เรียนศิลปะด้วยฝ่ามือ

เรียนศิลปะด้วยฝ่ามือ

ผู้บกพร่องทางการมองเห็นกับศิลปะเป็นเหมือนโลกคู่ขนาน แต่วันนี้สื่อการเรียนรู้แบบใหม่จะเชื่อมโลกทั้งสองให้บรรจบกัน

ที่หลังห้องเรียน มักเป็นทำเลของเด็กผู้บกพร่องทางการมองเห็นเมื่อต้องเรียนรวมกับเด็กปกติ ไม่ว่าพวกเขาจะอยากเรียนแค่ไหน แต่ในบางวิชา เช่น ศิลปะ สถานะของเด็กกลุ่มนี้คือผู้ถูกทิ้งไว้กลางทางเสมอ

จะโทษใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เพราะอันที่จริงหลักสูตรการเรียนการสอนก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้เรื่องศิลปะอยู่แล้ว ยังไม่นับค่านิยมผิดๆ ที่คนสอนศิลปะส่วนหนึ่งยึดมั่นถือมั่นว่าศิลปะคือความเหมือน ความงาม ความประณีต แม้แต่เด็กปกติหลายคนยังเบือนหน้าหนีวิชาศิลปะเพียงเพราะพวกเขา ‘วาดไม่เหมือน’ ทั้งที่ความจริงแล้วศิลปะไม่มีถูกไม่มีผิด

พอเป็นเด็กผู้บกพร่องทางการมองเห็นโลกอันมืดมิดปิดโอกาสการรับรู้ว่าศิลปะคืออะไร ผลงานระดับโลกที่เคยได้ยินชื่อนั้นงดงามและมีหน้าตาเป็นอย่างไร พวกเขารับรู้ได้จากคำบอกเล่าเท่านั้น ซึ่งจับต้องไม่ได้ พอถึงวิชาศิลปะก็กลับสู่วังวนเดิม ขณะที่เด็กอื่นมีดวงตาเพื่อรับรู้สิ่งที่เรียน เด็กกลุ่มนี้กลับต้องฟุบหน้าลงกับโต๊ะ พ่ายแพ้ต่อระบบการศึกษาที่ลืมคิดเผื่อพวกเขา

  • ศิลป์ไร้แสง

ถึงคนรอบข้างจะไม่มีใครบกพร่องทางการมองเห็น แต่จากการเคยทดลองสวมบทบาทเป็นผู้พิการ นั่งวีลแชร์ไปไหนมาไหนที่กรุงเทพฯในกิจกรรมหนึ่ง ทำให้ ผศ.ดร.สัญชัย สันติเวส คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัยการออกแบบสื่อเพื่อการจัดการเรียนรู้วิชาศิลปะ (ทัศนศิลป์) สำหรับนักเรียนตาบอด ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รู้ซึ้งถึงความลำบาก จนมาสนใจเรื่องราวของผผู้บกพร่องทางการมองเห็นเกิดเป็นงานวิจัยดังกล่าว ทำให้เขาได้คลุกคลีกับโลกมืดถึงขั้นเข้าใจถ่องแท้

“จุดเริ่มต้นจากปัญหา ทำอย่างไรให้คนตาบอดรับรู้ภาพวาดศิลปะ จากจุดเริ่มต้นนั้นผมนำไปพัฒนาโปรแกรมวาดภาพในคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนหรือคนตาบอดวาดภาพระบายสีด้วยการฟังเสียง โปรเจกต์นั้นเป็นปริญญาเอกของผม”

หลังจากนั้นอาจารย์สัญชัยยังเดินหน้าทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กบกพร่องทางการมองเห็นต่อพร้อมกับข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ค่อยมีงานวิจัยด้านนี้ ทั้งที่เรื่องตาบอดเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เพียงแค่หลับตาก็ไม่เห็นอะไรแล้ว เมื่อมองไม่เห็น ทำให้ดำเนินชีวิตได้ลำบากหรือเรียนรู้ได้ยาก เขาจึงมุ่งเป้าที่ ‘ศิลปศึกษา’ เพื่อหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มนี้เรียนได้เหมือนเด็กทั่วไป ทว่ายิ่งค้นยิ่งพบปัญหาในระบบ

