เส้นทาง 36 ปี “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” เพื่ออนาคตไทยไร้ควันบุหรี่

เส้นทาง 36 ปี “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” เพื่ออนาคตไทยไร้ควันบุหรี่

“ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” นับเป็นบุคคลสำคัญที่ยังคงยืนหยัดต่อสู้ โดยใช้เวลากว่า 36 ปี เพื่อให้อนาคตของไทยปลอดควันบุหรี่ ล่าสุด ได้รับ รางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health 2022 จาก WHO

กว่า 36 ปี ในการยืนกรานต่อต้านยาสูบของ “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” โดยยืนหยัดต่อสู้กับบริษัท ยาสูบ ข้ามชาติ และแรงกดดัน เพื่อทำให้ “สุขภาพเหนือการค้า” ส่งผลให้ไทยคงกฎหมายด้านการโฆษณาและภาษีนำเข้าบุหรี่ และมาตรการอื่นๆ ที่มีการบังคับใช้ให้เกิดขึ้นจริง ใช้ตาข้างหนึ่งมองความเป็นจริงในปัจจุบัน และอีกข้างหนึ่งมองเห็นอนาคตที่ปราศจากควันบุหรี่

 

“ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” ในวัย 78 ปี ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ อดีตคณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะแพทย์ผู้อุทิศตนทำงานภาคประชาชนในการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยใช้เวลากว่า 3 ทศวรรษ ในการอุทิศความรู้ทางวิชาชีพ และปกป้องการสาธารณสุขจากการใช้ยาสูบอย่างเต็มที่ ทั้งยังมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล เป็นผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อควบคุมการใช้ยาสูบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Tobacco Control Alliance : SEATCA) และเป็นสมาชิกคณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านยาสูบหรือสุขภาพขององค์การอนามัยโลก และให้คำปรึกษาองค์กรต่างๆ ทั่วโลก

 

ล่าสุดได้รับรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health 2022 รางวัลดีเด่นด้านการสาธารณสุข ในความระลึกถึง นายแพทย์ ลี จง-วุค ซี่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับ บุคคล กลุ่มบุคคล สถาบัน กลุ่มสถาบัน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นให้กับวงการสาธารณสุข

 

เส้นทาง 36 ปี “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” เพื่ออนาคตไทยไร้ควันบุหรี่

ก้าวแรกสู่การขับเคลื่อน

 

หลังจากในปี 2523 ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นปีรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ครั้งแรก พร้อมกับส่งหนังสือให้รัฐบาลเพื่อเปลี่ยนคำเตือนเล็กๆ ข้างซอง จาก “บุหรี่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ” เป็น “บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่การทำงานยาสูบอย่างไม่เป็นทางการ

 

ศ.นพ.ประกิต เล่าว่า เนื่องจากเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดทำให้มีโอกาสให้ความรู้ประชาชนเรื่องพิษภัยบุหรี่ สู่เส้นทางผลักดันนโยบายยาสูบครั้งแรกโดยไม่รู้ตัว จากการชักชวนของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี รองประธานมูลนิธิหมอชาวบ้านในขณะนั้น ส่วนลึกที่สุด คือ เห็นคนที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ ครอบครัวเดือดร้อน หลายคนอยากเลิกแต่เลิกไม่ได้ หรือคนที่ยังไม่ป่วย 60% อยากเลิก 1 ใน 3 ลงมือเลิก ในจำนวน 10 ล้านคน มี 3 ล้านคน พยายามเลิกในแต่ละปีแต่ออกมาไม่ได้ เป็นแรงกระตุ้นมากที่สุด

 

“ก่อนหน้านี้ยังไม่มีองค์กรที่ทำงานชัดเจน จากเดิมที่ คนไทยสูบบุหรี่กันจำนวนมาก โดยเฉพาะเพศชาย รวมถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมก่อตั้ง “มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” หรือ ASH Thailand ในปี 2529เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวด้านการควบคุมยาสูบ โดยเป็นแกนนำในการให้ความรู้ปลุกจิตสำนึกสาธารณะเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้ยาสูบ ผลักดันนโยบายสาธารณะ และสุดท้าย คือ การสร้างเครือข่าย”
 

เส้นทาง 36 ปี “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” เพื่ออนาคตไทยไร้ควันบุหรี่

สุขภาพเหนือการค้า

 

ศ.นพ.ประกิต ยืนหยัดต่อสู้กับบริษัทยาสูบข้ามชาติระหว่างข้อพิพาททางการค้าที่ 301 ปี 2532 เมื่อผู้แทนการค้าของสหรัฐ พยายามบังคับให้ไทยอนุญาตการนำเข้าบุหรี่ที่ผลิตในต่างประเทศ ภายใต้แรงกดดันท้าทายมากมาย จนในที่สุด The General Agreement on Tariffs and Trade (GATT) ได้ตัดสินใจให้ไทยสามารถคงกฎหมายว่าด้วยการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมทั้งสามารถกำหนดกฎหมายด้านภาษีนำเข้า การเปิดเผยส่วนประกอบบุหรี่ คำเตือนด้านสุขภาพ และมาตรการสำคัญอื่นๆ ที่ไม่เลือกปฏิบัติได้

 

“ไม่มีธุรกิจที่ถูกกฎหมายไหน กำไรดีเท่าบุหรี่” ศ.นพ.ประกิต กล่าว ศัตรูเพียงหนึ่งเดียว คือ บริษัทบุหรี่ นอกนั้นเป็นมิตรทั้งหมดรวมถึงคนสูบบุหรี่ เราไม่แอนตี้คนสูบบุหรี่ แต่แอนตี้บุหรี่ เป็นที่มาว่าทำไม “รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” แต่ไม่ใช้คำว่า “ต่อต้านการสูบบุหรี่” และพยายามเชิญชวนคนสูบบุหรี่เป็นแนวร่วม หากประเทศไทยไม่มีโรงงานยาสูบ ก็ยังต้องสู้กับโรงงานยาสูบต่างประเทศ ปัจจุบัน บริษัทยาสูบใหญ่ๆ ทั่วโลกมีเพียง 3 แห่ง มีงานวิจัยในสหรัฐ ระบุว่า หากวัยรุ่นรู้ว่าเขาเป็นเป้าหมายของบริษัทบุหรี่เขาจะไม่สูบ เพราะบริษัทต้องหานักสูบหน้าใหม่ทดแทนที่หยุดสูบและตายไป

 

เส้นทาง 36 ปี “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” เพื่ออนาคตไทยไร้ควันบุหรี่

 

ประเทศไทย สามารถลดจำนวนผู้สูบลงจาก 30 ปีก่อนที่อัตราสูบบุหรี่อยู่ที่ 32% ปัจจุบันเหลือ 17.4% จากเดิมที่คนสูบ 13-14 มวนต่อวัน ปัจจุบัน เหลือราว 10 มวลต่อวัน อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้ป่วยโรคปอด เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น เพราะประชากรที่สูบบุหรี่มีอายุมากขึ้น คนป่วยเพิ่มจากเมื่อ 20 กว่าปีก่อน จาก 4.2 หมื่นราย เป็น 4.7 หมื่นราย และล่าสุด 5.2 หมื่นคน เพราะเวลาป่วยอายุจะอยู่ที่ราว 35 ปีขึ้นไป ขณะที่ อายุ 40-45 ปีขึ้นไป พบโรคหัวใจ มะเร็งปอด ช่วงอายุ 50 กว่าปี พบถุงลมโป่งพอง และเส้นเลือดสมองราว 60 ปี” ศ.นพ. ประกิต กล่าว

 

ก้าวข้ามอุปสรรค

 

อุปสรรคในการควบคุมยาสูบของทั่วโลก คือ หนึ่ง “การขัดขวางของบริษัทบุหรี่” ทำให้ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมส่วนประกอบ ถัดมา คือ “ขาดความมุ่งมั่นทางการเมือง” ยังไม่เห็นการควบคุมยาสูบเป็นสำคัญในระดับจังหวัด สาม “ขาดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” หลายคนยังมองว่าเป็นหน้าที่ของ กระทรวงสาธารณสุข หรือ สสส. ซึ่งไม่ใช่ และ สี่ “ขาดงบประมาณ” สสส. มีงบประมาณในการรณรงค์ 300 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ สหรัฐฯ ราว 80,000 ล้านบาทต่อปี สหราชอาณาจักร 12,000 ล้านต่อปี

 

 “การก้าวข้ามอุปสรรค คือ ต้องเลือกระหว่างเศรษฐกิจ และ สุขภาพ สุขภาพมีแต่ป่วยกับตาย แต่เศรษฐกิจมีทางเลือกหลายทาง ดังนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าชัดเจนว่าต้องเลือกสุขภาพมากกว่าที่จะไปเลือกผลเศรษฐกิจจากยาสูบ ซึ่งมีทางเลือกอีกหลายทาง”

 

เส้นทาง 36 ปี “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” เพื่ออนาคตไทยไร้ควันบุหรี่

 

สำหรับการสานต่องานให้กับคนรุ่นต่อไป มีการทำงานร่วมกับท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และพันธมิตรเครือข่ายจำนวนมาก ทั้งในระดับสากล ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ก่อตั้งเครือข่าย อาทิ เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อารควบคุมยาสูบ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ Gen Z Gen Strong Network และเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อชุมชนปลอดยาสูบ

 

“การดึงคนมาทำงาน เขาต้องเข้าใจในความสูญเสีย และไม่อยากเห็น คนที่จะทำงานเรื่องบุหรี่ ความอดทนต่อความไม่ชอบธรรมต่ำ ถ้าไม่มีความรู้สึกนี้จะทำงานแบบนี้ไม่ได้ ความรู้สีกนี้เราสอนให้ใครไม่ได้” ศ.นพ.ประกิต กล่าวทิ้งท้าย