หุ้นเครื่องดื่มชูกำลังแข่งเดือด! มูลค่าตลาดทำระดับสูงสุดใหม่ ปีนี้โตอีก 2.7%

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดมูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังปี 2568 เติบโต 2.7% การแข่งขันในประเทศเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/68 เหตุ OSP จำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลัง M-150 ฝาเหลืองขวดละ 10 บาท สูตรใหม่ ขณะที่ CBG จะยังคงใช้กลยุทธ์ยืนราคาขายเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” ขวดละ 10 ต่อไป
เติมพร ตันติวิวัฒน์ นักวิเคราะห์อาวุโสกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม และสินทรัพย์ดิจิทัล บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังปี 2568 คาดเติบโต 2.7% SCB EIC คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศรวมทั้งหมดจะอยู่ที่ 2.75 หมื่นล้านบาท +2.7% ในปี 2568 เติบโตในอัตราชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่ 4.2% แต่ในแง่มูลค่าตลาดจะทำระดับสูงสุดใหม่ SCB EIC มองว่ากิจกรรมในปี 2568 เช่น กิจกรรมการก่อสร้างที่ยังมีต่อเนื่องทั้งภาครัฐและเอกชน และ e-sport จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนความต้องการในกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของตลาดเครื่องดื่ม คือ ผลิตภัณฑ์ทดแทนในสภาวะที่การแข่งขันสูงขึ้น เรามองว่าสัดส่วนมูลค่าตลาดของเครื่องดื่มชูกำลังขวดละ 10 บาท จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่สูงกว่า 50% ในปี 2568 (50% ในปี 2567) เมื่อพิจารณาจากความสามารถในการซื้อที่ลดลง และการกลับมาเปิดตัว M-150 ขวดละ 10 บาทอีกครั้ง ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าตลาดของเครื่องดื่มชูกำลังขวดละ 12 บาท จะลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 40% (40% ในปี 2567) เพราะได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง
ทั้งนี้ การแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศจะเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/68 เป็นต้นไป เราเชื่อว่าการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศในปี 2568 จะเริ่มเข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/67 เป็นต้นไป เมื่อ OSP จำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลัง M-150 ฝาเหลืองขวดละ 10 บาท สูตรใหม่ ในช่องทางร้านค้าแบบดั้งเดิม (65% ของการจำหน่ายทั้งหมด) อย่างเต็มรูปแบบ โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด 4% เป็น 50% ในช่วงปลายปี 2568 หลังจากส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศของบริษัททำจุดต่ำสุดใหม่ในปี 2567 ที่ 45%
โดย ครั้งล่าสุดที่ส่วนแบ่งการตลาดของ OSP สูงกว่า 50% เกิดขึ้นในไตรมาส 1/65 ซึ่งในตอนนั้น OSP ยังไม่ได้ปรับราคาขายเครื่องดื่มชูกำลัง M-150 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทเพิ่มขึ้น ดังนั้นเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ในครั้งนี้จึงค่อนข้างท้าทาย
ขณะที่ CBG จะยังคงใช้กลยุทธ์การยืนราคาขายเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” ขวดละ 10 ต่อไป โดยจะทำแคมเปญการตลาดและขยายช่องทางการจำหน่าย CBG ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด 3% สู่ 29% หลังจากเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้ 2.6% สู่ระดับสูงสุดใหม่ในปี 2567 โดยได้ประโยชน์จากความสามารถในการซื้อที่ลดลงของผู้บริโภคในช่องทางร้านค้าแบบดั้งเดิมและการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง เราเชื่อว่าทั้งสองบริษัทจะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2568 แต่จะทำได้ไม่ถึงเป้าที่วางไว้ โดยเครื่องดื่มชูกำลังขวดละ 10 บาทจะยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หลักในการแข่งขันครั้งนี้
โดยในครึ่งแรกของปี 2568 เราชอบ CBG มากกว่า OSP คาดว่ามูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังรวมทั้งหมดในปี 2568 จะเติบโตเป็นเลขหลักเดียว โดยจะมีการแข่งขันที่สูงขึ้นในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังขวดละ 10 บาท ซึ่งคิดเป็น 50% ของตลาดเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหมด ในบรรดาคู่แข่งสองรายในกลุ่มนี้ เราชอบ CBG มากกว่า OSP ในครึ่งแรกของปี 2568 เพราะมีปริมาณการขายที่แข็งแกร่ง มีการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และการประหยัดต่อขนาด ในขณะที่ OSP จะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังขวดละ 10 บาท จะส่งผลทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง เราให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ OUTPERFORM สำหรับ CBG โดยปรับราคาเป้าหมายปี 2568 เป็น 80 บาท/หุ้น ในขณะที่แนะนำ NEUTRAL สำหรับ OSP ด้วยราคาเป้าหมายปี 2568 ที่ 16 บาท/หุ้น