“Passive Death Wish” อันตรายไม่แพ้ “ซึมเศร้า” เช็ก 4 วิธีระวังใจไม่ให้จมดิ่ง

“Passive Death Wish” อันตรายไม่แพ้ “ซึมเศร้า” เช็ก 4 วิธีระวังใจไม่ให้จมดิ่ง

สภาพสังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขันและความกดดัน จึงไม่แปลกที่หลายคนจะรู้สึกเครียด หดหู่ หรือแบกรับความกดดันไม่ไหว จนถึงขั้นรู้สึกว่าตายไปเสียดีกว่า แต่ก็ไม่ได้อยากฆ่าตัวตาย ซึ่งอาการลักษณะนี้ถูกเรียกว่า “Passive Death Wish” ชวนสังเกตคนรอบตัวเข้าข่ายหรือไม่?

ปัญหาการ “ฆ่าตัวตาย” ถือเป็นปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพจิตที่คนในสังคมต้องให้ความสนใจโดยเฉพาะกับคนใกล้ตัว เนื่องจากข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต พ.ศ. 2560-2564  พบว่า อัตราจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จและทำร้ายร่างกายตนเองในวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้น (อายุ 15-34 ปี) เพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีจำนวนมากกว่าวัยทำงานที่อายุเกิน 34 ปีขึ้นไป ถึง 4 เท่า

ดังนั้นเราจึงต้องคอยสำรวจความรู้สึกตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ เพราะบางคนอาจมีความคิดอยากตายแต่ไม่ได้อยากฆ่าตัวตายที่เรียกว่า “Passive Death Wish” ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกเบื่อหน่าย ซึมเศร้า หดหู่ รู้สึกว่าอยากตายด้วยอุบัติเหตุไม่ใช่ลงมือเอง

อาการของคนที่มีภาวะ Passive Death Wish นั้น จะหมกมุ่นอยู่กับการวางแผนต่างๆ เพื่อจบชีวิตตัวเองโดยใช้จินตนาการร่วมด้วย เช่น หากหลับแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลยคงจะดี หรือ ถ้าไปอยู่ในอุบัติเหตุที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตก็คงจะดีขึ้น ซึ่งความคิดเหล่านี้แม้จะไม่ได้มีการลงมือรวมอยู่ด้วย แต่ก็เป็นเรื่องอันตรายเพราะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าพวกเขาจะพาตัวเองไปเสี่ยงในสถานการณ์ที่ถึงแก่ชีวิตเมื่อไร เวลาใด 

เหตุผลที่ทำให้คนเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะอยากตายนั้น นอกจากปัญหาด้านโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือ มีภาวะเครียดแล้ว ยังเกิดจากการมีปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาจากสังคมภายนอกที่ยังไม่สามารถแก้ไขหรือปรึกษาใครได้

  • เช็กสัญญาเตือน ภาวะ Passive Death Wish ก่อนจะสายเกินไป

- เริ่มรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ ไม่ควรเกิดมาแต่แรก หรือครอบครัวและเพื่อนฝูงจะมีชีวิตที่ดีขึ้นหากไม่มีเราอยู่ในโลกนี้แล้ว

- เริ่มรู้สึกอยากอยู่คนเดียว ตีตัวออกห่างจากสังคม คนรอบข้าง

- เริ่มคิดหาวิธีต่างๆ เพื่อจบชีวิตตัวเอง (บางคนอาจมีการเตรียมอาวุธด้วย)

- เริ่มพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่อโคจร พึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด

- มีความวิตกกังวลกับเรื่องเล็กน้อยจนสามารถสังเกตเห็นได้ชัด

- ปฏิบัติกับผู้อื่นราวกับว่าจะเจอหน้ากันเป็นครั้งสุดท้าย เช่น พูดคุยเหมือนเป็นการบอกลา

  • สาเหตุที่ทำให้รู้สึกไม่ยินดีกับการมีชีวิต

- ใช้สารเสพติด (ในบางคนเท่านั้น)

- ความกดดันจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตจนสะสมเป็นความเครียดหรือซึมเศร้า

- ปัญหาตามสภาพแวดล้อมทางสังคม หรือสภาพแวดล้อมตามที่อยู่อาศัยเป็นเชิงลบ เช่น ปัญหาภายในครอบครัว

- ความผิดปกติด้านจิตใจที่มาจากโรคทางจิตเวช

  • เปิด 4 วิธีเฝ้าระวังใจและแก้ไขให้กลับมาอยากมีชีวิตอีกครั้ง

- ทำจิตบำบัด หรือ พฤติกรรมบำบัด โดยการพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดเฉพาะทางด้านจิตเวช วิธีนี้จะเน้นการพูดคุยคนไข้จะได้เล่าถึงปัญหาต่างๆ ให้ผู้เชี่ยวชาญฟังเพื่อหาทางแก้ไข แม้จะยังไม่สามารถแก้ได้ทันทีแต่การได้ระบายออกมาก็สามารถทำให้ผ่อนคลายขึ้นได้

- ใช้ยาต้านเศร้าหรือยารักษาอาการซึมเศร้า เพื่อคลายความกังวล ในบางคนจิตแพทย์อาจให้ยากล่อมประสาทเพิ่มด้วย ซึ่งวิธีนี้จะต้องผ่านการพิจารณาของจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเท่านั้น

- จัดการกับความเครียด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต ได้แก่ ปรับเปลี่ยนเวลาเข้านอนให้เร็วขึ้น รับประทานอาหารให้ครบและเป็นเวลา ออกกำลังกายเท่าที่ร่างกายไหว เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความรู้สึกด้านลบ

- ใช้เวลากับคนรอบข้างให้มากขึ้น เช่น ครอบครัว หรือ เพื่อนสนิท เพื่อจะได้แบ่งปันเรื่องราวที่กำลังเผชิญอยู่

แม้ว่าผู้ที่เผชิญกับ ภาวะPassive Death Wish ส่วนใหญ่จะไม่ได้ต้องการฆ่าตัวตายด้วยตนเอง แต่ก็ถือว่าเป็นความรู้สึกที่อันตรายเพราะเสี่ยงจะพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายได้เสมอ ที่สำคัญจะส่งผลต่อสภาพจิตใจในระยะยาวเพราะจะจมดิ่งกับความคิดด้านลบและความรู้สึกอยากหายไปอยู่ตลอดเวลา จนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

บางคนไม่ได้สังเกตว่าตัวเองมีความเสี่ยงนี้ เพราะมองว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นปกติและอาจหายได้เอง ดังนั้นคนรอบตัวจึงมีส่วนสำคัญที่คอยสังเกตอาการ เพื่อให้คนที่กำลังอยู่ในภาวะนี้ไปพบแพทย์ได้ทันเวลา

อ้างอิงข้อมูล : Health Line, PubMed Central และ กรมสุขภาพจิต