“Courthouse Dogs” เพื่อนสี่ขากับหน้าที่สำคัญในห้องพิจารณาคดีความรุนแรง

“Courthouse Dogs” เพื่อนสี่ขากับหน้าที่สำคัญในห้องพิจารณาคดีความรุนแรง

รู้หรือไม่? มีเด็กที่เป็นเหยื่อในคดีความรุนแรงที่ยังไม่พร้อมเข้าไปพูดในห้องพิจารณาคดีจำนวนมาก เนื่องจากสภาพจิตใจบอบช้ำจนไม่สามารถเล่าเหตุการณ์ต่อหน้าผู้คนได้ ศาลในสหรัฐจึงใช้ “สุนัขบำบัด” มาช่วยเหลือเหยื่อด้วยการให้มันเข้าไปนั่งเป็นเพื่อนตลอดการพิจารณา

ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย คำกล่าวที่ว่า “สุนัขคือเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์” ก็ยังถูกพูดถึงอยู่เสมอ เมื่อองค์กรไม่แสวงกำไรในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา อย่าง “Courthouse Dogs” ปิ๊งไอเดียให้น้องหมาที่ผ่านการฝึกมาแล้ว เข้าไปนั่งเป็นเพื่อนเด็กและเยาวชนที่ต้องขึ้นศาลในฐานะเหยื่อจากความรุนแรง เพื่อให้เด็กเหล่านั้นผ่อนคลายความเครียด ความประหม่า และ ความกดดัน ในการพิจารณาคดี ซึ่งเจ้าหน้าที่สี่ขาพวกนี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “สุนัขประจำศาล”

แน่นอนว่าการขึ้นศาลไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่นั้น ล้วนมีความกดดันและความตึงเครียดอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่เป็นเหยื่อจากคดีความรุนแรง เพราะนอกจากการบาดเจ็บทางด้านร่างกายแล้วบาดแผลและความเจ็บปวดทางจิตใจก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครอง ทนาย และศาลจำเป็นต้องใส่ใจ เพราะหากเด็กๆ มีความเครียดมากเกินไปอาจทำให้ไม่กล้าเบิกความในศาลและหรือไม่อยากพูดถึงเรื่องราวร้ายๆ ที่เกิดขึ้นต่อหน้าศาล โดยเฉพาะเมื่อเด็กต้องเผชิญหน้ากับคู่กรณีอีกครั้ง

ทางด้าน Courthouse Dogs มองเห็นความสำคัญจากกรณีดังกล่าวและต้องการให้เด็กและเยาวชนมีความผ่อนคลายและมีความกล้าในการเบิกความต่อศาลมากขึ้นจึงส่งผู้ช่วยมาในรูปแบบน้องหมาสี่ขา

  • ฮีโร่สี่ขาที่ช่วยให้เด็กผ่อนคลาย ลดความประหม่า และพร้อมต่อสู้ในชั้นศาล

เนื่องจากสุนัขที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีจะมีความฉลาดทางอารมณ์ และสามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดให้แก่มนุษย์ได้

นอกจากนี้เคยมีรายงานพบว่า เมื่อเหยื่อจากคดีล่วงละเมิดหรือคดีความรุนแรงต้องไปยืนต่อหน้าศาลเพื่อพูดความจริง และเผชิญหน้ากับผู้ที่เคยล่วงละเมิด หรือทำร้ายร่างกาย เหยื่อมักประสบปัญหาบางอย่าง ทำให้ประหม่า พูดไม่ออก มีความเครียดและกดดัน หรือที่แย่ที่สุดคือความทรงจำที่เลวร้ายนั้นหวนกลับมาจนทำให้พวกเขาร้องไห้ ตัวสั่น หรือหน้ามืด จนไม่สามารถให้การได้

