ชีวิต – การทำงาน - ดูแลสุขภาพ ในแบบฉบับ “หมอเก่งพงศ์”

ชีวิต – การทำงาน - ดูแลสุขภาพ  ในแบบฉบับ “หมอเก่งพงศ์”

พอเข้าเรียนแพทย์ ได้เจอผู้สูงอายุเยอะและคนที่บ้านเริ่มเจ็บป่วย ทำให้มองว่าการป้องกันไม่ให้ป่วยน่าจะดีกว่า สิ่งเหล่านี้จุดประกายให้อยากเรียนให้เก่ง เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อนได้มากขึ้น

ด้วยความตั้งใจที่อยากจะทำสถานพยาบาลดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ มาตรฐานสูงระดับนานาชาติ อีกทั้งการเติบโตมาในครอบครัวใหญ่ที่มีผู้สูงอายุ จุดประกายให้ นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ตัดสินใจเรียนแพทย์ และก่อตั้ง Chersery Home โรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

หมอเก่ง-นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ผู้อำนวยการ Chersery Home โรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พร้อมกับหมวกอีกหนึ่งใบ คือ นายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพ ผู้สูงอายุไทย (SHSTA) โดยในปี 2021 หมอเก่ง ได้รับรางวัลบุคคลคุณภาพแห่งปี สาขาธุรกิจการแพทย์ (QUALITY PERSONS OF THE YEAR 2021) ในวัยเพียง 37 ปี การที่ต้องทำงานในหลายบทบาท ทำให้หมอเก่งต้องปรับมุมมองให้กว้างขึ้น เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนทั้งองค์กรและสุขภาพของคนไข้ รวมถึงแบ่งเวลาในการดูแลสุขภาพตัวเองและให้เวลาคุณภาพกับครอบครัวด้วย

 

  • “เรียนให้เก่ง”เพื่อดูแลผู้ป่วยซับซ้อน

เนื่องจากเติบโตมาในครอบครัวใหญ่ และอาม่าซึ่งขณะนี้อายุกว่า 103 ปี รวมถึงคนในครอบครัวที่อายุมากขึ้น ต้องดูแลสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งที่บ้านทำธุรกิจจำหน่ายยา จุดประกายให้หมอเก่งสนใจที่จะเรียนแพทย์ และต่อเฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ ด้วยความตั้งใจที่ว่า อยากจะทำสถานพยาบาลดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ มาตรฐานสูงระดับนานาชาติ

หมอเก่ง เล่าให้กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า เห็นเรื่องของการเจ็บป่วยมาตลอดในช่วง 20 ปีก่อนที่จะเรียนแพทย์ จึงมองว่าการใช้วิชาความรู้ตรงนี้น่าจะใช้ช่วยที่บ้านได้ พอเข้าเรียนแพทย์ ได้เจอผู้สูงอายุเยอะและคนที่บ้านเริ่มเจ็บป่วย ทำให้มองว่าการป้องกันไม่ให้ป่วยน่าจะดีกว่า

ชีวิต – การทำงาน - ดูแลสุขภาพ  ในแบบฉบับ “หมอเก่งพงศ์”

สิ่งเหล่านี้จุดประกายให้อยากเรียนให้เก่ง เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อนได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ความตั้งใจ คือ อยากเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้สูงอายุ เพราะส่วนตัวเป็นคนใจเย็น ชอบพูดคุยให้คำแนะนำผู้สูงอายุในการป้องกัน และการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาเท่าที่จำเป็น

หลังจากเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2552 และใช้ทุนที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เป็นเวลา 3 ปี หมอเก่งได้กลับมาเรียนเฉพาะทางด้านอายุกรรมที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบในปี 2558 และก่อตั้ง Chersery Home โรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ในปี 2559 เพื่อตอบโจทย์การดูแลที่สลับซับซ้อน เน้นการฟื้นฟูเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและกลับบ้านได้

 

  • มาตรฐานทั้ง ในบ้าน-หลังบ้าน

ในเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา Chersery Home ถือว่าขยายบริการขึ้นกว่า 16 เท่า จากในตอนแรกมีเพียง 10 เตียง จนปัจจุบันมีทั้งหมดกว่า 160 เตียง อีกทั้งหมอเก่งยังมองว่า ธุรกิจของผู้สูงอายุ ซึ่งมีมูลค่าราว 10,000 ล้านบาทในปัจจุบัน ยังมีโอกาสอีกมาก ต่อไปสังคมจะไม่เพียงพูดเรื่องสังคมผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จะเป็นสังคมอายุยืน Wellness เติบโต รวมถึงนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่จะเข้ามาภายหลังจากสถานการณ์โควิดอีกด้วย

ในบทบาทแพทย์และผู้บริหาร การทำงานจึงต้องปรับเปลี่ยนในเชิงภาพรวมมากขึ้น หมอเก่ง อธิบายว่า ปกติเราทำงานดูแลคนไข้ 1 คน พูด 1 ครั้ง แต่การบริหารต้องดูแลในเชิงภาพรวม งานเป็นแพทย์ก็ยังต้องทำต่อไป แต่ต้องบริหารคนทั้งในบ้าน หลังบ้าน

