"หุ้นเล็ก" อยู่ตรงไหน? เมื่อหุ้นใหญ่ครองบทวิเคราะห์ลงทุน

"หุ้นเล็ก" อยู่ตรงไหน? เมื่อหุ้นใหญ่ครองบทวิเคราะห์ลงทุน

การตัดสินใจซื้อสินค้าหรือเลือกรับบริการใดๆ หลายครั้งผู้คนมักอาศัยการอ่านรีวิวสินค้า วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ไปจนถึงการบอกต่อจากบุคคลหรือแหล่งที่ตนเองให้ความมั่นใจและมีความน่าเชื่อถือ

เช่นเดียวกับการตัดสินใจลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ที่ผู้ลงทุนจะต้องมีการศึกษาข้อมูลที่รอบด้านด้วยตนเอง และอาศัยบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนได้รู้สถานการณ์ แนวโน้มการเติบโต รวมทั้งความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อหุ้นตัวนั้นๆ

บทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานดังกล่าว ที่เขียนโดยนักวิเคราะห์มืออาชีพที่มีความรู้ด้านตลาดทุนอย่างแท้จริง มีข้อดีที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนมากขึ้น และยังช่วยให้นักลงทุนประหยัดเวลาการศึกษา รวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่ “หุ้นใหญ่” เท่านั้น แต่บทวิเคราะห์ “หุ้นเล็ก” หรือหุ้นที่มีสภาพคล่องการซื้อขายน้อยกลับมีไม่มาก หุ้นเล็กที่มีอยู่จำนวนมากจึงยังไม่ถูกนำมาวิเคราะห์ให้นักลงทุนได้มีโอกาสทำความรู้จัก 

เนื่องจากการวิเคราะห์หุ้นเล็กถูกมองว่าไม่คุ้มค่ากับต้นทุนและเวลาในรวบรวมข้อมูล ที่จะต้องมีการสัมภาษณ์และติดต่อขอข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เป็นหลัก

ที่สำคัญการเข้าถึงข้อมูลธุรกิจของหุ้นเล็กมักมีปัญหา เช่น บจ. ไม่มาเข้าร่วมในงาน Opportunity Day (วันบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน) รวมไปถึงความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลธุรกิจบนเว็บไซต์ของ บจ. เป็นต้น อีกทั้งที่ผ่านมาหุ้นเล็กนี้สร้างโอกาสให้เกิดการนำไปใช้ปั่นหุ้นได้ เนื่องจากมีมูลค่าทางตลาดต่ำ สภาพคล่องการซื้อขายมีไม่มาก และปัจจัยพื้นฐานไม่ดี

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลีกเลี่ยงที่จะเผยแพร่บทวิเคราะห์ฯ หุ้นเล็ก เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือ

จากการสำรวจจำนวนบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Settrade พบว่าในจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนทั้งหมดประมาณ 840 ตัว เป็นหุ้นที่มีบทวิเคราะห์ฯ ไม่ถึง 1 ใน 4 โดยในจำนวนนี้เป็นบทวิเคราะห์หุ้น mai หรือแหล่งระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพขนาดกลางและขนาดเล็กเพียง 3-5 ตัวเท่านั้น

แต่ขณะเดียวกันปรากฏว่ารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าหุ้น IPO ของ 21 บจ.ในตลาด mai เติบโตจนสามารถย้ายไปอยู่ใน SET ได้มากกว่าครึ่งภายในเวลาประมาณ 3 ปีเท่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของหุ้นในตลาด mai

