วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก แนวทางป้องกันกลุ่มวัยแรงงาน-ผู้สูงอายุ

วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก  แนวทางป้องกันกลุ่มวัยแรงงาน-ผู้สูงอายุ

วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก อัตราฆ่าตัวตายสำเร็จคนไทย  ปี 64  อยู่ที่ 7.38 ต่อแสนประชากรต่อปี   คาดหลังโควิด-19น่าจะยังยาวต่อเนื่องอีกราว 3-4ปี ชี้อีก 10-20ปีปัญหาสุขภาพจิตจะพุ่งเป็นอันดับ 1 มุ่งใช้พลังสังคม-ชุมชนร่วมสร้างพลังใจ เกิดอาสาสร้างสุข-อาสาสุขภาพจิตชุมชน

  เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีโต๊ะกลมเสวนาออนไลน์ “พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย” เพื่อกระตุกสังคมไทยให้ความสำคัญและร่วมแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย เนื่องในวัน “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (World Suicide Prevention Day) 10 กันยายน

       นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต  กล่าวว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประเทศไทยปี 2564 อยู่ที่ 7.38 ต่อแสนประชากรต่อปี ส่วนปี 2563 อยู่ที่ 7.35 ต่อแสนประชากรต่อปี แต่หากเป็นปีก่อนหน้าจะเกิดการระบาดโควิด-19 จะอยู่ที่ 6.4 ต่อแสนประชากรต่อปี กระโดดขึ้นมาราว 10-15 % โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาจะอยู่ในช่วง 6-6.5 ต่อแสนประชากรต่อปี  ขณะที่ช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งจะสูงมาก อยู่ที่8.12 ต่อแสนประชากรต่อปี และยาวต่อเนื่องอีก 4-5ปีหลังจากนั้น เพราะฉะนั้น หลังวิกฤตการระบาดโควิด-19 อัตราการฆ่าตัวตายในปัจจุบันยังไม่แน่ว่าจะถึงจุดสูงสุดหรือยัง หรือจะยังสูงขึ้นอีกหรือไม่ แต่จะใช้เวลาอีก3-4ปี ถึงจะกลับมาอยู่ในระดับ6-6.5ต่อแสนประชากรต่อปี 

        ปัญหาสุขภาพจิตที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายมีหลากหลายสาเหตุ ถ้าดูรายละเอียดผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ใน 100 คน พบว่า  อันดับ 1 หรือราว 50   % เป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทั้งความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ความสัมพันธ์ในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน หรือในโรงเรียน  ส่วนตามมาเป็นเรื่องการมีโรคประจำตัวทั้งโรคทางกายที่รักษาไม่หาย ทำให้รู้สึกไม่มีคุณค่าที่จะมีชีวิตอยู่และโรคทางจิต  ตามด้วยปัญหาการใช้สุราและสารเสพติด โดยในผู้เสียชีวิตยจากการฆ่าตัวตาย พบว่า 10-20 % จะตรวจพบสารเสพติดอย่างใดอย่างหนึ่งในเลือด  และปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ

     “คนป่วยโรคซึมเศร้ามีอัตราสูงกว่าคนทั่วไป 10-20 เท่า แต่ไม่ใช่โรคทางจิตอย่างเดียว เพราะคนทั่วไปที่มีปัญหาสุขภาพทางกาย ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ การใช้สารเสพติด ก็เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย โดยในเรื่องปัญหาสุขภาพกายที่นำไปสู่การคิดจบชีวิต ส่วนใหญ่เกิดในผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้เกิดขึ้น จากข้อมูลพบว่า 90% เกิดจาก 2 ปัจจัยขึ้นไป ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีโรคทางกาย หากมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี มีลูกหลานดูแลเอาใจใส่ ให้กำลังใจ ไม่ด้อยค่า ก็จะใช้ชีวิตดีมีความสุข ทั้งนี้ เชื่อว่าอีกราว 10-20 ปีข้างหน้า ปัญหาสุขภาพจิตจะพุ่งแซงหน้าทุกโรคแม้แต่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นอันดับ 1 ”นพ.วรตม์กล่าว

     นพ.วรตม์ กล่าวอีกว่า นวัตกรรมหนึ่งที่กรมสุขภาพจิตนำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย คือ   HOPE Task Force ซึ่งเป็นที่มปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย ใช้งบประมาณ 0 บาท  โดยความร่วมมือกันของ 3 ส่วน คือ เฟซบุ๊คเพจในโซเชียลมีเดีย กรมสุขภาพจิต และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากที่กรมสุขภาพจิตเพียงอย่างเดียวมีใจ  และมีปากที่จะสื่อสาร แต่ขาดตาและมือ จึงใช้เครือข่ายโซเชียลมีเดียในการเป็นตา  หากพบเห็นเพื่อนหรือใครโพสต์ที่ส่งสัญญาณถึงการฆ่าตัวตายในโซเชียลมีเดีย  ก็แจ้งประสานมาที่กรม จะมีการโทรศัพท์ไปยังบุคคลนั้นเพื่อสื่อสารประวิงเวลาไว้ก่อน ขณะเดียวกันก็จะประสานไปยังตำรวจในพื้นที่ที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้ไปยังสถานที่ที่บุคคลนั้น  ดำเนินการมา 2-3 ปีสามารถช่วยรักษาชีวิตไว้ได้กว่า 400 คน