ดังนั้นทาง Courthouse Dogs เชื่อว่าการมีหมาอยู่ข้างๆ เด็กเหล่านี้ จะช่วยให้พวกเขาผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้สามารถพูดคุยและโต้ตอบได้ตามปกติ และถ้าหากพวกเขาเริ่มรู้สึกประหม่า เครียด หรือหวาดกลัวระหว่างให้การ ก็สามารถกอดน้องหมาที่นั่งรออยู่ข้างๆ ได้ เพื่อช่วยให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยและสงบขึ้น เนื่องจากอารมณ์ความรู้สึกของเหยื่อนั้นเกี่ยวพันไปถึงคำให้การ ที่จะมีความชัดเจนและมีน้ำหนักมากขึ้นตามความมั่นคงของอารมณ์ บางกรณีพบว่าเพียงแค่เหยื่อได้มองตาน้องหมาเหล่านี้ก็ช่วยให้พวกเขามีความมั่นใจมากขึ้น

แม้ว่าการพิจารณาคดีจะใช้เวลานานแค่ไหน แต่เจ้าหมาเหล่านี้ก็ยังคอยนั่งเฝ้าเด็กๆ ที่ตกเป็นเหยื่ออยู่ไม่ห่าง เนื่องจากพวกมันได้รับการฝึกฝนจากผู้เชี่ยวชาญมาเป็นอย่างดี อย่างมากพวกมันก็แค่นอนหลับไประหว่างฟังคำพิจารณา

สำหรับสายพันธุ์ของเจ้าสี่ขาที่จะสามารถขึ้นเป็นสุนัขประจำศาลได้นั้น มีการคัดเลือกจากสุนัขสายพันธุ์ที่เป็นมิตร เข้าสังคมเก่ง และฝึกสอนได้ง่าย ส่วนใหญ่แล้วมาจากตระกูล “ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์” (Labrador Retriever) ซึ่งเป็นหมาตัวใหญ่แต่ใจดีและได้รับความนิยมทั้งการนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง สุนัขตำรวจ รวมไปถึงการยืนในตำแหน่ง “สุนัขประจำศาล”

ไม่ใช่แค่การทำหน้าที่ในห้องพิจรณาคดีเท่านั้น แต่พวกมันยังคอยเป็นกำลังใจให้กับเด็กที่ต้องมาตรวจร่างกายหลังถูกล่วงละเมิดหรือถูกทำร้ายด้วย โดยเด็กๆ สามารถพูดคุยกับพวกมันได้เต็มที่โดยเฉพาะเรื่องที่ยังไม่พร้อมเล่าให้ใครฟัง

  • ไม่ใช่แค่กับเหยื่อ แต่น้องหมาก็ช่วยให้นักโทษอยากเป็นคนที่ดีขึ้น

นอกจากช่วยให้เด็กๆ ที่เป็นเหยื่อในคดีความรุนแรงแล้ว สุนัขประจำศาลเหล่านี้ยังเป็นเพื่อนของอดีตนักโทษอีกด้วย โดยในออสเตรเลียมีโปรแกรมให้อดีตนักโทษที่สนใจจะเป็นพี่เลี้ยงให้น้องหมาเข้ามาฝึกอบรม และได้มีเวลาอยู่กับน้องหมาอย่างใกล้ชิด จนสามารถฝึกสอนพวกมันให้ไปเป็นเจ้าหน้าที่สี่ขาของศาลได้

ดังนั้นการได้ทำงานใกล้ชิดกับสุนัขที่มีความเป็นมิตร และถือว่าเป็นการทำประโยชน์ให้กับเหยื่อคนอื่นๆ ทำให้อดีตนักโทษหลายคนรู้สึกเกลียดตัวเองน้อยลง และเริ่มให้อภัยตัวเองในเรื่องที่เคยทำผิดไปและได้รับบทเรียนแล้ว

แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มี “สุนัขประจำศาล” แต่ก็มีการบำบัดรูปแบบอื่นๆ ที่มีสุนัขเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมบำบัดรู้สึกดีขึ้น รวมถึงยังมีสุนัขที่ได้รับการฝึกมาเพื่อช่วยเหลือผู้พิการอีกด้วย ดังนั้นในอนาคตเราอาจได้เห็นเจ้าหน้าที่สี่ขาในห้องพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในประเทศไทยก็เป็นได้

อ้างอิงข้อมูล : American Kennel Club, Courthouse Dogs และ The Age