16 องค์กรเอชไอวี ยื่นจดทะเบียน “หน่วยบริการเฉพาะด้าน”ในระบบบัตรทอง

16 องค์กรเอชไอวี ยื่นจดทะเบียน “หน่วยบริการเฉพาะด้าน”ในระบบบัตรทอง

16 องค์กรภาคประชาสังคมด้านเอชไอวี ยื่นจดทะเบียนกับ สปสช. ร่วมเป็น “หน่วยบริการส่งต่อเฉพาะด้าน” ระบบบัตรทอง ให้บริการเชิงรุกประชากรกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อเอชไอวีในชุมชน เลขาธิการ สปสช. ระบุเป็นนวัตกรรมหน่วยบริการในระบบ เพิ่มการเข้าถึงบริการ

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับยื่นหนังสือจากผู้แทนจาก 16 องค์กรภาคประชาสังคมที่ให้บริการด้านเอชไอวีที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐานการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการส่งต่อเฉพาะด้านในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง

พร้อมขอแนวทางในการดำเนินงาน นับเป็นก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ในการขยายบริการสุขภาพโดยส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนร่วมเป็นผู้ร่วมจัดบริการ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทยภายในปี 2573 นี้ 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ผู้ที่มายื่นหนังสือในวันนี้ คือตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเอชไอวี/เอดส์จำนวน 16 องค์กร เพื่อขอขึ้นทะเบียนร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านในระบบบัตรทอง

โดยเป็นการดำเนินการที่สืบเนื่องตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบให้องค์กรฯ ที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐานการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนโดยกรมควบคุมโรค เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อร่วมบริการประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้เกิดการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น พร้อมรับค่าบริการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

องค์กรด้านเอชไอวี ยื่นเป็นหน่วยบริการดูแลผู้ป่วยในชุมชน

ทั้งนี้ การที่ต้องมีหน่วยบริการในรูปแบบนี้เพิ่มเติมเนื่องจากมองว่า จะเป็นส่วนที่เข้ามาช่วยเสริมการให้บริการหน่วยบริการที่มีอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะการทำงานเชิงรุกในชุมชน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 

ทั้ง 16 องค์กรภาคประชาสังคมฯ ที่มาขอยื่นจดทะเบียนเป็นหน่วยบริการในวันนี้ ที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ผลงานการทำงานมาในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นปีนี้ สปสช.จึงเปิดให้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการฯ ในระบบ พร้อมจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการบริการ        

การที่องค์กรภาคประชาสังคมฯ เข้ามาเป็นหน่วยบริการบัตรทอง ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของหน่วยบริการในระบบและนำไปสู่ความยั่งยืนการดูแล ไม่ใช่เฉพาะด้านงบประมาณเท่านั้น แต่เป็นความยั่งยืนด้านการจัดบริการ รวมถึงกลไกในการดูแลประชาชนเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง โดยในวันนี้เป็นเพียงแค่ 16 องค์กรฯ นำร่อง ซึ่งหากมีองค์กรที่กรมควบคุมโรคให้การรับรองเพิ่มเติมก็ยินดี เพราะในระบบยังต้องการหน่วยบริการเพื่อร่วมบริการอีกจำนวนมาก” นพ.จเด็จ กล่าว

ด้าน น.ส.สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้แทน 16 องค์กรภาคประชาสังคม ที่ให้บริการด้านเอชไอวี กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือระหว่างองค์ภาคประชาสังคมที่ให้บริการด้านเอชไอวีและ สปสช. ในการเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการระบบบัตรทอง ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมฯ เรามีความพร้อมที่จะทำงานนี้อยู่แล้ว และเป็นโอกาสที่ดีที่ สปสช. มองเห็นศักยภาพพวกเรา ถือเป็นก้าวสำคัญและคาดหวังว่าจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืนเพื่อดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มเปราะบาง

 

  • เปิดรายชื่อ16องค์กรด้านเอสไอวีนำร่อง

อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังเป็นเพียง 16 องค์กรภาคประชาสังคมฯ นำร่องเท่านั้น อาจยังไม่ครอบคลุมการดูแลทั่วประเทศซึ่งเรายังมีองค์กรภาคประชาสังคมฯ ที่กระจายอยู่จังหวัดต่างๆ หากได้รับการรับรองจากกรมควบคุมโรคก็จะสมัครเข้ามาเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองเพิ่มเติมอีก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการดูแลที่ทั่วถึงในชุมชนต่างๆ และอาจทำให้การยุติปัญหาเอดส์บรรลุเป้าหมายเร็วขึ้นได้

“เราเป็นหน่วยบริการรูปแบบหนึ่งที่เข้ามาร่วมบริการเพื่อปิดช่องว่างบริการที่หน่วยงานภาครัฐยังเข้าไม่ถึงเพราะด้วยเป็นประเด็นมีความซับซ้อน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานภาครัฐทำงานไม่ดี แต่ด้วยวิธีการทำงานที่มีความแตกต่าง ทั้งอยู่ใกล้ชิดในชุมชนที่ทำให้เกิดความไว้วางใจกันซึ่งกันและกัน โดยเรามั่นใจว่าสามารถเข้าถึงและให้บริการกลุ่มเป้าหมายได้แน่นอน” ผู้แทน 16 องค์กรภาคประชาสังคมฯ กล่าว 

สำหรับ 16 องค์ภาคประชาสังคมที่ให้บริการด้านเอดส์ฯ มีดังนี้ 1.สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดชลบุรี 2.มูลนิธิซิสเตอร์ พัทยา จังหวัดชลบุรี 3.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ จังหวัดชลบุรี 4.คามิลเลียน โซเชียลเซนเตอร์ จังหวัดระยอง 5.มูลนิธิเอ็มเฟรนด์ จังหวัดอุดรธานี 6.มูลนิธิมูลนิธิเอ็มพลัส จังหวัดเชียงใหม่ 7.สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูมิภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดขอนแก่น 

8.กลุ่มแอ็คทีมจังหวัดขอนแก่น 9.สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดสงขลา 10.สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยกรุงเทพมหานคร 11.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ กรุงเทพมหานคร 12.มูลนิธิเอ็มพลัส จังหวัดเชียงราย 13.องค์กรแคร์แมท จังหวัดเชียงใหม่ 14.มูลนิธิเอ็มพลัส จังหวัดพิษณุโลก 15.สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี และ 16.มูลนิธิซิสเตอร์ ศูนย์ระยอง จังหวัดระยอง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติhttps://www.facebook.com/NHSO.Thailand