ร้านอาหารต้องรู้ หากจะใส่ “กัญชาในอาหาร” ต้องทำให้ถูกหลัก

ร้านอาหารต้องรู้ หากจะใส่ “กัญชาในอาหาร” ต้องทำให้ถูกหลัก

กรมอนามัยออกประกาศ สถานประกอบการ หรือร้านอาหารที่นำกัญชาไปปรุงอาหาร ต้องถูกสุขลักษณะ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยทำตามคำแนะนำต่อไปนี้...

ประเทศไทยเปิด “กัญชาเสรี” ได้เพียง 5 วัน แต่ก็มีเรื่องน่ากังวลจนแพทย์หลายรายออกมาเตือนถึงวิธีการใช้ และข้อเสียของกัญชา ล่าสุด (14 มิ.ย.) สำนักการแพทย์รายงานมีผู้ป่วยจากการใช้กัญชามาแล้ว 3 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่เสพกัญชาแล้วหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต จากการเสพกัญชาเกินขนาด ดังนั้นแล้วไม่ใช่ว่าใครก็สามารถบริโภคกัญชาได้!

นอกจากนี้ ตัวผู้ประกอบการเอง ทางร้านอาหารก็ต้องคำนึงถึงความรู้ของการใช้ “กัญชา” มาปรุงอาหาร ที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย และปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

กรมอนามัยจึงได้ออก ประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปสาระสำคัญไว้ให้แล้ว

  • ต้องมีที่เก็บให้เหมาะสม

สถานประกอบกิจการอาหาร ในประกาศฯ ดังกล่าว หมายรวมถึงตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่ หรือทางสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  ที่จะนำใบกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร เพื่อจำหน่ายในสถานประกอบกิจการอาหารนั้น

กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสียแทน

  • ต้องติดป้ายเตือนให้เหมาะสม

สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ  และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่

1. จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา

2. แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด

3. แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู

4. แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ

5. แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ

“เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”

“หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที”

“ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน”

“อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”

6. ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค 

 

  • อาหารแต่ละประเภทต้องใช้กัญชากี่ใบ 

นอกจากนี้ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย แนะนำการนำใบกัญชามาใช้ในการทำการประกอบ หรือปรุงอาหาร คือ

อาหารประเภททอด : ใช้ใบกัญชา 1-2 ใบสด กรณีทำไข่เจียว แนะนำครึ่งใบ ถึง 1 ใบสด เนื่องจากสาร THC และ CBD ละลายได้ดีในน้ำมัน จะได้รับปริมาณ THC ประมาณ 0.11 มิลลิกรัม

อาหารประเภทผัด : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด จะได้รับปริมาณ THC ประมาณ 0.006 มิลลิกรัม

อาหารประเภทแกง : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด จะได้รับปริมาณ THC ประมาณ 0.02 มิลลิกรัม

อาหารประเภทต้ม : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด จะได้รับปริมาณ THC ประมาณ 0.02 มิลลิกรัม

ผสมในเครื่องดื่ม ขนาด 200 มิลลิลิตร : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด จะได้รับปริมาณ THC ประมาณ 0.003 มิลลิกรัม

กัญชามีสาร THC จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางคือ มีฤทธิ์ต่อสมอง และทำให้ร่างกายอารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ผู้เริ่มกินเมนูกัญชาควรเริ่มในปริมาณน้อย แค่ครึ่งใบ - 1 ใบต่อวันก่อน ทั้งนี้ การตอบสนองของร่างกายเมื่อได้รับกัญชามีความแตกต่างกันแต่ละบุคคล ดังนั้นควรสังเกตอาการตนเองทุกครั้งเมื่อใช้ 1-3 ชั่วโมง โดยให้เน้นใช้เพื่อการแพทย์ในการรักษาโรคเท่านั้น 

 

------------------------------

ที่มา ​: ประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์