“ในบ้าน” ต้องดูแลให้เป็นระบบระเบียบ มีมาตรฐานมารองรับ เพื่อให้ทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ ขณะที่ การทำงาน “หลังบ้าน”  หน่วยซัพพอร์ตต่างๆ งานฝ่ายบุคคล งานบัญชีต้องมีการวางกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในรูปแบบบริษัท ทำภาษีให้ถูกต้อง วางรากฐานทางธุรกิจให้เข้มแข็ง พัฒนา ยกระดับคน เป็นความสำคัญที่เพิ่มพูนจากการเป็นหมอที่ต้องทำงานตรงนี้มากขึ้น

งานด้านการดูแลผู้สูงอายุ อาจจะเป็นธุรกิจที่ฟังดูแล้วหดหู่ พาพ่อแม่มาฝากไว้ ดังนั้น ต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ธุรกิจด้วย ว่าเราเป็นธุรกิจที่เน้นการรักษาพยาบาล ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย เป็นต้น เวลามองภาพใหญ่ของทั้งสมาคมฯ ก็ต้องทำให้ภาพรวมธุรกิจทั้งประเทศมีภาพลักษณ์ที่ดี

“สิ่งที่หมอได้ทำ ไม่ได้มองแค่ธุรกิจ องค์กรร่ำรวยหรือไปรอดเท่านั้น แต่พยายามยกระดับประเทศเพื่อให้ดูแลผู้สูงอายุที่ดีและยั่งยืนได้อย่างไร นี่เป็นเป้าหมายของโรงพยาบาลด้วย”

  • ช่วงเช้า เวลาทองครอบครัว

สำหรับการแบ่งเวลาการทำงาน การใช้ชีวิต และดูแลสุขภาพ หมอเก่ง เล่าว่า ตอนนี้แทบจะ integrate กันไปหมด สมัยก่อนเรามีเวลาพัก เวลาเข้างาน เวลาประชุม ดังนั้น ตอนนี้อาจจะต้องทำให้ทุกอย่างรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ตัวหมอเองไม่ได้มองว่าการทำงานต้องมีเวลาชัดเจน เราทำงานได้ทุกเมื่อแม้ว่าเราจะไปเที่ยว ก็สามารถบริหารจัดการได้บ้างในบางเรื่องที่สามารถทำได้

“แต่หากอยากจะดูแลสุขภาพก็ต้องแบ่งเวลา เช่น ส่วนตัวจะชอบวิ่งที่บ้าน ทำการออกกำลังกายให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนชุดกีฬา ฝ่ารถติดไปฟิตเนสก็จะช้าเพราะเวลาเราจำกัด ดังนั้น จะใช้ลู่วิ่งที่บ้าน วิ่งไปฟังเพลง ฟังพอดแคส ฟังข่าวธุรกิจ การแพทย์ ต้องบริหารจัดการ”

“ขณะเดียวกัน เรามีลูกเล็ก จึงต้องแบ่งเวลาอย่างน้อยช่วงเช้าที่เป็นเวลาทองสำหรับครอบครัว ในการไปส่งลูก ใช้เวลาสั้นๆ ประมาณ 20 นาที ปิดทุกอย่างเพื่ออยู่กับเขาให้เต็มที่ มีเวลาน้อยแต่ก็พยายามทำให้ทุกช่วงเวลามีคุณภาพจริงๆ” หมอเก่ง กล่าวทิ้งท้าย

  • 3 แนวคิด ใช้ชีวิตและการทำงาน

ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน “หมอเก่ง” มีหลักอยู่ 3 ข้อ คือ “Be professional” ด้วยความที่เป็นหมอและต้องรับผิดชอบชีวิตคน การเป็นมืออาชีพจึงเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือ เพื่อให้คนเชื่อมั่นทั้งในมุมมองของการเป็นแพทย์และการทำธุรกิจ

“Be human” การดูแลผู้สูงอายุ หรือ มองเรื่องการตายต้องใช้ความรู้สึกระดับหนึ่ง การที่จะเข้าใจคนแก่สักคนหนึ่งต้องมองทั้งโรคประจำตัว ความสัมพันธ์ ความเครียด ความเศร้า เราต้องมองเขาให้ออก การที่เรามีความเป็นมนุษย์ระดับหนึ่ง ได้อยู่กับอาม่าและที่บ้านเป็นครอบครัวขยาย มีสมาชิกให้พูดคุยเยอะ โตมากับสังคมคนจีนทำให้เราได้เรียนรู้ตรงนี้

“Be Sustainable” อยากทำให้ทุกอย่างยั่งยืน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยึดมั่นเป็นอุดมการณ์ เราไม่ทำอะไรที่ฉาบฉวย ไม่ว่าจะเป็นการตลาด ด้านธุรกิจ วางเป็นระบบสามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการแพทย์ด้วย หมอไม่ได้มีแนวคิดที่จะให้คนไข้ต้องพึ่งพาหมอตลอดเพราะแบบนั้นไม่ยั่งยืน

“เวลาเราทำเนิร์สซิ่งโฮม เราบอกกับพนักงานทุกคนว่า หากคนไข้กลับบ้านได้ นั่นคือ เป้าหมายของเรา คนไข้แข็งแรงและกลับไปอยู่กับครอบครัวได้ นี่จึงเป็น Sustainable Way ที่หมอยึดถือมาตลอดทั้งสามข้อ” หมอเก่ง กล่าว