"ผู้ว่าฯ เชียงใหม่" ถก แก้ไฟป่า-PM2.5 หวังลดจุด Hotspot และพื้นที่เผาไหม้ 20 %

"ผู้ว่าฯ เชียงใหม่" ถก แก้ไฟป่า-PM2.5 หวังลดจุด Hotspot และพื้นที่เผาไหม้ 20 %

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ถกแก้ไฟป่าและฝุ่น PM2.5 ตั้งเป้าหมายลดจุด Hotspot และพื้นที่เผาไหม้ลง 20 % ของค่าเฉลี่ย 5 ปี พร้อมสั่ง KICK OFF ลดค่าฝุ่นในเขตเมือง 

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบบูรณาการ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินการ ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน และมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

"ผู้ว่าฯ เชียงใหม่" ถก แก้ไฟป่า-PM2.5 หวังลดจุด Hotspot และพื้นที่เผาไหม้ 20 %

 โดยในปีนี้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดเป้าหมายลดจุด Hotspot ค่าคุณภาพอากาศที่เกินมาตรฐาน และพื้นที่เผาไหม้ลง 20 % ของค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง หรือ มีการเกิดจุดความร้อนไม่เกิน 9,833 จุด และพื้นที่เผาไหม้ไม่เกิน 718,056 ไร่

โดยที่ประชุมฯ ยังได้หารือการจัดกิจกรรม KICK OFF ซึ่งจะได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินการ รวมถึงการจัดการสื่อสารให้เป็นไปในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เช่น การเคาะประตูบ้าน การทำปุ๋ย การทำแนวกันไฟ การประชาสัมพันธ์ทางเสียงตามสาย เป็นต้น 

"ผู้ว่าฯ เชียงใหม่" ถก แก้ไฟป่า-PM2.5 หวังลดจุด Hotspot และพื้นที่เผาไหม้ 20 %

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อลดค่าฝุ่นละอองในเขตเมือง ควบคู่ไปกับการควบคุมการเผาป่า เช่น (1) การควบคุมควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ โดยให้ประสานการดำเนินงานร่วมกับขนส่งจังหวัด (2) การควบคุมการเผาเศษใบไม้หรือขยะจากครัวเรือน โดยสั่งการให้ อปท. เพิ่มรอบการเก็บขยะให้มากขึ้น (3) การล้างทำความสะอาดถนนทุกสายในจังหวัดเชียงใหม่ และ (4) การควบคุมฝุ่นละอองจากไซต์ก่อสร้างหรือควันจากโรงงาน เป็นต้น ในส่วนของการแก้ไขปัญหาของรอยต่อระหว่างประเทศ ผมได้มีการหารือในเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่จากประเทศเพื่อนบ้านด้วยแล้ว ในขณะที่การดำเนินการในพื้นที่ที่เป็นรอยต่อระหว่างจังหวัด ซึ่งมีจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ก็จะได้มีการหารือร่วมกันกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานแบบไร้รอยต่อ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้มีการหารือการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ผ่าน Application Fire D ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล Fire D (ไฟดี) โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นดังกล่าว จะได้พัฒนาปรับปรุงและต่อยอดการใช้งานของแอพพลิเคชั่น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งาน และต่อประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นต่อไป