"ไขมันในเลือดสูง" ภัยร้ายสู่ "โรคหัวใจและหลอดเลือด" ที่ถูกมองข้าม

"ไขมันในเลือดสูง" ภัยร้ายสู่ "โรคหัวใจและหลอดเลือด" ที่ถูกมองข้าม

โรคหัวใจ และหลอดเลือดสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบจำนวนผู้ป่วย 8.4 รายต่อประชากร 100 คน ซึ่งมี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูง

"โรคหัวใจและหลอดเลือด" เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต และพิการในประเทศไทย ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จากเอกสารนำเสนอข้อมูล “การปรับภูมิทัศน์นโยบายการเข้าถึงการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโดย บุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรที่ป่วยเป็น โรคหัวใจและหลอดเลือดสูง ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบจำนวนผู้ป่วย 8.4 รายต่อประชากร 100 คน ซึ่งมี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูง

 

ทั้งนี้ แม้ทั้ง 3 สาเหตุจะมีโอกาสทำให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้มากพอกัน แต่คนไทยกับให้ความสำคัญกับภาวะไขมันในเลือดสูงน้อยกว่าที่ควร เพราะเชื่อว่าหากตรวจพบ LDL-C (Low Density Lipoprotein Cholesterol) หรือไขมันชนิดไม่ดีสูง สามารถแก้ไขได้ด้วยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ทำให้ละเลยการพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

 

สิ่งนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ภาวะไขมันในเลือดสูงมีอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในบรรดาปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด จึงเป็นประเด็นที่ควรใส่ใจมากกว่าที่คิด ทั้งในการให้ความรู้แก่ประชาชน และในเชิงนโยบายเพื่อเข้าถึงการรักษา

 

ไขมันในเลือดสูง โรคที่คนไม่กลัว

 

ศ.เกียรติคุณ นพ. อภิชาต สุคนธสรรพ์ นายกสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้เขียนร่วมของเอกสารนำเสนอข้อมูลนี้ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบ 3 ปัจจัยที่นำไปสู่โรคหัวใจ และหลอดเลือด ผลสำรวจ พบว่า คนไทยตื่นตัวกับ โรคเบาหวาน และ โรคความดันโลหิตสูง เพราะคนไทยได้ยิน และรู้จักเกี่ยวกับสองโรคนี้กันมานาน จึงกลัวว่าตนเองจะเป็น แต่เมื่อตรวจพบไขมันในเลือดสูงกลับไม่ค่อยกลัว

 

 

"สาเหตุเป็นเพราะแนวคิดเรื่องภาวะไขมันในเลือดสูงต้องได้รับการรักษานั้น เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 10 กว่าปีมานี้ ทำให้ที่ผ่านมา นโยบายป้องกัน โรคหัวใจและหลอดเลือด จึงไปเน้นที่การป้องกันความดันโลหิตสูง เราจึงต้องสร้างความรอบรู้เรื่องสุขภาพ หรือ Health Literacy เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ แพทย์จำเป็นต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ และเห็นถึงประโยชน์ของการรับยาเพื่อควบคุมไขมัน เพราะการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD ต้องใช้เวลา และความร่วมมือจากผู้ป่วยในการรักษาอย่างต่อเนื่อง" 

 

ปรับวิถีชีวิต ปรับสภาพแวดล้อม 

 

นอกเหนือจากเรื่องการตระหนักรู้แล้ว การแก้ไขภาวะไขมันในเลือดสูง ยังมีความท้าทายจากวิถีชีวิตยุคใหม่ ทำให้พบภาวะไขมันในเลือดสูงในคนอายุน้อยลง ในประเด็นนี้ ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมเขียนเอกสารนำเสนอข้อมูลดังกล่าวให้ความเห็นว่า "ถ้าเราบอกให้คนไทยเปลี่ยนวิธีการกิน แต่ในสภาพแวดล้อมรอบตัวยังเต็มไปด้วยอาหารที่มีไขมันเยอะ และเข้าถึงง่าย การปรับอาหารการกินก็คงจะทำได้ยาก ดังนั้น การปรับวิถีชีวิตจึงจำเป็นต้องปรับสภาพแวดล้อมด้วย "

 

 