หุ้นตลาด mai จึงเป็นหุ้นที่ไม่ควรมองข้าม แต่ด้วยข้อจำกัดที่ไม่มีบทวิเคราะห์ฯ หุ้นเล็กนี่เอง อาจส่งผลให้นักลงทุนเสียโอกาสมองเห็นช่องทางในการลงทุน และทำให้ตลาดทุนเสียโอกาสในการระดมทุนด้วยเช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ในการเพิ่มจำนวนบทวิเคราะห์หุ้นเล็ก โดย ก.ล.ต.และ ตลท. ร่วมกันสนับสนุนเงินทุนจัดให้มีโครงการบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุนและประชาชนที่สนใจโดยทั่วไป และให้สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เป็นผู้บริหารโครงการ แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้นตามอายุของโครงการเท่านั้น

\"หุ้นเล็ก\" อยู่ตรงไหน? เมื่อหุ้นใหญ่ครองบทวิเคราะห์ลงทุน

ดังนั้น เพื่อมองภาพของตลาดทุนไทยให้ไกลออกไปในระยะยาวและคำนึงถึงความยั่งยืน ก.ล.ต.และ ตลท. จึงควรสนับสนุนให้มีบทวิเคราะห์หุ้นเล็กเพิ่มมากขึ้น ด้วย 2 แนวทางเพิ่มเติม คือ

1.ควรเปิดเผยข้อมูล บจ.ให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้ โดยได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเท่าเทียม การเปิดเผยข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ตลท.ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ให้ดูแลในเรื่องการเปิดเผยและรักษาข้อมูลที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ สมควรพิจารณาออกกฎเกณฑ์

และกำหนดแนวทางการเปิดเผยข้อมูลตามแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลและรักษาข้อมูลที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของ ก.ล.ต. 

เพื่อให้นักวิเคราะห์ รวมถึงนักลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง และเท่าเทียมกันที่สุด แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้นักวิเคราะห์สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของ บจ. และมีข้อมูลที่มากเพียงพอที่จะสามารถออกบทวิเคราะห์ โดยเฉพาะหุ้นเล็กที่ยังถูกมองข้ามได้

\"หุ้นเล็ก\" อยู่ตรงไหน? เมื่อหุ้นใหญ่ครองบทวิเคราะห์ลงทุน

2.การปรับปรุงเกณฑ์การประเมิน CG Rating หรือการกำกับดูแลกิจการ บจ.ที่ควรเพิ่มน้ำหนักคะแนนที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสสำหรับ บจ.ที่เข้าร่วมงาน Opportunity Day ซึ่งเป็นวันสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์ และนักลงทุนได้ซักถามข้อมูลเชิงลึกจากผู้บริหารโดยตรง 

การปรับปรุงดังกล่าวจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ บจ.มาร่วมงานเพื่อให้ข้อมูลธุรกิจของตน ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับหุ้นเล็กที่การรวบรวมข้อมูลอาจทำได้ยาก

นอกจากสองแนวทางข้างต้นแล้ว ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมที่เป็นโจทย์ให้กับผู้กำหนดนโยบายในตลาดทุนอีก 2 เรื่อง ดังนี้

เรื่องแรกคือ เงื่อนไขการนำหุ้นที่มีศักยภาพลดลงเกินกว่าที่จะเติบโตต่อไปได้ออกจากตลาดหุ้นยังทำได้ยาก ซึ่งการที่ปล่อยให้หุ้นประเภทนี้อยู่ในตลาดหุ้นต่อไป อาจเกิดความเสี่ยงที่จะมีการนำไปปั่นหุ้นได้ วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดก็คือ การนำหุ้นดังกล่าวออกจากตลาดไป เพราะข้อมูลในบทวิเคราะห์อาจไม่ช่วยแก้ไขปัญหาการปั่นหุ้นได้

สุดท้ายต้องเน้นย้ำว่า บทวิเคราะห์เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของนักลงทุนเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมให้นักลงทุนมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดทุน เพราะท้ายที่สุดผู้ที่จะได้รับกำไรหรือขาดทุนจากการลงทุนก็คือตัวนักลงทุนนั่นเอง

บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “โครงการกิโยตินกฎระเบียบตลาดทุน” โดยทีดีอาร์ไอและกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)