ต่างชาติพลิก ‘ซื้อคือหุ้น’ หมื่นล้าน จับตาหุ้นใหญ่ราคาพุ่ง

ต่างชาติพลิก ‘ซื้อคือหุ้น’ หมื่นล้าน จับตาหุ้นใหญ่ราคาพุ่ง

‘ต่างชาติ’ แห่ซื้อคืนกลับหุ้นไทย 2 วันเกือบ 10,000 ล้านบาท รับ ‘คุมชอร์ตเซลล์-โปรแกรมเทรด ’ 3 ระดับราคาหุ้น - รายการซื้อขาย และลงโทษตรงนักลงทุน หวังสกัด “เน็ตเก็ตชอร์ต” ฟื้นความเชื่อมั่น ด้านตลาดทุนมองมาตรการเบากว่าจีน-เกาหลีใต้ แต่หุ้นใหญ่บวกแรงหต้องเร่งซื้อกลับ

แรงกระเพึ่อมใหญ่ในตลาดหุ้นไทยจากปรากฎการณ์ ความไม่พอใจของนักลงทุนรายย่อยที่กังขาระบบการซื้อขายเอื้อให้กับนักลงทุนได้เปรียบด้วยการใช้เทคโนโลยีโปรแกรมเทรดดิ้ง ทั้ง High-Frequency Trading (HFT) และ Robot Trade การขยายช่องทางส่งคำสั่งซื้อขายโดยตรงไม่ผ่านตัวกลางอย่างโบรกเกอร์ รวมทั้งช่องโหว่ขายชอร์ต (short selling) ที่อาจจะนำไปสู่รายการซื้อขายที่ผิดพรบ.หลักทรัพย์ อย่าง “เน็ตเก็ตชอร์ต” (Naked Short)

โดยมีมูลค่าการซื้อขายที่สะท้อนได้ว่าสัดส่วนโปรแกรมเทรดดิ้งเข้ามามีน้ำหนักในตลาดหุ้นไทยถึง 50 % ของมูลค่าการซื้อขาย จากสิ้นเดือนพ.ย. 2566 โปรแกรมเทรดดิ้ง มีมูลค่าการซื้อขายสัดส่วน 40 % และปี 2567 ขยับขึ้นมากินสัดส่วน 50 % ของมูลค่าการซื้อขายรายวัน สอดคล้องกับฐานกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นปี 2566 อยู่ที่ 48.02% แต่รายย่อยลดลง อยู่ที่ 31.85 %

@บอร์ด ตลท. เคาะ 3 มาตรการคุมการซื้อขาย

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติอนุมัติปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล short selling และ program trading แบ่งเป็น 3 ระดับ

ต่างชาติพลิก ‘ซื้อคือหุ้น’ หมื่นล้าน จับตาหุ้นใหญ่ราคาพุ่ง

1.มาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต ทบทวนคุณสมบัติหลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ (eligible securities) ด้วยการเพิ่มมูลค่ามาร์เก็ตแคปขั้นต่ำจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 7,500 ล้านบาท กำหนดให้หุ้นมีสัดส่วนปริมาณการซื้อขายต่อเดือนเมื่อเทียบกับปริมาณหุ้นจดทะเบียน (monthly turnover) แล้วมากกว่า 2%

ด้านราคากำหนดราคาหุ้นขายชอร์ตลดลงมากกว่า 10% จากราคาปิดก่อนหน้า กำหนดให้ราคาขายชอร์ตต้องเป็นราคาที่สูงกว่าราคาล่าสุด (uptick rule) และกำหนดเพดานสูงสุดในการขายชอร์ตรายหลักทรัพย์ในแต่ละวัน (daily limit) หากพบการ กระทำผิดเกี่ยวกับการขายชอร์ต โบรกเกอร์โทษปรับที่เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3 เท่า และเสนอแก้ไขกฏหมายสามารถลงโทษผู้ลงทุนที่เป็นผู้กระทำผิดได้โดยตรงด้วย และจัดให้มีแหล่งข้อมูลกลางสำหรับโบรกเกอร์และตลาดหลักทรัพย์ฯ  ตรวจสอบการมีอยู่ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน เพื่อที่จะทำให้การกำกับดูแลการขายชอร์ตสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.มาตรการการกำกับดูแล program trading เพิ่มเพดานการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวัน (dynamic price band) หากถึงระดับราคาดังกล่าวก็จะหยุดพักการซื้อขาย ส่วนกลุ่ม HFT เพิ่มความเข้มงวดของการกำกับ เช่น ต้องมีการแจ้งหรือขึ้นทะเบียน (register) พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน

โดยเพิ่มลักษณะของคำสั่งซื้อขายที่มีผลกระทบต่อตลาดทั้งในเชิงปริมาณและราคา รวมทั้งจัดทำระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม (order screening) ซึ่งจะป้องกันไม่ให้มีการใส่ถอนคำสั่งซื้อขายที่ถี่จนเกินไป  ด้วยการกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของคำสั่งที่ส่งเข้ามาก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งนั้นได้ (minimum resting time) เช่น อาจจะต้องคงไว้อย่างน้อย 0.6 วินาที  และใช้มาตรการหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติ (auto halt) เป็นรายหุ้น หากพบว่า มีการซื้อหรือขายหุ้นนั้นรวมกันในปริมาณที่มากเกินกว่าระดับที่กำหนด เพื่อป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติ

