อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ | ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ | ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อมีการนำเสนอนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาทมาเป็น 600 บาทภายใน 4 ปี ก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผมซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดแรงงานของประเทศ วจึงสงสัยขึ้นมาว่าข้อมูลเท่าที่มีอยู่นั้นจะช่วยตอบคำถามได้หรือไม่

ในเบื้องต้นนั้น จะเห็นได้ว่าการจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นจาก 300 บาทต่อวันเป็น 600 บาทต่อวันภายใน 4 ปีนั้น สามารถแปลความได้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องปรับขึ้นปีละประมาณ 20%

ซึ่งหากเปรียบเทียบว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวได้ 5% ต่อปี (ที่ผ่านมาจีดีพีของไทยขยายตัว 3-4% ต่อปี ไม่รวมปีที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19) และหากประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะเฉลี่ย 3% ต่อปี (ในอดีตอัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยไม่ถึง 2% ต่อปี)

ก็หมายความว่าหากผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2% ก็แปลว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำประมาณปีละ 10% เป็นสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ เพื่อสะท้อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการและศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของแรงงานในการเพิ่มผลผลิตให้กับนายจ้าง

แต่หากจะให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นปีละมากถึง 20% ก็จะต้องมีปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบอีกด้วย เช่น จะต้องมีการขาดแคลนแรงงานอย่างมาก ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้มากนัก

ในขณะเดียวกันหากมีมาตรการขับเคลื่อนให้แรงงานมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น 10% อย่างต่อเนื่องทุกปีใน 4 ปีข้างหน้าก็คงเป็นเรื่องยากมากเช่นกัน

คงไม่มีใครอยากขัดขวางเจตนารมณ์ให้ผู้ใช้แรงงานได้รับค่าตอบแทนเพียงพอที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลไกตลาดนั้นเป็นกลไกที่อยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจระหว่างนายจ้างกับผู้ที่แสวงหางาน

โดยผู้ประกอบการจะต้องมองว่าการจ้างงานทำให้กิจการมีกำไรจึงจะจ้างงาน มิฉะนั้นแล้วก็ต้องหาทางเลือกอื่นๆ เช่น การอาศัยเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน การปิดกิจการ หรือการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ที่ค่าจ้างแรงงานถูกกว่าประเทศไทย

ผมเห็นด้วยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจนั้น วัตถุประสงค์หลักคือการสร้างงานที่ให้ผลตอบแทนสูงกับแรงงาน

เพราะในแต่ละประเทศมีจำนวนแรงงานมากกว่าจำนวนนายทุนหลายเท่าตัว เช่น ประเทศไทยตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติบอกว่ามีคนที่อยู่ในตลาดแรงงานทั้งหมดประมาณ 40 ล้านคน ในขณะที่เราน่ามีบริษัทขนาดใหญ่ๆ 100-200 บริษัทและบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมอีก 3-4 ล้านบริษัท

แต่ผู้ที่สร้างงานก็คือ ผู้ประกอบการที่กล้าเสี่ยงและทุ่มเททั้งความสามารถและเงินทองในการก่อตั้งและขับเคลื่อนกิจการให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งแตกต่างจากภาครัฐที่ไม่ได้เสี่ยงเพราะเก็บภาษีจากประชาชนมาเป็นผู้สร้างงานให้กับข้าราชการ

ผมจึงพยายามไปค้นหาตัวเลขเกี่ยวกับการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานแบ่งไปตามภาคการผลิตและได้คัดลอกสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเป็นบางส่วน

ที่น่าสนใจคือ ตัวเลขช่วงปี 2562 (ก่อน COVID-19 ระบาด) และตัวเลขล่าสุดคือปี 2564 ดังปรากฏในตารางด้านล่าง

