กทม.ดูแลบัตรทองได้แค่ 20 % เช็กจุดคนกรุงเข้าถึงบริการ

กทม.ดูแลบัตรทองได้แค่ 20 % เช็กจุดคนกรุงเข้าถึงบริการ

เมื่อกรุงเทพมหานครดูแลคนรักษาพยาบาลสิทธิ์บัตรทองได้แค่ 20 % เช็กแนวทางคนกรุงจะเข้าถึงระบบบริการและสิทธิประโยชน์

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานระบบบริการสาธารณสุขพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ทศวรรษที่ 3 สู่การสร้างความเชื่อมั่นเครือข่ายระบบบริการสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร”

 

กทม.ให้บริการบัตรทองได้แค่ 20 %

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.)  กล่าวว่า ใน กทม. มีจำนวน

  • โรงพยาบาลทั้งหมด 12 แห่ง
  • ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง
  • ศูนย์สาขาอีก 13 แห่ง

ที่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชน กทม. ทราบดีว่ายังไม่สามารถดูแลได้อย่างครอบคลุมทั้งหมด

  •  ตามทะเบียนราษฎร์ กทม. มีประชากรราว 5 ล้านคนในพื้นที่
  • ข้อมูลประชากรที่ลงทะเบียนระบบบัตรทอง ในกทม. มีถึง 7.8 ล้านคน

ในจำนวนนี้ ทาง กทม. สามารถให้บริการได้เพียง 20% เท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะสั้น 90 วัน เช่น

  • การจัดตั้งศูนย์ผู้พิการเบ็ดเสร็จ
  • คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (Pride Clinic)

    ต่อจากนี้ จะมีการพัฒนาระบบและเชื่อมโยงข้อมูล เช่น

  • ระบบบัตรทอง การตั้งศูนย์ฟื้นฟูเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Rehab Center)
  •  ยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเข้มแข็งให้ชุมชน
  •  ขยายการสร้างเครือข่ายระบบบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ มีการดำเนินการและประสบความสำเร็จไปแล้วบางส่วน ได้แก่ กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์ ดุสิตโมเดล ราชพัฒน์โมเดล
  • สร้างบริการ เช่น การมีรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ โมบายแล็ป (Mobile Lab) การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ตลอดจนกระบวนการรักษาแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น

“กรุงเทพมหานคร ไม่สามารถทำโดยลำพังได้ คงจะต้องมีความร่วมมือจากภาคเครือข่ายในกรุงเทพมหานครทั้งหมด สปสช. สบส. ที่จะต้องมาจับมือกันเพื่อทำให้เกิดระบบการให้บริการ” นพ.สุขสันต์ กล่าว

 

พัฒนาระบบบัตรทองกทม.

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กทม. จะมีหน่วยบริการด้านปฐมภูมิเป็นหลักที่ให้บริการอยู่ แต่ในจำนวนที่มีอยู่ยังไม่สามารถครอบคลุมประชาชนได้ทั้งหมด จากนี้อาจต้องเพิ่มหน่วยบริการเสริมในส่วนนี้ โดยอาศัยระบบการดูแลรักษาที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาให้เป็นโอกาสที่จะต่อยอดให้เกิดขึ้น เช่น

  • ร้านยาชุมชนอบอุ่น ที่สามารถแนะนำและคัดกรองโรคทั่วไปได้ ซึ่งมีการเปิดให้บริการแล้วบางพื้นที่
  • สปสช. ช่วยระบบฐานข้อมูล และสนับสนุนการเบิกจ่าย เพื่อให้เกิดการวางแผนร่วมกันและบริหารจัดการ
  • มี ผู้บริหารจัดการพื้นที่ (Area Manager) ที่จะสามารถจัดการทั้งข้อมูลและระบบในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน และนำไปสู่การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น


ระบบส่งต่อบัตรทองกทม.

พลอากาศเอก นพ.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจะทำระบบส่งต่อที่พึงประสงค์และมีประสิทธิภาพ โดยหลักแล้วไม่มีอะไรที่ซับซ้อน แต่ประเด็นอยู่ที่ความพึงประสงค์ ซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วนที่เป็นตัวกำหนด ได้แก่

1. ผู้รับบริการ

 2. สถานพยาบาลที่ส่งต่อ

 3. สถานพยาบาลที่รับส่งต่อ

4. สปสช และโดยทั่วไปในแต่ละส่วนจะใช้เกณฑ์ทั้งหมด 5 มิติ  ได้แก่

  1.  คุณภาพ
  2. ความปลอดภัย
  3. ประสบการณ์
  4. เจ้าหน้าที่
  5. การเงิน ในการพิจารณา

การที่จะลดความแปรปรวนของระบบได้คือ โรงพยาบาลต้องร่วมมือกันตั้งแต่ต้นโดยสร้างเครือข่ายในการแบ่งปันและสนับสนุน 3 สิ่ง ดังนี้

1. บุคลากร

2. ทรัพยากร

3. ความรับผิดชอบ

ซึ่งจะทำให้การออกแบบต่อเดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงทำมาตรฐานคลินิกที่มาร่วมเป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดความไหลลื่นในการส่งต่อ ตลอดจนเชื่อมฐานข้อมูลแต่ละหน่วยบริการ


สิทธิประโยชน์บัตรทองกทม.

 สำหรับสิทธิบัตรทองที่เข้าถึงได้ 

  • สิทธิการคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • สิทธิในการตรวจและเข้ารักษาพยาบาล ตลอดจนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์
  • สิทธิได้รับค่าอาหารและห้องสามัญ
  • สิทธิในการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ทำฟันปลอม รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม ใส่เพดานเทียมสำหรับผู้ที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่
  • ยาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ
  • เจ็บป่วยทั่วไป ที่ไม่ใช่อาการฉุกเฉิน

สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ เพียงยื่นบัตรประชาชน

  • เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรืออาการรุนแรงขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ระดับ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว (ตามนิยามทางการแพทย์) ให้เข้ารับบริการกับหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่เข้าร่วม ให้ติดต่อ สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อแนะนำข้อมูลหรือประสานหาเตียงรองรับ                

  • อุบัติเหตุ แบ่งเป็น 2 กรณี

- หากประสบอุบัติเหตุทั่วไป ให้ปฏิบัติเหมือนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน

- กรณีประสบอุบัติเหตุจากรถ ต้องใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหมดก่อน ส่วนเกินจึงจะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้