เปิด 3 เหตุผลทำไมหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ในสหรัฐฯ  ถึงกลับมามีความน่าสนใจ

เปิด 3 เหตุผลทำไมหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ในสหรัฐฯ  ถึงกลับมามีความน่าสนใจ

หุ้นขนาดกลาง-เล็ก ในสหรัฐฯ น่าสนใจ โดยหุ้นขนาดกลางระดับ Valuation ที่เหมาะสม โดยดัชนี S&P Midcap 400 มี P/E ratio ที่ 16.6x ต่ำกว่าดัชนี S&P 500 ที่ 22.16x อย่างมีนัยสำคัญ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่ม Magnificent 7 ที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นจากการเติบโตของเทคโนโลยีด้าน AI ในขณะเดียวกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของ Fed ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก

อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดกำลังเข้าสู่สภาวะการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากปัจจัยการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาเป็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจอีกครั้ง

โดย บลจ.ทิสโก้ ระบุว่า 3 เหตุผลสำคัญที่สนับสนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กในสหรัฐฯ ได้แก่ แนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ Fed, นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ และความสามารถในการทำกำไรที่ดีของบริษัทขนาดกลาง-เล็กของสหรัฐฯ

ทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี และการลดดอกเบี้ย Fed

Fed เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินครั้งแรกในรอบ 4 ปี ด้วยการปรับลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้งรวม 1.00% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% และในการประชุมครั้งล่าสุดเดือนมกราคม 2025 Fed ตัดสินใจคงดอกเบี้ยที่ระดับนี้เพื่อรอดูความยั่งยืนของการชะลอตัวของเงินเฟ้อ โดยตลาดคาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปี 2025 สู่ระดับ 4.00-4.25% และอีก 1 ครั้งในปี 2026

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 4.5% ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2025 หลังรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ คนใหม่ นาย Scott Bessent ประกาศมาตรการ 3-3-3 ซึ่งประกอบด้วยการลดการขาดดุลการคลังเหลือ 3% ของ GDP, การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน, และการเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ที่ระดับ 3% ต่อปี ซึ่งนโยบายดังกล่าว เป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับสหรัฐฯ โดยไม่ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นมากจนเกินไป (non-inflationary growth) โดยรัฐบาลชุดใหม่เน้นการลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมากกว่าการกดดัน Fed ให้ลดดอกเบี้ย

ทั้งนี้ การผ่อนคลายนโยบายการเงินของ Fed ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนผ่าน GDP ไตรมาส 4/2024 ที่เติบโต 2.3% นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ยังช่วยลดต้นทุนการระดมทุนระยะยาวของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีความต้องการเงินทุนเพื่อการขยายกิจการ ส่งผลให้ดัชนี S&P Midcap 400 เริ่มฟื้นตัว

 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่

ตั้งแต่ช่วงหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 นาย Donald Trump ได้นำเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ภายใต้แนวคิด "American First" โดยมุ่งเน้นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีนิติบุคคล จาก 35% เหลือ 21% และลดกฎระเบียบทางเศรษฐกิจ (Deregulation Effort) เพื่อฟื้นฟูขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและเล็กที่เคยแบกรับต้นทุนการดำเนินงานและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ให้มีกระแสเงินสดคงเหลือสำหรับการลงทุนขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ นาย Donald Trump ยังได้ออกนโยบายการค้าด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศแคนาดา, เม็กซิโก, และจีน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ พร้อมกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถพัฒนานวัตกรรมและขยายตลาดใหม่

หลายบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในสหรัฐฯ ได้ผ่านบททดสอบในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นถึงพื้นฐานที่แข็งแกร่งของธุรกิจ

โดยหลังจากที่ผ่านวิกฤต COVID-19 บริษัทที่เหลืออยู่ได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของพื้นฐานทางธุรกิจ ทั้งด้านงบการเงิน, ประสิทธิภาพการบริหารงาน, และความสามารถในการรักษาส่วนแบ่งตลาด ปัจจุบันบริษัทเหล่านี้อยู่ในสถานะที่พร้อมรับประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เริ่มเอื้ออำนวยมากขึ้น โดยเฉพาะจากแนวโน้มต้นทุนทางการเงินที่ลดลง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา EPS Growth โดยเฉลี่ยของหุ้นกลุ่ม S&P Midcap 400 อยู่ที่ราว 10% โดยนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs คาดการณ์ว่า EPS ของกลุ่มนี้ จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 12% ในปี 2025 และเติบโตต่อเนื่องในปี 2026

เปิด 3 เหตุผลทำไมหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ในสหรัฐฯ  ถึงกลับมามีความน่าสนใจ

สภาพแวดล้อมการลงทุนในปี 2025 กำลังปรับเปลี่ยนในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ต่อหุ้นขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ โดยการผ่อนคลายของตลาดพันธบัตรดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดหุ้น ขณะที่นโยบายการเงินผ่อนคลายของ Fed ช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่มุ่งเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการลดภาษีนิติบุคคลที่จะช่วยลดภาระต้นทุน และการผ่อนคลายกฎระเบียบที่จะช่วยเสริมความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับนักลงทุน หุ้นขนาดกลางนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจจากระดับ Valuation ที่เหมาะสม โดยดัชนี S&P Midcap 400 มี P/E ratio ที่ 16.6x ต่ำกว่าดัชนี S&P 500 ที่ 22.16x อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรติดตามความเสี่ยงระยะสั้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะทิศทางเงินเฟ้อและนโยบายการเงินของ Fed รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของตลาดและการดำเนินธุรกิจ