สธ.เตือน โควิด 19 Small Wave ขาขึ้น 3 สถานที่เสี่ยงต้องระวัง

สธ.เตือน โควิด 19 Small Wave ขาขึ้น  3 สถานที่เสี่ยงต้องระวัง

สธ.เตือนโควิด 19 Small Wave ขาขึ้น 3 สถานที่เสี่ยงต้องระวัง ด้านคกก.โรคติดต่อ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนโควิดปี66 เป็นเข็มกระตุ้น 1-2 โดสต่อคน เน้นกลุ่มเป้าหมายหลักก่อน ย้ำวัคซีนรุ่นเดิมยังมีประสิทธิในการกระตุ้น กลุ่มเสี่ยงรีบฉีดไม่ต้องรอรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข  การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)  กล่าวผ่านระบบออนไลน์ในการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยช่วงนี้ มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นบางพื้นที่ ส่วนผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่รับวัคซีนโควิด 19 หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น สธ.ได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ วัคซีน รวมทั้ง LAAB ไว้เพียงพอเพื่อรองรับการระบาดที่กำลังเพิ่มขึ้น สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ มีความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ให้มีความพร้อมทุกจังหวัดแล้ว

       "ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ต.ค. 2565 – ก.ย. 2566) ระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้ทุกจังหวัดมีแผนปฏิบัติการรองรับทุกแห่ง 77 จังหวัด ส่วนผลการดำเนินงานด้านวัคซีนโควิด 19 ประเทศไทยฉีดไปแล้ว 143.7 ล้านโดส รับอย่างน้อย 1 เข็ม 57.3 ล้านคน คิดเป็น 82.4% รับครบตามเกณฑ์ 53.9 ล้านคน คิดเป็น 77.5% และรับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วกว่า 32.4 ล้านโดส ส่วนเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี ข้อมูลถึงวันที่ 11 พ.ย.2565 รวม 17,745 คน" นายอนุทินกล่าว

 โควิด 19 ขาขึ้น 

    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  แถลงภายหลังการประชุมว่า  สถานการณ์โควิด 19ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชีย รวมถึงประเทศไทย จากที่ช่วงปลายปีมีกิจกรรมรวมตัวหนาแน่น มีการเปิดเทอม มีเทศกาลต่างๆ ช่วงฤดูหนาวที่ทำให้เชื้ออยาในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น และภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนลดลง 

     “ขอให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้นให้เข้ารับการฉีดโดยเร็ว เพื่อรองรับสถานการณ์ เนื่องจากข้อมูลของผู้เสียชีวิตตอนนี้ 100 % เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรัง มีปัจจัยเสี่ยง คือไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนแค่ 2 เข็ม ได้รับเข็มกระตุ้น 3 เข็มมีท้งรับมาแล้วน้อยกว่า 3เดือนและมากกว่า 3 เดือน ส่วนผู้ที่รับ 4 เข็ม เสียชีวิตน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย”นพ.โอภาสกล่าว 

เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนปี 66

       นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ปี 2566 โดยมีกรอบในการจัดหาและบริหารจัดการให้มีวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่ม 608 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าและ อสม. จำนวน 1-2 โดสต่อคน โดยให้พิจารณาสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส และแนวโน้มประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์ที่ระบาด และนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้คำแนะนำสำหรับการให้วัคซีนโควิด 19 ในปี 2566 อย่างเหมาะสม

      รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ภายหลังการประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อสนับสนุนภารกิจวัคซีนโควิด 19 ให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นที่ปรึกษา และอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธาน  และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดมาลาเรีย เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด แต่งตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
อัตราครองเตียง 20 %

     ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)  กล่าวว่า  ตั้งแต่ลดระดับโรคโควิด 19 เป็นโรคเฝ้าระวัง ก็อยู่ในจุดที่อยู่กับมันให้ได้  โดยสถานการณ์ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ต้องระวังมากขึ้น เป็นขาขึ้นของรอบใหม่ที่เป็น Small Wave ตามคาดการณ์ โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ตามจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น  ขณะนี้มีการเตรียมระบบรองรับเรื่องการรักษา ยา และบุคลากรมีความพร้อม อัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ประมาณ 20 % หากเกินจุดที่กำหนดก็จะมีการปรับระดับและแจ้งเตือนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

 วัคซีนรุ่นเก่ายังกระตุ้นภูมิฯได้

      นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า วัคซีนโควิด 19 ในปี 2566 จะเน้นการใช้เป็นเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก ได้แก่  กลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์  และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า/อสม. ทั้งนี้ ยังไม่มีคำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในปี 2566 จากองค์การอนามัยโลกหรือสภาบันที่น่าเชื้อถือ จึงใช้แนวทางตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิชาการตามพรบ.โรคติดต่อแห่งชาติ พ.ศ.2558 มีเตรียมการวัคซีนไว้ราว 36 ล้านโดส เป็นวัคซีนที่จัดหาในปี 2565 และที่ได้รับบริจาค ส่วนกลุ่มคนทั่วไปหากสมัครใจก็รับวัคซีนได้ วัคซีนมีเพียง โดยจะมีการปรับตามสถานการณ์
        “เบื้องต้นยังไม่ต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าวัคซีนรุ่นใหม่จะมีประสิทธิภาพในการใช้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่ารุ่นเก่า อย่างไรก็ตาม  มีทีมวิชาการในการติดตามประสิทธิภาพประสิทธิผลวัคซีน หากพบว่ามีผลที่ดีกว่าก็จะนำเข้ามา โดยช่องทางการฉีดในปี 66 จะมีการปรับตามสถานการณ์ แต่ขณะนี้มีวัคซีนกระจายอยู่ในสถานพยาบาลในพื้นที่อยู่แล้ว”นพ.ธเรศกล่าว 

3 จุดเสี่ยงต้องระวัง 
      นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า  จากการเฝ้าระวังติดตาม ขณะนี้มีจุดที่อาจจะต้องระวังมากเป็นพิเศษ ได้แก่ ตลาด ในจังหวัดชายแดนมีอัตราการติดเชื้อมากขึ้น สถานบันเทิงมีโอกาสเสี่ยงสูงเฉพาะบางจังหวัด เช่น จ.ท่องเที่ยว และสถานสงเคราะห์ ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกัน คือ เข้ารับเข็มกระตุ้นเมื่อถึงกำหนด โดยขณะนี้อยู่ที่ห่างจากเข็มล่าสุด 4 เดือน  ผู้สูงอายุไม่ควรไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก  ผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ ไม่ควรสัมผัสใกล้ชิดผู้สูงอายุโดยไม่จำเป็น  และสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