4 ปัญหาสุขภาพ "ผู้สูงวัย" เลือกอาหารอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยง

4 ปัญหาสุขภาพ "ผู้สูงวัย" เลือกอาหารอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยง

การก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่พบไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสุขภาพช่องปากส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร ปัญหาการกลืน ภาวะขาดสารอาหาร และภาวะสมองเสื่อม ส่งผลต่อการใช้ชีวิต การเลือกอาหารที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการลดความเสี่ยงได้

ในปี 2564 ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete aged society) ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 และในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super aged society) ที่ผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงถึง ร้อยละ 28 

 

ปัญหาสำคัญที่มาพร้อม สังคมสูงอายุ คือ สุขภาพ นอกจากโรงต่างๆ ที่พบเจอแล้ว ยังมีปัญหาบดเคี้ยว จากการสูญเสียฟัน การกลืนอาหาร ที่อาจก่อให้เกิดการสำลัก อาหารติดคอ ขณะเดียวกัน การกินอาหารที่ลดลงทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ทำให้ผู้สูงวัยเสี่ยงภาวะขาดสารอาหารและภาวะโลหิตจาง รวมถึงภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย ดังนั้น โภชนาการ การเลือกอาหาร จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงปัญหาดังกล่าว 

 

1. ปัญหาบดเคี้ยว ของผู้สูงวัย

ข้อมูลจาก กรมอนามัย พบว่า สุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่มักพบบ่อย คือ การสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ส่วนหนึ่งสูญเสียฟันทั้งปาก และมากกว่าครึ่งของผู้สูงอายุที่มีฟัน พบโรคในช่องปากที่ไม่ได้รับการรักษาและมีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น

- ปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่พบบ่อย พบว่า

  • ร้อยละ 52.6 เป็นโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา
  • ร้อยละ 36.3 เป็นโรคปริทันต์
  • ร้อยละ 16.5 เป็นรากฟันผุ

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สูงอายุ ร้อยละ 18 ต้องการใส่ฟันเทียมบางส่วน ร้อยละ 6.5 ต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปาก และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็นร้อยละ 18.9

 

ในผู้สูงอายุ 80-85 ปี ซึ่งจากผลการสำรวจสภาวะทันตสาธารณสุข ในปี 2560 พบว่า ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่มีการสูญเสียฟันสูงที่สุด พบค่า เฉลี่ยฟันแท้ที่มีในช่องปากประมาณ 19 ซี่/คน และผู้สูงอายุกว่า ร้อยละ 60 เหลือฟันใช้งานไม่ถึง 20 ซี่

ดังนั้น การส่งเสริมให้คนไทยดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยสูงอายุจะช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากได้ โดยควรลดกินอาหารหวาน เหนียว เนื่องจากอาหารประเภทนี้จะเกาะติดผิวฟันเป็นเวลานาน ทำความสะอาดยาก เสี่ยงเกิดฟันผุและควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง เพราะอาจทำให้ฟันแตกขณะเคี้ยวได้ เน้นกินผักผลไม้ที่มีกากใย

 

2. สูงวัยกับปัญหาการกลืน

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งปัญหาของผู้สูงอายุ คือ การกลืนอาหาร ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพและระบบการทำงาน  ต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งการกลืนอาหารด้วย ปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผู้สูงอายุประสบปัญหาในการ  กลืนอาหาร เริ่มตั้งแต่ในช่องปาก

 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย อธิบายว่า ผู้สูงอายุมักมีภาวะปากแห้ง จึงขาดน้ำลายในการปั้นอาหารเป็นก้อน แนะนำให้กินวุ้นชุ่มปาก ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามได้ที่มูลนิธิทันตนวัตกรรม อีกทั้งฟันหรือกำลังของการบดเคี้ยวลดลง ทำให้ผู้สูงอายุต้องใช้เวลาบดเคี้ยวอาหารเพิ่มนานยิ่งขึ้น การทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลงเช่นกันทำให้ต้องกลืนอาหารหลายครั้งกว่าปกติ เสี่ยงต่อการสำลักอาหาร

 

ขณะเดียวกัน ฝาปิดกล่องเสียงที่ป้องกันการไหลของอาหารลงสู่หลอดลมของผู้สูงอายุปิดช้ากว่าคนหนุ่มสาว ร่วมกับหูรูดหลอดอาหารเปิดรับอาหารสั้นลง ส่งผลให้อาหารอยู่ในคอหอยนานขึ้นและมีโอกาสเหลือค้างมากกว่าปกติ ประกอบกับการหยุดหายใจของผู้สูงอายุขณะกลืนจะต้องใช้เวลานานขึ้น จึงทำให้โอกาสที่จะเกิดการสำลักในขณะกลืนอาหารมีมากขึ้นตามไปด้วย

- การปฎิบัติป้องกันการติดคอ

ผู้สูงอายุต้องใส่ใจเรื่องการกินอาหารให้ปลอดภัย หรือลูกหลานควรดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอาหารติดคอหรือสำลักอาหาร โดยมีวิธีการปฏิบัติดังนี้

1) นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร และหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที

2) เคี้ยวและกลืนอาหารช้า ๆ อย่างตั้งใจ ให้เวลากับมื้ออาหารอย่างเพียงพอ

3) อย่ากินอาหารขณะเหนื่อย ควรพักก่อนสัก 30 นาที

4) อาหารที่กินควรมีขนาดชิ้นเล็ก ๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่หรือเหนียวเกินไป                    

5) ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การดูทีวี เพื่อป้องกันการหัวเราะขณะกลืนอาหาร

6) กินอาหารคำละ 1 ชนิด เนื่องจากอาหารที่มีเนื้อหลากหลายชนิดใน 1 คำจะสำลักง่าย 

7) หลีกเลี่ยงการกินอาหารแห้งหรือแฉะเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปปริมาณพอเหมาะ ช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น

 

3. อายุยิ่งมาก ยิ่งเสี่ยงภาวะขาดสารอาหาร

จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พ.ศ. 2557 พบว่า ผู้สูงอายุยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งกินผักและผลไม้ในปริมาณที่เพียงพอ (400 กรัมหรือ 5 ส่วนต่อวัน) ลดลง โดยพบว่า

  • ผู้สูงอายุ 60-69 ปี กินผักและผลไม้ในปริมาณ ที่เพียงพอ ร้อยละ 24.2
  • ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 70-79 ปี ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 17.7
  • และกินลดลงต่ำสุดในผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปเพียงร้อยละ 11.4 รวม

 

ทั้งยังกินเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และนมน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ทำให้ได้รับพลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซี เป็นผลให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารและภาวะโลหิตจางเพิ่มขึ้น

 

- 12 เทคนิค จัดอาหารสำหรับสูงวัย

​การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการกินอาหารที่เหมาะสมตามวัยและ มีความรอบรู้ด้านโภชนาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งกรมอนามัยได้จัดทำคำแนะนำ 12 เทคนิคจัดอาหารที่เหมาะสม สำหรับผู้สูงอายุ ดังนี้

1) จัดอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม คือ ข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์นม โดยจัดให้หลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม

2) เลือกข้าวไม่ขัดสีเป็นหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน วุ้นเส้น เป็นต้น

3) เลือกปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้ง มาปรุงประกอบอาหารเป็นประจำ

4) จัดเมนูผักให้มีความหลากหลายสี และสลับชนิดกันไป

5) จัดผลไม้รสไม่หวานจัด วันละ 1-3 ส่วน (ผลไม้ 1 ส่วน ประมาณ 6-8 ชิ้นพอดีคำ) 6) จัดนมรสจืด วันละ 1-2 แก้ว และจัดอาหารแหล่งแคลเซียม เช่น ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง

7) หั่นอาหารเป็นชิ้นขนาดเล็ก ทำให้อ่อนนุ่มด้วยการต้ม นึ่ง ลวก เพื่อง่ายต่อการเคี้ยวและย่อย

8) กรณีที่กินมื้อหลักได้ไม่เพียงพอ อาจจัดให้กินครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง แบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ วันละ 5-6 มื้อ

9) ลดการปรุงอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม ใช้สมุนไพรในการเพิ่มรสชาติ ลดหรือเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป

10) ปรุงอาหารสุกใหม่ เน้นลวก ต้ม นึ่ง อบ จัดเมนูผัดและแกงกะทิแต่พอควร เลี่ยงอาหารทอด

11) ให้ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก้ว เลี่ยงเครื่องดื่มชา กาแฟ ในช่วงเย็นถึงค่ำ

12) งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง

 

4. ภาวะสมองเสื่อมในสูงวัย

ภาวะสมองเสื่อม ในวัยผู้สูงอายุเป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของการทำงานของสมอง ส่งผลให้ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดหรือจำไม่ได้ มีอาการหลงลืม การใช้ภาษาผิดปกติ และพฤติกรรมรวมถึงอารมณ์เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยผู้สูงอายุมีโอกาสป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้นตามอายุ เช่น อายุมากกว่า 65 ปี อัตราการพบผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ร้อยละ 5-8 อายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไป พบร้อยละ 30 อายุ 90 ปีขึ้นไป พบสูงถึงร้อยละ 50   ซึ่งอัตราการพบโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นเช่นกัน

 

- อาหารที่เหมาะสม ลดเสี่ยงสมองเสื่อม

การเลือกบริโภคอาหารให้เหมาะสม จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมได้ โดยลูกหลานหรือผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุควรใส่ใจดูแล เลือกอาหารที่เหมาะสม ดังนี้

1) กินผักให้มาก โดยเน้นที่ผักใบเขียว เช่น กวางตุ้ง ตำลึง ผักบุ้ง บลอกโคลี่ ผักโขม คะน้า อย่างน้อย 6 ทัพพีต่อสัปดาห์ และผักอื่น ๆ เช่น ผักกาด แครอท มะเขือเทศ พริกหวาน แตงกวา อย่างน้อย 1 ทัพพีต่อวัน

2) กินผลไม้เป็นประจำ โดยเน้นผลไม้ สีแดง สีม่วง เช่น มะม่วงหาวมะนาวโห่ สตรอเบอร์รี

3) กินธัญพืชไม่ขัดสี โฮลเกรน ข้าวกล้อง ลูกเดือยกล้อง ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต

4) กินถั่วเปลือกแข็ง และถั่วเมล็ดแห้ง เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว

5) กินโปรตีนจากปลา และสัตว์ปีก

6) ใช้น้ำมันดี เช่น น้ำมันมะกอก หรือ น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดชา

 

- อาหารพลังงานสูง ควรหลีกเลี่ยง

1) กลุ่มเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ควรกินให้น้อยกว่า 4 ครั้งต่อสัปดาห์

2) เนยและมาการีน น้อยกว่า 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน

3) ชีสต่าง ๆ ไม่เกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์

4) ขนมอบ พาย เบเกอรี่ น้อยกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์

5) อาหารทอด อาหารฟาสต์ฟู้ด น้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์

 

- เมนูอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง 

  • ยำปลาทู
  • ผัดผักบุ้ง
  • ต้มเลือดหมูใบตำลึง
  • ปลากระพงนึ่งเต้าเจี๊ยว
  • แกงส้มผักรวม
  • แกงเลียงกุ้ง
  • น้ำพริกมะขามผักลวก
  • ลาบปลาทับทิม
  • กล้วยบวดชี
  • ลูกเดือยนมสด
  • ถั่วเขียวต้มน้ำตาล
  • ถั่วแดงเย็น เป็นต้น

 

"ทั้งนี้ แม้ว่าการกินอาหารจะไม่ได้ ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากปฏิบัติได้ตามนี้จะส่งดีต่อสมองและสุขภาพของผู้สูงอายุได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว