยมากที่สุดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.75 (86%) ที่เหลือเป็นสายพันธุ์อื่นที่เคยพบในต่างประเทศ และจากการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ที่ต้องเดินทางไปประเทศที่กำหนดให้ตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนขึ้นเครื่องนั้น ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ได้รายงานข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 เข้าระบบโคแล็บ (Co-Lab) พบติดเชื้อประมาณ 300-400 ราย มีทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยพบผลบวกในนักท่องเที่ยวชาวจีนเพียง 10 กว่าราย (ประมาณ 4% ของผู้เดินทางสัญชาติเดียวกัน)

ในขณะที่ผู้ป่วย “โควิด” แนวโน้มลดลง “ปัญหาสุขภาพจิต” กลับมีแนวโน้มจะกลายเป็นโรคที่น่ากังวลแทนและอาจจะพุ่งแซงหน้าทุกโรคแม้แต่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย และอาจสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นอันดับ 1 ได้ในอีกราว 10-20 ปีข้างหน้า เพราะผู้ป่วยจะกังวลต่อการถูกตีตราจนกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการเข้าถึงบริการ และนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ว่ากันว่าปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่อย่างเจน Z หรือ เจนอัลฟา เข้ารับการปรึกษาปัญหาทางสุขภาพจิตมากขึ้น

รายงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับประเทศไทย จัดทำโดย ยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่าวัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ สอดคล้องกับผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School - based Student Health Survey) พบว่า 17.6% ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งการฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย

อีกด้านวัยแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ก็มีปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน ปัญหาหลักมาจาก การเงินและรายได้ ไม่เพียงพอ เป็นเรื่องความเครียด และบางทีขั้นฆ่าตัวตายเลยไม่ซึมเศร้า ทำให้ครอบครัวแตกแยกและความวิตกกังวล รวมไปถึงผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพทางใจสูญเสียจากการพลัดพราก เศร้ากังวลไม่มั่นคงในชีวิตเพราะไม่มีรายได้ รู้สึกเป็นภาระเมื่อลูกทำงานไม่มีเวลาให้ก็เหมือนโดนทอดทิ้ง ทำให้น้อยใจ ว้าเหว่ บางคนชอบเก็บตัว มากที่สุดคืออารมณ์แปรปรวนเครียดวิตกกังวล 

ช่วงปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายกระโดดขึ้นเป็น 7.35 ต่อแสนประชากร ถือว่าสูงสุดในรอบ 17 ปี  ช่วงปี 2564 เพิ่มเป็น 7.38 เฉลี่ยเป็นคนตายประมาณ 4,820 คน พูดได้ว่า 1 ปีมีคนทำร้ายตัวเองสำเร็จเกือบ 5,000 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงานตัวเลขของไทยอยู่ที่ 8.8 ต่อแสนประชากรในปี 2562 การฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เคียงการตายจากอุบัติเหตุ เป็นสัญญาณกระตุ้นเตือนอย่ามองข้าม “ปัญหาสุขภาพจิต” เพราะเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ยิ่ง “กนง.” ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ยิ่งต้องระวังป้องกันไว้ก่อนแก้ ดูแลคนใกล้ชิด