      ขณะที่การจัดการปัญหาระดับพื้นที่ โดยชุมชน  อบต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ จันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจิตเวชใน ต.ผักไหม จะมีไม่มากประมาณ 20 กว่าคน ต่อประชากร 7,160 คน โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่แพทย์วินิจฉัยและญาติเห็นด้วย 7-8 คน และที่แพทย์วินิจฉัยแต่ตัวผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยไม่ยอมรับ 10 กว่าคน แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีชาวบ้านฆ่าตัวตายในปี 2562 และ 2564 รวม 2 คน ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคจิตเวชแต่ไม่แสดงอาการ เป็นจุดที่ทาง อบต.ผักไหมหันมาให้ความสำคัญและทำงานเชิงรุกมากกว่าเดิม

           ผ่านการร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนในตำบล “เราไม่เคยคาดคิดว่าคนปกติธรรมดาอยู่ ๆ จะลุกขึ้นมาฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นวัยแรงงานในชุมชน และภายนอกดูเป็นคนอัธยาศัยดีมีน้ำใจ แต่พอทราบสาเหตุการฆ่าตัวตายว่ามาจากความน้อยเนื้อต่ำใจในครอบครัว ก็ทำให้คิดว่าการบวกปัญหาจิตเวชเข้าไปในกลุ่มเปราะบางที่ต้องดูแลตั้งแต่ปี 2560 นั้นไม่เพียงพอ ทำให้การทำงานของเราและชุมชนเปลี่ยนเป็นเชิงรุกและอาศัยความร่วมมือสูง โดยดึงเรื่องเข้าเวทีประชาคมตำบลกับคณะกรรมการ สปสช.ระดับตำบล ให้เพิ่มเรื่องจิตเวชเข้าไปแม้จะไม่มีค่าตอบแทนให้ และเรียกทีม Long Term Care อสม. สภาผู้นำชุมชน รพ.สต.ในพื้นที่ กระทั่งเจ้าหน้าที่ อบต.ทุกคนที่ส่วนมากเป็นคนในพื้นที่ เข้ามาสแกน เสริมกำลัง ดูแลคนและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งหมดในแบบรายหมู่บ้าน มีการเก็บฐานข้อมูลที่ละเอียดแม่นยำ รวมถึงเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เพิ่มเติม และปี 2564-2565 ได้ มสช. และ สสส. เข้ามาช่วยกระตุ้น ยิ่งทำให้ชุมชนหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง จากเดิมที่มองเป็นปัญหาธรรมดาก็กลายเป็นเข้าใจสาเหตุ รู้ปัญหา รู้โทษ และใส่ใจปัญหาสุขภาพจิต

โดยมีการอบรมอาสานักสุขภาพจิตชุมชน  หมู่บ้านละ 2 คน  ทำหน้าที่ในการเสริมพลังใจให้กับผู้สูงอายุ  การยกย่อง การเข้าไปสร้างความผูกพัน เป็นต้น ซึ่งผู้สูงอายุบางท่านถึงกับร้องไห้ และบอกว่า “ลูกหลานยังไม่เคยใส่ใจขนาดนี้” และจะมีการทำงานต่อเนื่องโดยอบต.ได้ตั้งงบประมาณรองรับการดำเนินงานแล้ว 

    สำหรับกลุ่มวัยแรงงาน  อรพิน วิมลภูษิต สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  บอกว่า การทำงานมุ่งเน้นในคนที่ยังไม่ป่วยก่อนซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย  โจทย์ของแรงงานช่วง 3 ปีที่ผ่าน  มา  คือ 1.การเผชิญกับภาวะดิสรัปชั่น  แรงงานได้รับผลกระทบจากการเลย์ออฟ หรือเปลี่ยนถ่ายโยกย้ายการทำงาน  ส่งผลต่อความเครียดความกังวล บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตาย  แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเพราะเป็นความลับบริษัท  และ2.ความเปราะบางของแรงงาน โดยเฉพาะแรงานนอกระบบ โอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์น้อย เพราะส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับรายได้ และย้ายไปทำงานตามที่ต่างๆ  ส่งผลครอบครัวแตกแยกตามไปด้วย ลูกอยู่กับตายาย หรือไม่มีใครเลี้ยงลูก ความกังวล ครียดเรื่องลูกก็จะตามมา  

       โจทย์ใหญ่เรื่องการฆ่าตัวตายของแรงงานอกระบบ มาจากปัญหาหลักคือการเงินและรายได้ ไม่เพียงพอ เป็นเรื่องความเครียด และบางทีขั้นฆ่าตัวตายเลยไม่ซึมศร้า ทำให้ครอบครัวแตกแยก

และความวิตกกังวลช่วงโควิดว่าจะได้ทำงานต่อหรือถูกเลิกจ้างหรือไม่ บางทีกลายเป็นไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะกังวลไปหมด ซึ่งการเข้าถึงระบบริการสุขภาพจิต เป็นเรื่องยากของวัยแรงงานเพราะทำงาน และไม่กล้าไปพบแพทย์ 

      สิ่งที่สมาคมฯได้เข้าไปดำเนินการเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย คือ การมุ่งโครงการไปที่ชุมชนและโรงงานซึ่งมีอาสาสมัครกลุ่มต่างๆมากมาย เข้าเติมอาวุธ ศักยภาพ ความรอบรู้สุขภาพจิต สุขภากายเข้าไป สร้างภูมิคุ้มกันปกป้องตนเอง  เป็นกลไกสำคัญในการเป็นผู้ให้คำปรึกษาชุมชน ให้เป็นอาสาสร้างสุขชุมชน  เป็นที่ปรึกษาชุมชน เป็นหมอสุข มีทักษะในเรื่องของการให้คำปรึกษา ทำหน้าที่สร้างสัมพันธภาพ และพื้นที่ปลอดภัยร่วม