4 กลุ่มโรคต้องรู้ "หน้าฝน" ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ปลอดภัย ปลอดโรค

4 กลุ่มโรคต้องรู้  "หน้าฝน" ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ปลอดภัย ปลอดโรค

"หน้าฝน" สิ่งที่ต้องระวังนอกจากสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด หรือ โรคที่มียุงลายเป็นพาหะแล้ว ยังต้องระวังเมื่อต้องเจอกับน้ำท่วมขัง และอันตรายอื่นๆ ที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์มีพิษ และเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ดังนั้น เราจะระวังตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยและปลอดโรค

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ ฤดูฝน ทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ การดูแลสุขภาพในช่วงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะอาจเป็นหวัด ไอ เจ็บคอ ได้ง่าย อีกทั้ง น้ำท่วมขัง ในบางพื้นที่ ยังมีสิ่งที่พึงระวังโดยเฉพาะสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ หรือเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค รวมถึงโรคอื่นๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะ 

 

4 กลุ่มโรค ภัยสุขภาพ "หน้าฝน"

 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แบ่งโรคและภัยสุขภาพที่มากับหน้าฝนเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 

กลุ่มที่ 1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ

โรคไข้หวัดใหญ่

  • ติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อร่วมกัน
  • จะมีอาการไข้ ไอแห้งๆ ปวดศีรษะ เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ

โรคปอดอักเสบ

  • เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส จากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูกเข้าไป จะมีไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย
  • พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะมีอาการรุนแรงในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโรคประจำตัว

“โดยทั้งสองโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถป้องกันโรคโควิด 19 ได้อีกด้วย”

 

กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อจากการสัมผัส

โรคมือ เท้า ปาก

  • พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
  • จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใสของผู้ป่วย
  • จะมีไข้ มีตุ่มพองใสหรือแผลในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือก้น
  • ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายเองได้

ขอให้ผู้ปกครองและครูสังเกตอาการป่วยของเด็ก หากมีอาการสงสัยป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติและรีบไปพบแพทย์ พร้อมทั้งให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี

โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู

  • พบบ่อยในผู้มีอาชีพเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำอยู่เป็นประจำ
  • จะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อน่อง
  • การป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำลุยโคลนเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้ง

 

กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อนำโดยยุงลาย

โรคไข้เลือดออก

  • มียุงลายเป็นพาหะนำโรค
  • จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีจุดแดงที่ผิวหนัง
  • หากอาการรุนแรงอาจช็อกได้

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา

  • มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค
  • อาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกและเสียชีวิต

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา

  • มียุงลายเป็นพาหะ
  • อาการโรคจะไม่รุนแรง
  • แต่หากติดเชื้อในสตรีมีครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะศีรษะเล็กในเด็กแรกเกิด
  • เด็กมีพัฒนาการช้าและตัวเล็ก หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

 

"การป้องกัน ขอให้ประชาชนสำรวจพื้นที่ที่มีน้ำขังและร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน โดยใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เก็บบ้านให้สะอาด เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้ง 3 โรค"

 

กลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพ

การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า

  • เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนองให้หลบในที่ปลอดภัย เช่น ภายในบ้านหรืออาคาร และหลีกเลี่ยงอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่

อันตรายจากการกินเห็ดพิษ

  • หากไม่มั่นใจว่าเป็นเห็ดพิษหรือเห็ดที่รับประทานได้ ไม่ควรนำมารับประทาน
  • หรืออาจเลือกรับประทานเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง

อันตรายจากการถูกงูพิษกัด

  • เมื่อมีฝนตกน้ำท่วมขัง สัตว์เลื้อยคลานและงูมีพิษ อาจมาอาศัยอยู่ในมุมอับของบ้าน
  • ควรจัดบ้านให้สะอาด
  • หากถูกงูพิษกัด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • ลดการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกงูกัด
  • ควรขันชะเนาะ อาจทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดเกิดเนื้อตายได้
  • พร้อมทั้งจดจำลักษณะชนิดของงูที่กัด เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว

 

พกร่ม - หลีกเลี่ยงน้ำท่วมขัง

 

สำหรับในช่วงนี้ที่มีฝนตกเป็นประจำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้พกร่ม เสื้อกันฝน เพื่อป้องกันไม่ให้เปียกชื้น

หากร่างกายเปียกฝน

  • ควรเตรียมเสื้อผ้าไว้ผลัดเปลี่ยน จะช่วยให้ไม่ต้องอยู่ในสภาพเปียกชื้นนาน ๆ เพราะอาจทำให้ร่างกายหนาว สั่น เป็นตะคริว หรือเป็นหวัด ไอ จาม และมีไข้ได้

พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง และจำเป็นต้องลุยน้ำ

  • ไม่ควรย่ำน้ำที่ท่วมขังด้วยเท้าเปล่า
  • ควรสวมรองเท้าบูทเพื่อป้องกันอันตรายจากของมีคม สัตว์มีพิษ หรือเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำนั้นได้ นำมาซึ่งอหิวาตกโรค โรคมือเท้าเปื่อย
  • อีกทั้ง ควรล้างมือและเท้าให้สะอาดทุกครั้งเมื่อเข้าบ้าน
  • หากพบว่าตนเองมีบาดแผล ให้ปิดแผลด้วยพาสเตอร์ยากันน้ำ

น้ำท่วมขังกระเด็นเข้าตาทำอย่างไร

  • อย่าขยี้ตา แต่ให้รีบล้างตา
  • ล้างมือด้วยน้ำสะอาด
  • หากสัมผัสน้ำท่วมขัง ไม่นำมือสัมผัสดวงตาโดยเด็ดขาด

 

ผักผลไม้เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย

 

สำหรับ ผักผลไม้ สมุนไพร ที่กรมอนามัย แนะนำ เช่น พริกหวาน บรอคโคลี กะเพรา กระเทียม หอมแดง หอมใหญ่ ตะไคร้ มะนาว ขิง ขมิ้น เป็นต้น พืชผักสมุนไพรเหล่านี้มีสารอาหารมากมายที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

 

ให้กินผลไม้เป็นประจำ โดยเฉพาะผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เช่น มะละกอ ส้มเขียวหวาน ส้มโอ สตรอว์เบอร์รี ฝรั่ง เงาะ ลิ้นจี่ เป็นต้น จะช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

 

ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

 

ช่วงฤดูฝนจะมีทั้งฝนและความชื้น แต่อากาศก็ยังร้อน ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อไปไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้น ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ การดื่มน้ำเยอะ ๆ จะรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ และเพื่อป้องกันร่างกายสูญเสียน้ำจากการที่เหงื่อออกมากจนเกินไป

 

เพราะโดยปกติแล้วร่างกายของเราจะสูญเสียน้ำประมาณร้อยละ 4 ของน้ำหนักร่างกาย ทั้งจากการที่เหงื่อออกและการขับปัสสาวะ อีกทั้งร่างกายจะมีภาวะขาดน้ำต่อเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำไปประมาณร้อยละ 1 ของน้ำหนักตัว ซึ่งหากเหงื่อออกมากและรู้สึกไม่อยากดื่มน้ำ ให้ค่อย ๆ จิบน้ำทีละนิดเพื่อช่วยลดปัญหาร่างกายขาดน้ำได้

 

ทั้งนี้ หากจะนำน้ำฝนไปใช้บริโภค ควรนำมากรองให้สะอาด และต้องผ่าน การต้มสุก เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มากับความชื้นในหน้าฝน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร อุจจาระร่วง หรือท้องเสียอย่างรุนแรงได้