ประธาน ตลท. เปิดผลงาน 1 ปี  ดันวาระเร่งด่วน บจ. 1,500 บริษัท  

ประธาน ตลท. เปิดผลงาน 1 ปี   ดันวาระเร่งด่วน บจ. 1,500 บริษัท  

วาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี ฐานะ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) “ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์”

ภายใต้แรงกดดันจากปัจจัยภายในที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และ ปัจจัยภายนอกที่กระทบผลงานตลาดทุนไทยรั้งท้ายผลตอบแทนน้อยสุดของตลาดหุ้นโลก ทำให้แผนการดำเนินงานฐานะตัวกลางซื้อขายต้องรีแบรนด์ครั้งใหญ่

“เรื่องเร่งด่วนในตลาดหุ้นไทย 3 เรื่อง ข้อแรก เพิ่มบจ.ให้เร็วที่สุด 800 บริษัทไม่พอ ข้อสอง สร้างความเชื่อมั่นบจ. ในตลาดหุ้นไทย และสามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงด้วยความโปร่งใส และข้อสุดท้าย ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ”

ปัญหาสำคัญของตลาดทุน คือ การขาดแคลนโปรดักส์ใหม่ๆ หรือ บจ. เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น (เน้นมีคุณภาพ) ดำเนินการเปิดช่องให้ New Economy สามารถเข้าตลาดหุ้นได้ด้วยสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจ ทำให้ดึง “ ธุรกิจครอบครัว” หรือ “บริษัทต่างประเทศ” ให้บริษัทแม่ แยกส่วนธุรกิจบางส่วนของตนเอง ออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่  หรือ Spin-Off ซึ่งมีการแก้ไขเรื่องถือหุ้นบุริมสิทธิ์เพื่อให้สะดวกเข้าตลาดหุ้นไทย และทำงานรวมกับ BOI เพื่อจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี 

ปัจจุบันจำนวนบจ.ในตลาดหุ้น 800 บจ. ไม่เพียงพอและไม่เหมาะสม  เปรียบเทียบฐานข้อมูลบริษัทที่อยู่ในระบบเสียภาษีจำนวน 2 แสนบริษัท  ดังนั้นบจ.ไทยควรจะมีระดับ 1,500 บจ.   แนวทางมีการเข้าไปดึงกลุ่มบริษัทครอบครัว หรือบริษัทขนาดใหญ่อย่าง ปตท. มีความสนใจนำธุรกิจยาเข้าตลาดแต่ผลประกอบการยังไม่มีกำไร หรือบริษัทต่างประเทศ บริษัทเทคโนโลยี  บริษัทสตาร์ทอัพ เข้ามาตลาดหุ้นไทยแต่คำถามว่าแล้วได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นบจ.ไทย ซึ่งต้องทำงานกับภาครัฐในการดึงกลุ่มบริษัทเหล่านี้มา 

ด้านการทำงานมีศึกษาเพิ่มความน่าสนใจซื้อขายทั้ง "การแยกกระดานลงทุนเพิ่มกระดานสินค้ากลุ่มอุตฯ เป้าหมาย"  (New Economy) ผลักดัน JUMP+ สนับสนุนการควบรวมกิจการ ดึงดูดผู้ลงทุนกลุ่มใหม่จากต่างประเทศ แก้เกณฑ์ซื้อหุ้นคืนให้ทำได้ไม่ติดกรอบเวลา 6 เดือน และขยายขายหุ้นคืนในตลาดเป็น 5 ปี จาก 3 ปี เพื่อนำเงินเหลือมา บริหาร ซึ่งทำให้ 4 เดือนแรกปี 2568 มี 37 บริษัทซื้อหุ้นคืนแล้ว 6,000 ล้านบาท มูลค่าเท่ากับทั้งปี 2567

ผลักดันแนวคิดการออมและการลงทุนระยะยาว ผ่าน TISA หรือการออมด้วยการลงทุนในหุ้นและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และปรับปรุง Board Lot ให้สอดคล้องกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีเงินลงทุนน้อยแต่ซื้อขายบ่อยและถี่

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่น นอกจากมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ short sell ที่ดำเนินการไปแล้ว  "ทางกฎหมายที่เป็นจุดอ่อนในการเอาผิดผู้กระทำความผิด" เนื่องจากเรื่องไปถึงชั้นตำรวจ อัยการ และศาลขาดความเข้าใจพรบ.หลักทรัพย์ เกิดกรณีไม่สั่งฟ้อง ต้องมีการทำเป็นหลักสูตรชั้นสูงการบังคับใช้กฎหมายให้เข้าใจกระบวนการกระทำความผิดทั้งการสร้างราคา การใช้ข้อมูลภายใน และอาจจะถึงขั้นต้องชี้แจงด้วยว่ากรณีไม่สั่งฟ้องด้วยการตัดสินอย่างไร

และการให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการ  ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกํากับดูแล ภาคตลาดทุน  พร้อมส่งเสริมการเพิ่มความเท่าเทียมกันในการซื้อขาย เช่น Co-location และสื่อสารทิศทางและนโยบายของตลาดหลักทรัพย์