ไขข้อสงสัย "แพ้วัคซีนโควิด-19" ตั้งแต่ 4 ก.ค. 65 ได้รับเยียวยาหรือไม่

ไขข้อสงสัย "แพ้วัคซีนโควิด-19" ตั้งแต่ 4 ก.ค. 65 ได้รับเยียวยาหรือไม่

สปสช.แจ้งประชาชนฉีด "วัคซีนโควิด-19" ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่ 4 ก.ค. 65 สปสช.ช่วยเหลือเบื้องต้นเฉพาะผู้มี "สิทธิบัตรทอง" ขณะที่ประชาชนที่มีสิทธิอื่น ให้ยื่นหน่วยงานดูแลสิทธิการรักษา

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับวัคซีนที่ประชาชนได้รับการฉีดฟรีทุกสิทธิการรักษา ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดย สปสช.ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 และมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 5 เมษายน 2564 นั้น   

 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลดความรุนแรงลง และเตรียมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ได้ปรับหลักเกณฑ์ แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 ตามแผนปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น พร้อมกำหนดให้บริการกรณีโควิด-19 ซึ่งรวมถึง “กรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19” ให้เบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในหมวดรายการที่เกี่ยวข้อง จากเดิม

 

เป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณ พ.ร.ก.กู้เงินฯ และจำกัดการดูแลเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง จากเดิมที่เป็นการดูแลครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิการรักษา

“ผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ในกรณีที่แพ้วัคซีน สปสช.จะดูแลเฉพาะผู้ใช้สิทธิบัตรทองเท่านั้น สำหรับผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นสิทธิรักษาพยาบาลอื่น ให้ยื่นเรื่องกับหน่วยงานตามสิทธิรักษาพยาบาลของตนเอง เช่น กรณีผู้ประกันตน ให้ยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคม ฯลฯ ซึ่งจะได้รับการดูแลช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์สิทธินั้นๆ”  

 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในกรณีที่มีผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งฉีดวัคซีนโควิดตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา และได้ยื่นคำร้องมายัง สปสช. ก่อนหน้านี้แล้ว ทาง สปสช.จะรวมรวมคำร้องทั้งหมดนี้ และส่งต่อให้กับหน่วยงานที่ดูแลสิทธิการรักษาพยาบาลของท่าน อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า การดำเนินการนี้ สปสช. ได้เปลี่ยนแปลงการดำเนินการที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการปรับเป็นโรคประจำถิ่น 

 

ไขข้อสงสัย \"แพ้วัคซีนโควิด-19\" ตั้งแต่ 4 ก.ค. 65 ได้รับเยียวยาหรือไม่

ทั้งนี้ จากข้อมูลถึงปัจจุบัน (9 ก.ย. 65) มีประชาชนยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือฯ ทั่วประเทศจำนวน 21,139 ราย

  • เป็นผู้มีสิทธิบัตรทองมากที่สุด 12,065 ราย
  • รองลงมาสิทธิประกันสังคม 4,691 ราย
  • สิทธิสวัสดิการข้าราชการ 3,910 ราย
  • สิทธิข้าราชการท้องถิ่น 330 ราย
  • ยังมีคำร้องที่เป็นสิทธิรักษาพยาบาลอื่น ทั้งนี้มีจำนวนผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์รับการช่วยเหลือฯ 17,559 ราย
  • อยู่ระหว่างรอการพิจารณา 406 ราย

 

ในจำนวนผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือฯ แยกเป็น

  • กรณีเสียชีวิตทุพพลภาพ 4,441 ราย
  • พิการหรือสูญเสียอวัยวะ 505 ราย
  • บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 11,331 ราย
  • รวมเป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 2,083,680,900 บาท 

 

“ในช่วง 17 เดือนที่ผ่านมา ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยข้อมูลล่าสุด (8 ก.ย. 65) ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิดแล้วจำนวน 142.93 ล้านโดส ให้กับประชาชนจำนวน 31.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ผู้มีแพ้วัคซีนโควิดและได้รับการช่วยเหลือจำนวน 17,559 คน คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน” โฆษก สปสช. กล่าว 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