หาบเร่แผงลอย “สตรีทฟู้ดส์” และย่านสร้างสรรค์ | นฤมล นิราทร

หาบเร่แผงลอย “สตรีทฟู้ดส์” และย่านสร้างสรรค์ | นฤมล นิราทร

หนึ่งในเศรษฐกิจฐานรากที่เราคุ้นเคยกันคือ หาบเร่แผงลอยอาหาร ซึ่งโดยความหมายก็คือ “สตรีทฟู้ดส์” (Street foods) นั่นเอง

ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีสตรีทฟู้ดส์ดีที่สุดในโลก ทั้งในด้านความหลากหลายของอาหาร รสชาติ ราคา ความสะดวกในการซื้อหา และที่สำคัญคือพ่อค้าแม่ค้าสตรีทฟู้ดส์ซึ่งเราไม่ค่อยได้กล่าวถึง 

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของรัฐบาลท้องถิ่น สตรีทฟู้ดส์กับหาบเร่แผงลอยอาจไม่เหมือนกัน เพราะในขณะที่สนับสนุนสตรีทฟู้ดส์บนถนนบางสาย เช่น เยาวราช  ข้าวสาร แต่ก็ไล่รื้อหาบเร่แผงลอยอาหารในพื้นที่อื่นๆ

ตามคำจำกัดความขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)  “สตรีทฟู้ดส์” หมายถึง “อาหารและเครื่องดื่มหลากหลายประเภทที่ขายหรือจัดเตรียมในพื้นที่สาธารณะ” คำจำกัดความนี้สอดคล้องกับพจนานุกรมเคมบริดจ์ ที่นิยามว่า “สตรีทฟู้ดส์” หมายถึง “อาหารที่ปรุงและขายในพื้นที่สาธารณะสำหรับรับประทานทันทีโดยส่วนใหญ่จะปรุงและขายในพื้นที่กลางแจ้ง”  

หาบเร่แผงลอย “สตรีทฟู้ดส์” และย่านสร้างสรรค์ | นฤมล นิราทร

โดยนัยนี้ "หาบเร่แผงลอย" อาหารที่ขายในพื้นที่สาธารณะจึงเป็นสตรีทฟู้ดส์ทั้งหมด ไม่ว่าจะขายอยู่กับที่หรือเคลื่อนที่ ในชุมชน บนถนน ทางเท้า ในวิถีชีวิตปกติหรือบนถนนท่องเที่ยว สำหรับกรุงเทพมหานคร สตรีทฟู้ดส์บนถนนท่องเที่ยวได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลท้องถิ่นมากกว่าหาบเร่แผงลอยอาหารทั่วไป 

ถนนบางสายถูกกำหนดให้เป็นถนนสตรีทฟู้ดส์ ส่วนหาบเร่แผงลอยอาหารนอกถนนท่องเที่ยว ที่แม้มีบทบาทในชีวิต ประจำวัน แต่ก็ถูกจำกัดและเบียดขับ ทั้งด้วยหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนด

การบริหารจัดการในระดับพื้นที่ มายาคติเกี่ยวกับเมืองทันสมัย รวมทั้งจุดอ่อนที่เกิดจากการปฏิบัติตนของผู้ค้าเอง ที่ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบ กีดขวางทางสัญจร   

ในความเป็นจริงหาบเร่แผงลอยอาหารในชีวิตประจำวันจำนวนไม่น้อย มีศักยภาพขยับเป็น “สตรีทฟู้ดส์” ที่นอกจากจะเป็นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมแล้ว ยังมีศักยภาพเป็น Soft power ด้วย ดังที่มีความพยายามสนับสนุนอาหารให้เป็น Soft power ในเวทีประชุม APEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเร็วๆ นี้

ความหลากหลายของสตรีทฟู้ดส์ในกรุงเทพมหานครสะท้อนทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิมและการผสมผสานกับสิ่งใหม่ๆ จนเป็นทุนวัฒนธรรมที่สำคัญ เป็น “ทุน” ที่สำคัญของกรุงเทพมหานครที่หาเมืองอื่นเทียบได้ยาก 