เรื่องนี้อาจต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และผู้ประกอบการในการออกนโยบายเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ในกรณีที่มีร้านอาหารในสถานที่ทำงาน ก็ควรกำหนดให้มีทางเลือกของเมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย

 

เพราะปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ใช้ชีวิตโดยกินอาหาร 2-3 มื้อในสถานที่ทำงาน ส่วนในที่อื่นๆ เราก็ต้องเข้าไปดูว่าควรจะปรับสภาพแวดล้อมอย่างไรเพื่อให้คนเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ภาครัฐต้องมีนโยบายหลายๆ ด้านเพื่อมาสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นเราก็จะเห็นตัวเลขการเกิดของโรค NCD สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นภาระทางการแพทย์ที่กระทบต่อประเทศ


คนไทยตรวจคัดกรอง ไขมันในเลือดสูง เพียง 37.5%

 

ในด้านการคัดกรอง และวินิจฉัย ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ริเริ่มโครงการรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบครอบคลุม ทำให้ในผลการสำรวจระหว่างปี 2547-2557 มีคนไทยเข้าถึงการตรวจคัดกรองภาวะไขมันในเลือดสูงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราการวินิจฉัยภาวะไขมันในเลือดสูงยังคงต่ำกว่าโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงอยู่ โดยอยู่ที่ 37.5% เทียบกับโรคเบาหวานที่ 69.4% และโรคความดันโลหิตสูงที่ 51.2%

 

ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดการรณรงค์ที่มีเป้าหมายเฉพาะสำหรับภาวะไขมันในเลือดสูง ทำให้ประชาชนทั่วไปมองว่าการควบคุมระดับ LDL-C หรือไขมันชนิดไม่ดี มีความสำคัญน้อยกว่าการควบคุมระดับความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือด

 

คัดกรองไขมันในเลือด ที่บ้าน

 

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของโรคเหล่านี้ และมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุม ปัจจุบันเราเพิ่มการตรวจคัดกรองเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจที่เรียกว่า CVD Risk Score และโรคที่เป็นความเสี่ยง ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เช่น การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ท อสม.

 

นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ Lipid Home Use Test มาใช้เพื่อตรวจคัดกรองโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจคัดกรองด้วยตนเองได้ที่บ้าน เมื่อสามารถตรวจคัดกรองได้สะดวกขึ้น ทราบผลเร็วขึ้น ประชาชนก็จะเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัย ดูแล และรักษาได้เร็วขึ้น รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคตด้วย

 

ยาใหม่ ไม่อยู่ในบัญชียาหลัก 

 

ในแง่ของการรักษาและความต่อเนื่อง ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การควบคุมระดับ LDL-C ในคนไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรคือ กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดยังเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ได้น้อย

 

รศ.ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้เขียนร่วมอธิบายว่า แม้จะมีนวัตกรรมในการรักษา เช่น ในรูปแบบยาฉีดที่สะดวก และง่ายขึ้น รวมทั้งมีประสิทธิภาพสูงเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นๆ จนทำให้สามารถลดระดับไขมันชนิดไม่ดีลงได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

"แต่อุปสรรค ที่พบคือ เมื่อเป็นยาใหม่มักมีประเด็นในเรื่องราคา จึงไม่ถูกนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เมื่อไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพของประเทศ ประชาชนทั่วไปก็เข้าไม่ถึง และจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มคนที่สามารถจ่ายค่ายาได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่การเข้าถึงนวัตกรรมในการรักษายังจำกัดอยู่ในวงแคบ”

 

รับมือโรคหัวใจและหลอดเลือด แบบองค์รวม

 

ภญ.สุมาลี คริสธานินทร์ ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การรับมือโรคหัวใจและหลอดเลือด ต้องอาศัยความร่วมมือแบบองค์รวม เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที โนวาร์ตีส มีเป้าหมายในการช่วยให้ประชาชนตระหนักรู้มากขึ้นถึงสาเหตุ การป้องกัน และการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะภาวะไขมันในเลือดสูงที่นำไปสู่โรคหัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงโอกาสในการรักษาที่ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เราพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี

 

ผู้สนใจสามารถศึกษาเอกสารการนำเสนอข้อมูล “การปรับภูมิทัศน์นโยบายการเข้าถึงการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย” ได้ที่เว็บไซต์ คลิก

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์