เมื่อ "การลาออกครั้งใหญ่" นำมาสู่ "การสำนึกผิด" เพราะหางานยาก ได้งานที่ไม่ชอบ

เมื่อ "การลาออกครั้งใหญ่" นำมาสู่ "การสำนึกผิด" เพราะหางานยาก ได้งานที่ไม่ชอบ

“การสำนึกผิดครั้งใหญ่” (The Great Remorse) กำลังก่อตัวในแรงงานชาวสหรัฐ เนื่องจากประสบปัญหาหางานใหม่ไม่ได้ หรือได้งานไม่ตรงต่อความต้องการ หลังจาก “การลาออกครั้งใหญ่” (The Great Resignation) ที่เริ่มเมื่อช่วงการระบาดของโควิด-19

เมื่อแรงงานชาวอเมริกันกว่า 47 ล้านคนที่ลาออกอย่างสมัครใจในปรากฏการณ์ “การลาออกครั้งใหญ่” (The Great Resignation) ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มรู้ตัวแล้วว่าการหางานใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด รวมถึงเหล่าพนักงานที่ได้งานใหม่แล้ว แต่งานกลับไม่เป็นไปอย่างที่หวังเอาไว้ ทำให้พวกเขารู้สึกพลาดที่ลาออกจากงาน และคิดว่าไม่น่าลาออกจากที่ทำงานเก่า จนกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในตลาดแรงงานที่เรียกว่า “การสำนึกผิดครั้งใหญ่” หรือ “The Great Remorse” หรือ “The Great Regret

ผลสำรวจล่าสุดของ Harris Poll บริษัทวิจัยตลาดที่สำรวจความเห็นของแรงงานตลาดสหรัฐ พบว่า แรงงานที่มีงานทำเกือบทั้งหมดไม่ต้องการลาออกจากงาน 

  • 63% ของคนที่มีงานทำเปิดเผยว่า พวกเขามีความสุขดีกับงานที่อยู่ในปัจจุบันและไม่ต้องการลาออก 
  • 20% ยอมรับว่า งานที่ทำอยู่ในตอนนี้ไม่ใช่งานในฝันของพวกเขา แต่ด้วยค่าแรงและสวัสดิการที่ดี ทำให้พวกเขาไม่สามารถปล่อยให้งานเหล่านี้หลุดมือไปได้
  • 17% ที่เหลือต้องการจะเปลี่ยนงาน แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังคืบคลานเข้ามา ทำให้พวกเขาไม่อยากเสี่ยงและยังคงต้องการความมั่นคงทางการเงิน และจำเป็นต้องทำงานที่เดิมต่อไป

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง ​: 

ขณะเดียวกัน แม้ว่าหลายบริษัทจะมีตัวเลขการจ้างงานที่สูงขึ้น แต่บริษัทบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำกลับประกาศเลิกจ้างพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น Meta บริษัทแม่ของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ขณะที่ Twitter ปลดพนักงานออกหลังจากการเข้าซื้อกิจการของอีลอน มัสก์ ส่วน Amazon ธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่เตรียมปลดพนักงานร่วม 1,000 คน

สภาพความไม่แน่นอนทางธุรกิจเหล่านี้ ล้วนสร้างความตื่นตระหนกให้แก่พนักงานหลายล้านชีวิตที่เคยคิดว่างานของตนเองนั้นมีความมั่นคงอยู่แล้ว

  • งานหายากขึ้น

ผู้ที่กำลังหางานในตลาดแรงงานสหรัฐกว่า 2,000 คน พบว่า กว่า 70% ของแรงงานมองว่า การหางานใหม่ตามที่ตนเองต้องการนั้นยากกว่าที่พวกเขาคิดเอาไว้

นอกจากนี้ ราว 72% ของผู้ที่กำลังมองหางานเชื่อว่าเหล่าบริษัทต่าง ๆ กำลังปล่อยปละละเลยพวกเขา ด้วยการ เพิกเฉยต่อใบสมัครของตน และไม่นัดสัมภาษณ์งาน ส่งผลให้ราว 2 ใน 3 ของคนหางานรู้สึกเสียใจที่ไม่ยื่นใบสมัครให้เร็วกว่านี้ และคิดว่าโอกาสได้งานในปี 2563-2564 น่าจะมีมากกว่าในปีนี้

คนที่กำลังหางานทำกว่า 60% ใช้เวลาหางานใหม่นานกว่า 6 เดือน และหลายคนเปิดเผยว่าพวกเขาสมัครงานไปแล้วกว่า 50 ตำแหน่ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ จากความผิดหวังและความคาดหวังที่จะได้งานทำให้ 51% ของผู้หางานยอมรับว่าจะตัดสินใจรับงานใด ๆ ก็ตามที่ติดต่อกลับมา ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานที่พวกเขาต้องการหรือไม่ นี่จึงเป็นสัญญาณว่าการลาออกครั้งใหญ่อาจจะเดินทางมาถึงจุดจบแล้ว หลังจากยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี

  • ​​​​​​เมื่องานใหม่ไม่เป็นไปตามที่หวัง

ผลสำรวจของ Harris Poll ซึ่งรวบรวมเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า กว่า 33% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกเสียใจที่ลาออกจากงานเก่า โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นงานใหม่ที่ไม่ตรงความต้องการและไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ความสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงานที่ลดลง รวมถึงคิดถึงวัฒนธรรมที่ทำงานเก่า

ขณะที่ผลสำรวจของ Joblist เว็บไซต์หางาน เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า 26% ของคนที่ลาออกจากงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจดังกล่าว เมื่อถามถึงเหตุผลที่ทำให้เสียใจกับการลาออกจากงาน พบว่า

  • 40% เลือกลาออกจากงานทั้งที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ และพบว่าการหางานใหม่เป็นเรื่องยากกว่าที่คิดไว้ ทั้งที่ช่วงเวลาที่ผ่านมา ตำแหน่งงานว่างในสหรัฐสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
  • 22% คิดถึงเพื่อนร่วมงานเก่า
  • 17% งานใหม่ไม่เป็นอย่างที่หวังไว้
  • 16% คิดว่างานเก่านั้นดีอยู่แล้ว
  • 9% บริษัทใหม่มีวัฒนธรรมองค์กรหรือการจัดการที่ไม่ดี

 

  • พนักงานบูมเมอแรง

เมื่อถามว่าพร้อมที่จะกลับไปทำงานที่เก่าในฐานะ “พนักงานบูมเมอแรง” หรือ Boomerang Employees หรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามว่า

  • 59% ระบุว่า ไม่พร้อมกลับไป
  • 24% ยังลังเล
  • 17% เท่านั้นที่จะกลับไปทำงานที่เดิม

แม้จากผลสำรวจคนส่วนใหญ่จะยังไม่พร้อมกลับไป แต่ทิศทางการจ้างงานพนักงานบูมเมอแรงกลับเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจาก LinkedIn ที่เผยว่า จำนวนการจ้างงานพนักงานบูมเมอแรงเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีเพียง 2%

ขณะที่ The Muse เว็บไซต์หางาน ได้ทำการสำรวจประเด็นนี้เช่นกัน พบว่า 72% ของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่ารู้สึกผิดหวังในตำแหน่งงานใหม่ ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ชวนเชื่อในระหว่างการสัมภาษณ์งาน

แคธรีน มินชิว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ The Muse ระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า “ภาวะช็อกจากการเปลี่ยนงาน” หรือ Shift Shock 

“พนักงานเข้าร่วมบริษัทใหม่เพียงเพราะคิดว่าเป็นงานในฝัน โดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน จนมาพบความจริงในภายหลังว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เป็นเพียงคำโฆษณาเท่านั้น”

สถานการณ์ตลาดแรงงานในสหรัฐตอนนี้ ดูเหมือนว่านายจ้างจะถือไพ่เหนือกว่าแล้ว เพราะคนที่ว่างงานก็เริ่มอยากได้งานทำ ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่พนักงานเก่าบางส่วนก็พร้อมจะเป็น “พนักงานบูมเมอแรง” 

แจ็ค เคลลี นักเขียนบทความอาวุโสของนิตยสาร Forbes ให้คำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะออกจากงานเพราะงานไม่เป็นไปตามที่หวังว่า ให้ทำตัวปรกติ อย่าให้คนในที่ทำงานรู้ว่าคุณกำลังส่งใบสมัครไปที่อื่น

“เมื่อคุณได้งานที่ต้องการจริง ๆ แล้ว ค่อยลาออกและจากลาที่ทำงานใหม่ด้วยดี อย่าปิดโอกาสการกลับมาทำงานที่เดิม ด้วยการทำตัวแย่ ๆ กับเจ้านายหรือที่ทำงานเก่า เพราะในปัจจุบัน เทรนด์พนักงานบูมเมอแรงกำลังมา คุณอาจพิจารณากลับไปสู่บริษัทเก่าของคุณในตำแหน่งที่สูงขึ้นก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การลาออกครั้งใหญ่มาจนถึงการสำนึกผิดครั้งใหญ่นี้ สะท้อนให้เห็นว่า แรงงานจำนวนมากอาจตัดสินใจแบบรีบร้อนเกินไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ต่อจากนี้ไป มนุษย์เงินเดือนทุกคนก็ควรคิดให้รอบคอบมากขึ้นก่อนที่จะลาออกจากที่ทำงาน หรือ รับงานที่ใหม่ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลังอีก


ที่มา: BloombergForbes1Forbes2FortuneInc.TalentlmsThe New York TimesUSA TodayWorld Economic Forum