แต่ทุนเหล่านี้จะเข้มแข็งขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดการอย่างเหมาะสม นโยบายด้านหาบเร่แผงลอยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหากนำไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและทั่วถึง หนุนเสริมด้วยการสร้างคุณค่าและมูลค่าให้อาหารและพัฒนาผู้ค้าทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ กำกับดูแลด้านการปฏิบัติตนก็จะช่วยสนับสนุนให้ “ทุน” เหล่านี้มีความเข้มแข็งขึ้น

หาบเร่แผงลอย “สตรีทฟู้ดส์” และย่านสร้างสรรค์ | นฤมล นิราทร

ในปี 2565 กรุงเทพมหานครมีนโยบายพัฒนาย่านสร้างสรรค์นำร่อง 11 ย่านใน 10 เขต เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์  กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและพัฒนาชุมชนเมืองน่าอยู่

นโยบายนี้หากสามารถขยายทั้งในแนวราบและเชิงลึก ให้มีการนำไปปฏิบัติมากกว่าการจัดกิจกรรมพิเศษ หรือ อีเว้นท์ ก็น่าจะตอบโจทย์กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและพัฒนาชุมชนเมืองน่าอยู่ได้ชัดเจนและยั่งยืนมากขึ้น  

ความหลากหลายของผู้คนและการตั้งถิ่นฐาน ทำให้กรุงเทพมหานครมีย่านที่มีศักยภาพเป็นย่านสร้างสรรค์จำนวนไม่น้อย ดังนั้นแทนที่จะมุ่งกำหนดกำกับถนนบางสายให้เป็นถนนสายท่องเที่ยว หรือจัดกิจกรรมย่านสร้างสรรค์นำร่องในลักษณะอีเว้นท์

น่าจะลองขยายขอบเขตการทำงานให้ความสำคัญกับ “วิถีในชีวิตปกติประจำวันสนับสนุนธุรกิจฐานรากรายย่อย เช่น พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยอาหาร ที่ประกอบอาชีพประจำอยู่แล้ว สนับสนุนให้ผู้ค้าปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มจากอาหารพื้นบ้าน  

อาหารที่เป็นอัตลักษณ์ อาหาร Fusion ทั้งในมิติรสชาติ รูปลักษณ์ ความสะอาด สุขาภิบาลอาหาร  การรักษาสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลความเป็นระเบียบ มองธุรกิจฐานรากเหล่านี้ในฐานะ “สตรีทฟู้ดส์”

ที่นอกจากจะมีบทบาทในชีวิตประจำวันแล้วยังสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานครทั้งในฐานะที่เป็นคลังอาหารของโลกและเป็นเมืองที่หลอมรวมโอกาสและความหลากหลาย หรือ Inclusive City ด้วย 

แนวทางนี้สอดคล้องกับการขับเคลื่อน BCG และ SDGs ในระดับสากล และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเสริมพลังผู้ค้าที่มีศักยภาพ สนับสนุนให้เขาได้มีโอกาสต่อยอดความรู้ เพื่อให้ตระหนักถึงโอกาสในการเพิ่มรายได้ ขยายการประกอบการ  

มองเห็นเส้นทางอาชีพที่พัฒนาไปพร้อมกับการพัฒนาของย่านและเมือง สนับสนุนโอกาสในการพัฒนาทั้งตนเองและย่านที่เขาประกอบอาชีพ รวมทั้งมีบทบาทรับผิดชอบต่อสังคมด้วยมาตรการภาษี

ในขณะเดียวกันปรับแนวทางการทำงานและการประเมินผลของหน่วยงานในระดับพื้นที่เพื่อมุ่งไปที่การบรรลุผลลัพธ์ คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาเมืองน่าอยู่อย่างแท้จริง การทำพื้นที่ทดลองหรือ Sandbox และประเมินผลอย่างจริงจังน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นไปได้