"ประกันสังคม" ลุย 4 มาตรการ ดูแลผู้ประกันตน เพิ่มประสิทธิภาพการักษา 5 โรคร้าย

"ประกันสังคม" ลุย 4 มาตรการ ดูแลผู้ประกันตน เพิ่มประสิทธิภาพการักษา 5 โรคร้าย

"ประกันสังคม" เร่งดำเนิน 4 มาตรการ ดูแลนายจ้าง ลูกจ้าง ในระบบ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการักษาใน 5 โรคร้าย หนุนวงเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน และส่งเสริมการตรวจสุขภาพฟรีให้ผู้ประกันตน

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)  กล่าวถึงมาตรการเด่น ที่สำนักงานประกันสังคม  จะเร่งดำเนินงานในปีนี้ เพื่อดูแลผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จำนวน 4 มาตรการ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วได้แก่  

มาตรการที่ 1 ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนดอกเบี้ย ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ ลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกันตน  โดยร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์  จัดโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีที่ 1-5 เท่ากับ 1.99% ต่อปี
 

มาตรการที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค โดยร่วมกับสถานพยาบาลที่บันทึกข้อตกลงร่วมมือการให้บริการ จำนวน 10 แห่ง แบ่งตามกลุ่มบริการ 1. การผ่าตัดมะเร็งเต้านม 2. ผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก 3. ผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี 4. หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง 5. หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด

มาตรการที่ 3 ร่วมมือกับสถานประกอบการที่ผู้ประกันตนทำงานอยู่ และสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพ ดังนี้

  1. ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ
  2. แบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง และน้อย
  3. โรงพยาบาลนัดหมายประเมิน เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคลระยะเวลา 6 เดือน
  4. ติดตามผลระบบ Telemedicine และดำเนินการปรับพฤติกรรม ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งได้ดำเนินการนำร่องแล้ว ใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร เป้าหมาย ผู้ประกันตน 300,000 คน

มาตรการที่ 4 ลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามค่าประสบการณ์ของนายจ้าง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้นายจ้างที่ถูกเรียกเก็บเงินสมทบตามอัตราค่าประสบการณ์ จ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาเพียงไม่เกิน 3 ปี จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเพดานขั้นสูงจึงมีการเรียกเก็บเงินสมทบสูงสุดถึง 22 ปี  โดยการแก้ไขหลักเกณฑ์ ส่งผลให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง และ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 229.22 ล้านบาท

นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า ปีนี้ สปส.จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนทุกมาตรา เช่น เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40  เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญ ชราภาพ ของผู้ประกันตน ขยายอายุการรับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตน