"กัญชา" ภูมิปัญญาไทย ใช้อย่างไรให้ได้ผลและปลอดภัย

"กัญชา" ภูมิปัญญาไทย ใช้อย่างไรให้ได้ผลและปลอดภัย

“ดร.ต้อม” แม่หมอสมุนไพร เผยเคล็ดลับภูมิปัญญาไทย กิน-ใช้ "กัญชา" อย่างไรให้ได้ผลและปลอดภัย ฟื้นฟูองค์ความรู้ "กัญชา" ใช้ประโยชน์ ใช้เป็น  ช่วยกันระวังเยาวชน

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ได้รับขนานนามว่าเป็นแม่หมอสมุนไพรของเมืองไทย บรรยายหัวข้อ “กัญชาภูมิปัญญาไทย ใช้อย่างไรให้ได้ผลและปลอดภัย ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 19 โดยระบุว่า กัญชา มีสารทางยาถึงกว่า 500 ชนิด คนไทย ใช้กัญชามาแต่โบราณอย่างเชี่ยวชาญ และปลอดภัย เป็นทั้งเครื่องนันทนาการ เป็นยาคน ยาสัตว์ เป็นอาหาร และเป็นเครื่องสำอาง 


ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า คนไทยใช้กัญชาเป็นอาหาร 3 ลักษณะ คือ

1. กินใบสดเป็นผัก มี THCA ซึ่งเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิต่อจิตและประสาท ไม่ทำให้เมา

2.เด็ดยอดอ่อนใส่ผัดเผ็ด ผัดกระเพรา โดยใช้กัญชาร่วมกับใบกระเพรา

3.ใส่น้ำซุปแกงไก่ ก๋วยเตี๋ยว กินแต่น้ำ  ไม่กินส่วนใบกัญชา หนึ่งหม้อควรใส่ 2-3 ใบ ซึ่งสาร THC ถึงแม้จะมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่ ละลายได้น้อยมากในน้ำ และละลายดีในน้ำมัน  

 

ทั้งนี้ คนโบราณไม่นิยมนำดอกมาทำเป็นอาหารเพราะกลิ่นแรง ดังนั้น เราจึงมีอาหารจากกัญชาโดยไม่พากันเมา มีแต่เสียงหัวเราะ ร่าเริง อารมณ์ดี

 

"กัญชา" ภูมิปัญญาไทย ใช้อย่างไรให้ได้ผลและปลอดภัย

ตำรับกัญชา 21 กลุ่ม 

 

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ในแผนไทย ตำรับที่เข้ากัญชาในตำราต่าง ๆ ที่พบมี 21 กลุ่ม คือ

1.กล่อน กษัย

2.แก้ลม

3.แก้ไข้

4.แก้ตานทราง

5.แก้ท้องผูก

6.แก้ท้องเสีย

7.แก้บิด

8.แก้ธาตุพิการ

9.แก้นอนไม่หลับ

10.ยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย

11. แก้เบื่ออาหารเจริญอาหาร

12.แก้ป่วง

13.แก้ปวดเมื่อย

14.แก้มะเร็ง

15.ยาสตรี

16.แก้ริดสีดวง

17.แก้โรคประสาท

18.แก้โรคผิวหนัง

19.แก้สารพัดโรค

20.แก้อัมพาต อัมพฤกษ์  

21. อื่นๆ อันประกอบด้วยลดความดันโลหิต แก้นิ่ว แก้บาดทะยัก แก้ฝีภายใน  แก้มุตตฆาต  ยาอดฝิ่น ยาอายุวัฒนะ ยาขี้ผึ้งปิดแผล ยาแก้เลือดออกตามไรฟัน ยาแก้บวมพองวัณโรค ยาแก้สันนิบาต และยาแก้โรคสำหรับบุรุษ 

 

กัญชาชาวบ้าน รักษาโรค 

 

สำหรับกัญชาของชาวบ้านนั้น ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ชาวบ้านใช้รักษาโรคพื้นฐานที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ประกอบด้วย

  • โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ ปวดศรีษะ ไมเกรน ปวดฟัน ปวดเมื่อย มึนหัว คอตึง หูอื้อ ชาตามตัว
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร  เช่น ท้องร่วง ท้องเสีย อหิวาต์ ถ่ายพยาธิ
  • โรคกระเพาะอาหาร ริดสีดวง
  • ระบบทางเดินหายใจ เช่น แก้หอบหืด  
  • โรคผิวหนัง เช่น ผมร่วง คันศรีษะ สะเก็ดเงิน  
  • อื่น ๆ เช่น ลดความดัน เบาหวาน บำรุงร่างกาย

 

"กัญชา" ภูมิปัญญาไทย ใช้อย่างไรให้ได้ผลและปลอดภัย

“สมัยก่อนชาวบ้านนิยมนำกัญชามาปลูกเพื่อประดับสวนรอบบริเวณบ้าน ให้มีความสวยงามน่าอยู่ เพราะต้นกัญชาเป็นต้นพืชที่มีความสวยงาม อยู่ในตัว เช่น นำมาจัดใส่ชุดสำรับหมาก นอกจากนี้ยังมีนำมารับประทานยามว่างหรือต้อนรับแขกมาเยี่ยมบ้าน หรือนำใบกัญชามาปรุงอาหาร โดยนำใบมาห่อผ้าขาวบางใส่ในน้ำก๋วยเตี๋ยวตำให้ละเอียดใส่ในพริกดอง ต้มไก่ใส่กัญชา นำมาปรุงอาหารทำให้รสชาติดี แต่ต้องใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว  

 

เมากัญชา แก้อย่างไร 

 

ส่วนกรณีหากเกิดอาการเมา ดร.สุภาภรณ์ กล่าวถึงวิธีแก้ว่า ในอดีตการเสพกัญชาเมื่อมีการเมาให้นอนหลับไป ตื่นขึ้นมาก็หายเมา  แต่ถ้าอาการเมาเกิดจากการได้รับเกินขนาด ก็ให้จิบน้ำมะนาวหรืออะไรเปรี้ยว หรือน้ำผลไม้ที่หาได้ กับน้ำผึ้ง น้ำตาล เกลือ หรือรับประทานกล้วยน้ำว้า 2-3 ผล ดื่มน้ำชาข้าวคั่วอุ่น ๆ น้ำผักบุ้งต้มกับน้ำตาลทราย แดง 


“ดังนั้น หากเราฟื้นฟูองค์ความรู้ในการใช้กัญชาให้ รู้จักใช้ประโยชน์ ใช้เป็น  เข้าใจที่มาของการเมาและติด ช่วยกันระวังในเยาวชน จะช่วยสร้างคุณค่าของพืชชนิดนี้ในด้านที่เป็นยาให้มากกว่าต้านเสพติด ไม่น้อยหน้าบรรพชนของเราที่อยู่กับกัญชามาได้หลายร้อยปี ในแผ่นดินนี้” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว

 

"กัญชา" ภูมิปัญญาไทย ใช้อย่างไรให้ได้ผลและปลอดภัย