“เราพบว่าโรงเรียนไม่มีสื่อการสอนวิชาศิลปะ แต่ในวิชาอื่นนักเรียนตาบอดเขามี ไม่ว่าจะเป็นการใช้อักษรเบรลล์ หรือเป็นภาพนูนต่าเกี่ยวกับการพล็อตกราฟ นักเรียนตาบอดเรียนด้วยได้ แต่พอวิชาศิลปะเขาไม่มีอะไรให้เรียนไปด้วยได้”

การสัมผัสจึงเป็นทางออกของปัญหา ในช่วงแรกใช้ปูนปาสเตอร์หล่อเป็นชิ้นงานศิลปะจำลอง ถึงจะพอใช้ได้แต่จุดอ่อนคือแตกหักง่าย ทำยาก และยังไม่ตรงคอนเซ็ปต์ซึ่งเขาตั้งใจให้เป็นสื่อการสอนที่ทุกโรงเรียนทำได้เอง

ด้าน รศ.อรอนงค์ ฤทธิ์ฤาชัย สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในคณะนักวิจัย เล่าว่า พอเป็นสื่อการสอนที่ใช้กับห้องเรียนรวมจะยากกว่าการสอนนักเรียนบกพร่องทางการมองเห็นเพียงอย่างเดียว ผู้สอนต้องคิดหนักมาก กระทั่งตกผลึกเป็น ‘วิธีเรียนแบบร่วมมือ’ เด็กปกติได้ช่วยเหลือ เด็กบกพร่องทางการมองเห็นได้เรียนรู้

“ปัญหา ณ ปัจจุบันของครูสอนศิลปะ คือ เขาไม่มีแนวทางที่จะสอน นอกจากไม่มีสื่อ สิ่งที่ไม่มีอีกอย่างคือเขาไม่มีความเชื่อว่าจะสอนศิลปะสำหรับเด็กตาบอดได้จริงๆ เราต้องพูดคุยทำความเข้าใจว่าสิ่งนี้ทำได้จริง”

อาจารย์อรอนงค์จึงออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ทั้งระบบตั้งแต่สื่อ วิธีการสอน ส่วนอาจารย์สัญชัยก็ทำหน้าที่ผลิตสื่อการสอนให้ตอบโจทย์มากที่สุด

49464930_2096040753788059_2087813860630200320_o

 

  • ก่อร่างสร้างศิลป์

จากโจทย์ค่อนข้างยากมาลงเอยที่ ‘เครื่องพิมพ์ 3 มิติ’ แม้จะมีมานานแล้วในวงการอื่นๆ ทั้งการผลิตสินค้า ของที่ระลึก ไปจนถึงการสร้างอวัยวะเทียมในทางการแพทย์ แต่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้เพื่อการเรียนรู้ศิลปะของผู้บกพร่องทางการมองเห็น ซึ่งข้อดีของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ คือ สร้างชิ้นงานที่ค่อนข้างละเอียด ไม่แตกหักง่ายเหมือนปูนปาสเตอร์ คงทนและน้ำหนักเบามาก

อาจารย์สัญชัยเล่าถึงต้นแบบของชิ้นงานต่างๆ ว่า จะเหมือนการจำลองจากของจริงมาก เพราะต้นแบบภาพ 3 มิติ สแกนมาจากของจริง

“สื่อศิลปะที่ให้เด็กสัมผัสมีอยู่ 2 แบบครับ อย่างแรกคือหุ่นลอยตัว อย่างที่สองคือภาพวาด ถ้าเป็นประติมากรรมคือหุ่นลอยตัว ผมไปเสิร์ชในอินเทอร์เน็ต โดยหลักควรจะปั้นขึ้นมาเองเพราะอาจมีเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ผมทำเพื่อการศึกษา ไม่ได้ทำขาย เขาก็แจกฟรีเพื่อการนี้อยู่แล้ว ผมก็โหลดมาโดยได้ชิ้นงานที่ถูกต้องตามของจริง

ส่วนประเภทที่สองเป็นภาพวาด ภาพวาดไม่ใช่ภาพนูนต่ำ แล้วไม่มีโปรแกรมแปลงภาพวาดให้เป็นภาพนูนต่ำแบบใช่เลย คือมันทำได้แค่ สีเข้มลึก สีอ่อนตื้น เป็นแค่เส้นๆ แล้วปรากฏว่าภาพนูนต่ำนี่ผมต้องจ้างน้องๆ หรือผมทำเอง ทำภาพนูนต่ำขึ้นมา โดยขึ้นแบบในคอมพิวเตอร์แล้วผ่านกระบวนการพิมพ์ 3 มิติออกมาอีกทีหนึ่ง”

แต่ละชิ้น แต่ละกระบวนการใช้เวลาค่อนข้างนาน บางชิ้นนานถึงครึ่งวันกว่าจะพิมพ์เสร็จ แต่ถึงอย่างไรก็ยังเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์สุดอย่างที่อาจารย์สัญชัยตั้งธงไว้ว่าโรงเรียนต้องทำเองได้ ส่วนราคาของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ก็เริ่มต้นที่ 15,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่โรงเรียนน่าจะซื้อไว้ใช้ได้ ต่อไปคณะนักวิจัยจะมีหน้าที่แค่รวบรวมต้นแบบ 3 มิติของชิ้นงานที่ตรงกับต้นฉบับและตรงแผนการสอน

ผลงานศิลปะจำลองนี้ไม่ได้มีไว้แค่ให้ลูบคลำแล้วจินตนาการตามเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปใช้เพื่อการเรียนรู้ถึง 4 แกนวิชา ได้แก่ ประวัติศาสตร์ศิลป์, สุนทรียศาสตร์, ศิลปะวิจารณ์ และศิลปะปฏิบัติ

“แม้แต่เด็กปกติก็ตื่นเต้นมากกว่าเห็นภาพ 2 มิติ พอเป็น 3 มิติ เขาจะตื่นเต้นขึ้นมาทันทีเลย” อาจารย์อรอนงค์บอก

49547414_2096040760454725_8032556903378714624_o

 

  • ศิลป์ที่สัมผัสได้

ขณะที่ผลงานศิลปะระดับโลกถูกจำลองเสร็จสรรพ แต่ใช่ว่าทุกคนจะอ้าแขนรับเข้ามาเป็นสื่อการสอน เพราะหลักสูตรที่มีไม่ได้ออกแบบมาเพื่อนักเรียนผู้บกพร่องทางการมองเห็น เมื่อมีอะไรที่คล้ายว่าจะมาแทรกแซง ย่อมถูกปฏิเสธเป็นธรรมดา ทว่าความตั้งใจสร้างโอกาสเรียนรู้ศิลปะให้เด็กกลุ่มนี้ ไม่ทิ้งพวกเขาไว้กลางความมืดอันโดดเดี่ยว กลายเป็นแรงผลักดันให้คณะนักวิจัยสู้จนตอนนี้มีโรงเรียนถึง 4 แห่งในขอนแก่น รับสื่อศิลปะนี้ไปใช้แล้ว ได้แก่ โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด, โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย 2, โรงเรียนนครขอนแก่น และโรงเรียนกัลยาณวัตร

‘ครูอุ้ย’ ศศิธร มาลาเพชร อาจารย์วิชาทัศนศิลป์ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย 2 ยอมรับว่าก่อนมีสื่อการเรียนรู้แบบนี้ นักเรียนกลุ่มนี้จะเรียนศิลปะไม่เหมือนเพื่อนคนอื่น คือขณะที่คนอื่นเรียนด้วยวิธีต่างๆ พวกเขาจะทำได้แค่ปั้นดินน้ำมัน ทำให้มาตรฐานการเรียนการสอนเด็กสองกลุ่มไม่เท่ากัน

“การมีสื่อการสอนแบบนี้เข้ามาทำให้เขาได้สัมผัสผลงานศิลปะอย่างที่เขาไม่เคยมีมาก่อน ทำให้กิจกรรมหลากหลายมากขึ้น เช่น ครูมีภาพนูนต่ำ นูนสูงมาให้เขาสัมผัส จากที่เคยบรรยายแต่ปาก ตอนนี้เขาก็จะเข้าใจมากขึ้นว่าภาพที่เคยได้ยินนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร”

ถึงในบางโรงเรียนหรือครูบางคนจะคิดว่าไม่น่าจะทำได้จริง แต่กับครูอุ้ย เธอบอกว่ารอคอยสื่อแบบนี้มานานมากแล้ว และจะมีให้ใช้เยอะพอไหม เมื่อทราบว่ามีงานวิจัยก็ตอบรับทันที ล่าสุดถึงขั้นขออนุมัติจากโรงเรียนเพื่อจัดซื้อเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาใช้ผลิตสื่อการเรียนรู้เอง โดยมองถึงประโยชน์ในรายวิชาอื่นด้วย เช่น การศึกษาสรีระร่างกายในวิชาวิทยาศาสตร์

ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่รับสื่อมาสอนนักเรียน ครูอุ้ยเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียนทั้งตาดีและบกพร่องทางการมองเห็น

“เขาได้เห็นตัวจริง ได้สัมผัส มันทำให้เขาเข้าถึงศิลปะมากขึ้นทั้งสองกลุ่ม เด็กตาดีเมื่อได้เห็นผลงานศิลปะจำลองก็ตื่นเต้น ส่วนเด็กตาบอดก็ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กตาดี อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เพราะวิชาศิลปะเน้นเรื่องความสุข ไม่ว่าจะตาดีหรือตาบอด เขาควรจะมีความสุขเมื่อสร้างสรรค์ผลงาน”

เมื่อถามผู้ใช้งานจริงอย่าง ‘กระต่าย’ นัทธินันท์ ด่านกระโทก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกัลยาณวัตร จ.ขอนแก่น ที่บกพร่องทางการมองเห็นตั้งแต่อายุ 16 ปี ด้วยโรคตาแดงแล้วลุกลามจนตอนนี้มองเห็นเลือนรางหนึ่งข้าง เธอสนใจวิชาศิลปะตั้งแต่เด็ก ตอนมองเห็นชอบขีดเขียน พอมองไม่เห็นก็เปลี่ยนมาปั้นแทน หุ่นจำลองกลายเป็นเหมือนไทม์แมชชีนพากระต่ายย้อนเวลากลับไปสัมผัสผลงานศิลปะที่เธอรักอีกครั้ง

“ก่อนนี้หนูเรียนงานปั้นค่ะ ครูให้เพื่อนในห้องปั้นรูปโครงหน้า แต่หนูไม่ค่อยได้ปั้นด้วยเพราะหนูมองไม่เห็น ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร พอมีสื่อการเรียนที่เป็นหุ่นจำลองก็จะช่วยให้หนูรู้โครงสร้างของรูปปั้น อย่างงานนี้หนูก็พอจะรู้ว่าเป็นรูปผู้หญิง ส่วนนี้คือใบหน้า” กระต่ายเล่าพร้อมกับคลำผลงานภาพวาดโมนาลิซ่าที่จำลองเป็นภาพนูนต่ำด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

“พวกเราพบว่าบ้านเราเอาวิชาศิลปศึกษาไปสอนแบบผิดๆ ครูหลายคนเน้นฝึกฝีมือ แล้วส่งเสริมเด็กเก่งให้ประกวดแล้วตัวเองได้ผลงาน จนบางครั้งทิ้งเด็กในห้องเรียนไม่ว่าจะเด็กปกติหรือเด็กตาบอด ในขณะที่วิชาศิลปะพัฒนาได้หลายอย่างแต่ไม่เอามาใช้ เช่น สติปัญญา อารมณ์ การเข้าสังคม ถ้าเข้าใจและใช้ศิลปศึกษาจริงๆ มันมีคุณค่ามาก” อาจารย์อรอนงค์ กล่าว

  จากจุดเริ่มต้นแสนท้าทาย เพราะศิลปะที่หนีไม่พ้นเรื่องความงาม กับการมองไม่เห็นเหมือนจะไปด้วยกันไม่ได้ แต่ความพยายามและตั้งใจไม่เคยทรยศใคร บัดนี้กำแพงที่ปิดกั้นโลกของศิลปะกับโลกมืดของผู้บกพร่องทางการมองเห็นได้พังทลายลงแล้ว อาจไม่มีแสงลอดเข้ามาในดวงตา ทว่ารอยยิ้มเมื่อพวกเขาได้สัมผัสผลงานศิลปะที่เคยเป็นแค่คำบอกเล่า มั่นใจได้ว่ากำลังเกิดแสงสว่างในหัวใจแน่นอน

49206320_2096040893788045_178867151447261184_o