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ | ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีคนที่มีงานทำในปี 2564 ทั้งหมด 37.71 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะสะท้อนว่าขนาดของภาคแรงงานของไทยขยายตัวต่ำมากและยืนยันว่าในอนาคตประเทศคงจะขาดแคลนแรงงาน ทำให้ค่าจ้างแรงงานต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ที่น่าสนใจคือโดยรวมแล้วค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยทั้งประเทศของภาคเอกชนโดยรวมนั้นค่อนข้างต่ำคือเพียง 13,015 บาทต่อเดือน (ไม่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันมากนัก)

เช่น หากทำงานมีรายได้ 600 บาทต่อวัน โดยทำงานเดือนละ 20 วันก็จะมีรายได้ 12,000 บาทต่อเดือน) ดังนั้น จึงต้องบอกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ 600 บาทต่อวันนั้นน่าจะมีผลอย่างมาก

เพราะ 13,015 บาทต่อเดือนนั้นเป็นค่าเฉลี่ยของค่าจ้าง แปลว่าน่าจะมีคนจำนวนมากที่ยังมีรายได้ต่ำกว่า 13,015 บาทต่อเดือนด้วย

ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ การที่ภาครัฐจ่ายเงินเดือนสูงกว่าภาคเอกชนโดยเฉลี่ยค่อนข้างมากคือมากกว่าถึง 7,998 บาทต่อเดือน (เป็นการเก็บตัวเลขผิดพลาดหรือเปล่า?) กล่าวคือ ภาครัฐจ่ายเงินเดือนโดยเฉลี่ย 21,013 บาท มากกว่าภาคเอกชนถึง 38%

หากจะหันมาดูว่าการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้นเป็น 600 บาทต่อวันในอีก 4 ปีข้างหน้าจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจใดมากที่สุด

ก็น่าจะกระทบกับภาคการเกษตร (แรงงาน 12.7 ล้านคน) ภาคการผลิตโดยรวม (แรงงาน 5.9 ล้านคน) ภาคก่อสร้าง (แรงงาน 2 ล้านคน) และภาคโรงแรมและบริการด้านอาหาร (แรงงาน 2.6 ล้านคน)

เพราะภาคดังกล่าวมีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีค่าจ้างแรงงานต่อเดือนเฉลี่ยใกล้เคียงกับ 12,000 บาทต่อเดือนหรือต่ำกว่าเพราะค่าเฉลี่ยแปลว่าต้องมีแรงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยคิดเป็นจำนวนไม่น้อย

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ | ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ภาคที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำสุด 2 ภาคคือภาคการก่อสร้างและภาคโรงแรมและบริการด้านอาหาร ซึ่งมีค่าจ้างเฉลี่ยไม่ถึง 11,000 บาทต่อเดือนต่อคน

(ผมขอไม่รวมภาคเกษตร ซึ่งรัฐบาลมีงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรอยู่แล้ว เช่น การประกันราคาและการประกันรายได้ ซึ่งใช้งบประมาณรวมกันน่าจะมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท)

กล่าวคือรัฐคงจะต้องให้ความสนใจกับ 2 ภาคเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นพิเศษ ภาคโรงแรมและบริการด้านอาหารนั้นกำลังขาดแคลนแรงงานอย่างมาก ค่าจ้างจ้าง 600 บาทต่อวันในบางพื้นที่จึงไม่ใช่เรื่องยาก

แต่ในภาคอื่นนั้น จะต้องเร่งพัฒนาฝีมือ (upskill และ reskill) หรือจะต้องมีงบประมาณเข้ามาช่วยผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยที่ปัจจุบันยังต้องเผชิญกับปัญหาหนี้และการฟื้นตัวที่ค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจ

อีกด้านหนึ่งคือจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ปีละประมาณ 2.4 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานคือมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า (ที่ไม่มีทั้งประสบการณ์และฝีมือ) รวมกันประมาณ 1.45 ล้านคน (ตัวเลขของกระทรวงศึกษาในปี 2562 ข้อมูลล่าสุด)

ซึ่งประมาณ 20% อาจจะพยายามหางานทำ แปลว่ารัฐบาลจะต้องช่วยให้แรงงาน 2-3 ล้านคนมีทักษะและฝีมือเพียงพอที่จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะสูงขึ้น.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร