‘ภากร’ลุยเพิ่มเสน่ห์หุ้นไทย เร่งออกโปรดักต์ตอบโจทย์ หวังฟันด์โฟลว์หวนคืน

‘ภากร’ลุยเพิ่มเสน่ห์หุ้นไทย เร่งออกโปรดักต์ตอบโจทย์ หวังฟันด์โฟลว์หวนคืน

ปีนี้นับเป็นอีกหนึ่งปีที่ “ความท้าทาย” ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง ทั้งด้านความรวดเร็วของเทคโนโลยี และความไม่แน่นอนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย หลังทั่วโลกผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19มาแล้ว 

หากย้อนดูสถิติของ “ตลาดหุ้นไทย” ยังเผชิญกับภาวะ “ขาลง” ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา !! สะท้อนผ่านดัชนี SET INDEX ไม่ได้ปรับขึ้นเลย ถือว่าเป็น “Lost Decade” มูลค่าซื้อขาย (วอลุ่ม) หดหาย และนักลงทุนต่างชาติเทขาย      

ขณะเดียวกัน ยังเกิด “วิกฤติความเชื่อมั่นหดหาย” หลังเกิดสารพัดปัญหากับหลาย “บริษัทจดทะเบียนไทย” (บจ.) ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากการ “ทุจริตปั่นหุ้น-ทุบราคาหุ้น”

 ดังนั้น ถึงคราวตลาดทุนไทยต้องเร่งปฏิรูปครั้งใหญ่... ในทุกๆ มิติ ด้วยการผลักดัน “มารตรการยกระดับกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุน” สะท้อนภาพมาตรการต่างๆ เริ่มทยอยออกมาปฎิบัติได้จริงตามไทม์ไลน์ ซึ่งตลาดทุนไทยก็ตอบรับมาตรการต่างๆ ที่ ตลท. ออกเรียกความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่งแล้ว 

ทว่าขึ้นชื่อว่าตลาดหุ้นยังมีปัจจัยกระทบที่อยู่นอกเหนือการควบคุมได้ บ่งชี้ผ่านดัชนีหุ้นไทย “ทำจุดต่ำสุด” ในรอบเกือบ 4 ปี อยู่ที่ 1,330 จุด ! (6 มิ.ย. 2567) ด้วยการกลับมาของ “ความกังวลประเด็นการเมือง” อีกครั้ง สอดรับช่วง 7 วันทำการ “ต่างชาติ” เทขายหุ้นไทยหนักมากรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยช่วงเวลา 11 วันทำการ ดัชนีหุ้นไทย “ร่วง 50 จุด” 

สารพัดปัจจัยลบดังกล่าว อาจกระทบ “เซนติเมนต์” ตลาดทุนไทยระยะสั้น ทั้งการวินิฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ผลต่อการอภิปรายงบประมาณปี 2568 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า รวมถึงต่างชาติมีความกังวลความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หวั่นถูกแทรกแซง หลังมีชื่อคนในรัฐบาลเป็นแคนดิเดตประธานบอร์ดคนใหม่ของแบงก์ชาติ 

หลายแรงกดดันภายในที่ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญในขณะนี้ถือเป็น “ปัจจัยเฉพาะตัว” ดังจะเห็นจากทิศทางตลาดต่างประเทศที่ฟื้นตัวโดดเด่น ดังนั้น ด้วยพื้นฐานแท้จริงตลาดหุ้นไทย “ไม่ได้ตกชั้น” เมื่อเทียบกับตลาดอื่น เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังอยู่ใน “เรดาห์” ของนักลงทุนทั่วโลก เพียงแค่กำลังรอสารพัดปัจจัยรุมเร้าคลี่คลายเท่านั้น 

‘ภากร’ลุยเพิ่มเสน่ห์หุ้นไทย เร่งออกโปรดักต์ตอบโจทย์ หวังฟันด์โฟลว์หวนคืน

ดังนั้น ต้องรีบดึงเสน่ห์ตลาดทุนไทยกลับด่วน !! “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สิ่งที่ต้องทำท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่เข้ามามากทั้งดีและร้าย นั่นคือ การพยายามสื่อสารข้อมูลให้ชัดเจน ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดหุ้นไทยอย่างเต็มกำลัง ซึ่งตลอดการทำงานในตำแหน่ง “เอ็มดีตลท.” ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ถือว่าได้ทำงานสุดความสามารถ 

ดังนั้น ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ “ผู้จัดการตลท.คนใหม่” ภารกิจล่าสุดที่ต้องดำเนินการคือ การควงแขน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ออกนอกบ้าน ด้วยการเดินสายนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) “จุดเด่น” ของตลาดหุ้นไทยต่อสายตานักลงทุนต่างประเทศ และเปิดมุมมองที่จะกลับมาแต่งตัวใหม่ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” (Value Added) ให้กับตลาดหุ้นไทยสู่ “ตลาดทุนแห่งอนาคต” ของทุกคน

สำหรับเส้นทาง “พัฒนาตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนแห่งอนาคตที่สนับสนุนผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม” โดยจุดที่น่าสนใจมากของตลาดทุนไทยในขณะนี้คือ สามารถระดมทุน “หุ้นไอพีโอ” ได้ต่อเนื่อง ในทุก ๆ ปี ปีละ 30-40 บริษัท มี “มาร์เก็ตแคป” ปีละ 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์ มีสภาพคล่องที่สูง และมีโปรดักต์ที่เชื่อมต่อกับประเทศอื่น เช่น DR, ETF ซึ่งโปรดักต์เหล่านี้นักลงทุนค่อนข้างให้ความสนใจ 

รวมถึงปัจจุบันราคาหุ้นไทยยังน่าสนใจ ราคาต่ำกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และทางด้านความยั่งยืน ไม่น้อยหน้าติดอันดับท็อปของภูมิภาคและระดับเวิลด์คลาส  และหากผสานกับจุดแข็งของประเทศไทย ที่คนทั้งโลกยอมรับ อุตสาหกรรมทางด้าน Well-being Economy, การส่งออก, อาหาร, เฮลท์แคร์ และการท่องเที่ยว และนโบายของภาครัฐส่งเสริมทางด้าน “พลังงานสะอาด” 

 “ภากร” กล่าวต่อว่า ตลาดหุ้นไทยยัง “ไม่ไร้เสน่ห์” ในสายตานักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เพียงแต่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในสิ่งต่างๆ ที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้วอย่างไรต่อไป  แน่นอนว่าในเรื่อง  DR, ETF เราจะเชื่อมในภูมิภาคได้มากกว่านี้ เพราะจะลงทุนได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำ Due Diligence เพิ่มเติม นี่คือ สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมุ่งเน้นต่อไป พร้อมกับการเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาตามไทม์ไลน์ที่ได้วางไว้   

     ดังนั้น มองไปในอนาคต ตลท.จะก้าวสู่ปีที่ 50 การดำเนินงานปี 2568 ได้ กำหนดแนวคิดการก้าวสู่ปีที่ 50 ว่า Make it “Work” for Every Future-ร่วมสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคนทั้งการสร้างสรรค์สินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์เป้าหมายอนาคตของผู้ออมและผู้ลงทุน เป็นกลไกให้ภาคธุรกิจเข้าถึงโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนระยะยาว นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างแข็งแกร่ง พร้อมสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม และอนาคตสังคมไทยยั่งยืน

    โดยมุ่งสู่เป้าหมายอนาคต “5 ด้าน”  คือ 1.ยกระดับสู่ตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาค ทั้งด้านเป็นแหล่งระดมทุนในและต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มเติมทางเลือกการลงทุนต่างประเทศผ่านกลไกตลาดทุนไทย 2.ขยายโอกาสระดมทุนให้บริษัททุกขนาดในภูมิภาค มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ บริษัทต่างชาติที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ และ SMEs Startups พร้อมส่งเสริมการพัฒนา Data Platform สำหรับบจ. เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data Pools) นำมาต่อยอดเป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์ 

3.พัฒนาตลาดทุนแบบดิจิทัลเสริมตลาดทุนดั้งเดิมที่มีความเข้มแข็งในปัจจุบันเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนยุคใหม่ 4.เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและกำกับดูแล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนที่แข็งแกร่งโดยพิจารณาในการนำเทคโนโลยี AI และ Generative AI เข้ามาช่วยพัฒนางานในหลายด้านเพิ่มขึ้น 5.ขับเคลื่อนความยั่งยืน ในทุกมิติโดยมุ่งเน้นการเตรียม บจ. ผู้ลงทุน และบุคลากรตลาดทุน ให้พร้อมรองรับความท้าทายและโอกาสจากประเด็นความยั่งยืน และพัฒนาการของกฎเกณฑ์กำกับใหม่ ๆ 

      ดังนั้น การมุ่งเน้นเดินหน้าสู่เป้าหมายตลท.ในอีก 50 ปี สนับสนุนยกระดับตลาดทุนไทย เป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค (ไฟแนนซ์เชียลฮับ) หรือเป็นจุดที่สามารถระดมทุนและลงทุนได้ทั้งในประเทศและภูมิภาคโดยไม่ต้องออกไปต่างประเทศ พร้อมให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล จะทำให้ตลาดทุนสมบูรณ์มากขึ้นโดยใช้การระดมทุนผ่านรูปแบบ Investment Token และ Utility Token และนำคาร์บอนเครดิตในการบริหารเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และได้เครดิตกลับมาเพื่อทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นพร้อมสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมและอนาคตของสังคมไทยยั่งยืน