และ3 .ปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล เช่น จัดทำข้อมูลรายชื่อผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้แก่โบรกเกอร์ทุกราย เพื่อให้บริษัทสมาชิกใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการกับผู้ลงทุนรายนั้น เช่น ปรับลดวงเงิน และเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ครอบคลุมถึงกรณีการถือในรูปแบบ NVDR ตั้งแต่ 0.5% แต่ไม่น้อยกว่า10 ราย

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวข้างต้นโดยเร็ว โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถดำเนินการได้เอง แต่สำหรับในส่วนที่จำเป็นจะต้องมีการปรึกษาหารือในรายละเอียดร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงอาจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมและการปรับระบบปฏิบัติการของบริษัทสมาชิกเพื่อให้รองรับการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้เร่งประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในขั้นตอนต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น (hearing) จากผู้เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจะนำไปปรึกษาหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) อย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะนำเสนอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดไว้

@ตลาดมองมาตรการอ่อนกว่าจีน-เกาหลีใต้ 

นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย กล่าวว่า เทียบกับตลาดหุ้นจีนที่ควบคุมธุรกรรมการขาย short (การให้ยืมหุ้นมา short โดยตรง) หรืออย่างเกาหลีใต้ของไทยเป็นมาตการเบา ดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ปรับตัวขึ้นแล้ว 12% มาตรการห้าม short-sell พ.ย.2566 ตลาดหุ้นจีน และฮ่องกงปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 10-13% จากจุดต่ำสุด หลังทางการเข้ามาควบคุมธุรกรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นน่าชะลอแรงขายชอร์ตในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยเป็นขาลง แต่การที่ตลาดจะปรับขึ้นไปได้มองจะขึ้นกับปัจจัยพื้นฐาน หรือการเติบโตของกำไร บจ. มากกว่า ซึ่งคาดว่าหุ้นกลุ่มที่ก่อนหน้านี้ถูก short sell ลงมามาก อาจมีการซื้อคืน เช่น SCC, CBG, PTTEP, IVL, TOP เป็นต้น 

@จับตาหุ้นใหญ่ราคาพุ่งรับ Cover Short

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล. กรุงศรี พัฒนสิน กล่าวว่า ภาพบวกต่อตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวมาตรการดังกล่าวที่เตรียมออกมานี้  “ถือว่าตรงจุด”  สามารถเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ จากการพัฒนาระบบตรวจสอบการมีอยู่จริง ป้องกันเกิด Naked Short และคาดลดระดับปริมาณ Short Selling ลง และสร้างความโปร่งใสในส่วนธุรกรรม Short Selling มากขึ้น

ส่วนมาตรการ Program Trading จะลดความผันผวนระยะสั้นจากการเก็งกำไรในตลาดที่มีปริมาณต่ำลงจะช่วยให้นักลงทุนโฟกัสที่ตามภาพพื้นฐานระยะกลาง-ยาวของธุรกิจได้ดีขึ้นมากกว่าการที่ต้องติดตามความผันผวนรายวัน เพื่อบริหารความเสี่ยงราคาหุ้นที่ผันผวนระยะสั้น และหุ้นสะท้อนมูลค่าธุรกิจที่เป็นการลงทุนเพื่อระยะกลาง-ยาว

สำหรับหุ้นมีโอกาสรีบาวด์จากซื้อคืนหรือ Cover Short 1. หุ้นมีพื้นฐานแข็งแกร่ง 2. หุ้นปรับตัวลงมากกว่าตลาด เทียบกับยอดสูงล่าสุด 30 ส.ค.2566 ที่ 1,570 จุด ซึ่งดัชนี SET ปรับตัวลงราว -11.3% 3. มียอด Short Selling  สะสมสูงเกิน 9.0% ของมูลค่าซื้อขาย

หุ้นพื้นฐานดี ยอด Short สะสมสูง HANA (หุ้นปรับตัวลงจากยอดสูง SET ล่าสุด -32%, ยอด Short Selling สะสมต่อมูลค่าซื้อขาย 9.7%) , BJC(-25.2%, 14.7%), AAV (-22.9%, 9.0%), BGRIM (-22.4%, 11.3%), CRC (-16.6%, 17.6%) IVL(-16.2%, 15.8%) CPALL (-12.6%, 13.6%)

@ต่างชาติเร่งซื้อกลับหุ้นไทยหมื่นล้าน 

บรรยากาศการซื้อขายตลาดหุ้นไทย (22 ก.พ.)สามารถกลับมาปิดเหนือ 1,400 จุด  ปิดที่ 1,402.47 จุด เพิ่มขึ้น 8.86 จุด เปลี่ยนแปลง 0.64 % มูลค่าการซื้อขาย 51,360.70 ล้านบาท  และเป็นนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ  3,425.66 ล้านบาท  ท่ามกลางกองทุนขายสุทธิ 966.37 ล้านบาท พอร์ตโบรกเกอร์ขายสุทธิ 158.57 ล้านบาท และ รายย่อยขายสุทธิ 2,300.71 ล้านบาท 

รวม 2 วันทำการ (21-22 ก.พ.) ก่อนที่ตลท. จะออกมาตรการต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทย 9,738.13 ล้านบาท จากสิ้นเดือนม.ค. ขายสุทธิ  20,180.18 ล้านบาท  และปี 2566 ขายสุทธิ 2 แสนล้านบาท