เปิดกฎเข้ม 4 ด้าน ยกระดับมาตรการคุม โปรแกรมเทรด - ชอร์ตเซล เร่งฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน

เปิดกฎเข้ม 4 ด้าน ยกระดับมาตรการคุม โปรแกรมเทรด - ชอร์ตเซล เร่งฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน

ตลาดหลักทรัพย์ เปิดกฎเข้มคุม 4 ด้าน ป้องกัน short selling และการใช้ program trading หวังสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนในประเทศ "นักวิเคราะห์" เผยยังต้องรอติดตาม หลักปฏิบัติว่าจะมีกระบวนการ ระบบที่รัดกุมได้มากน้อยแค่ไหน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยจะคึกคักเหมือนแต่ก่อน วอลุ่มหดหายเหลือเพียงเฉลี่ยวันละประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท หลังจากที่นักลงทุนในประเทศขาดความเชื่อมั่นตั้งแต่มีการใช้โปรแกรมเทรดอัตโนมัติ หรือโรบอตเทรด จากนักลงทุนต่างประเทศที่เป็นตัวการสำคัญทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน 

ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกกฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่ใช้ในการกำกับดูแลการทำ short selling และ program trading ที่สามารถเทียบเคียงได้กับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในประเทศกลับคืนมา 

 

 

 

 

 

 

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตรการควบคุม short selling และ program trading ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเทรนด์ในเบื้องต้นได้มีการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาดูแล และไม่พบปรากฎการณ์ naked short selling ซึ่งหากมีการยืนยันแบบนั้น และมีมาตรการ 4 ข้อดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงเป็นการควบคุมที่เข้มข้นน่าจะเป็นผลดี และหากว่ามีการลดความกังวลข้อสงสัย naked short selling ไปได้ เชื่อว่า ตลาดน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเข้ามาเทรดดิ้งเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันโครงสร้างการซื้อขายนักลงทุนต่างชาติมากกว่านักลงทุนในประเทศ เพราะฉะนั้นการที่มีการสร้างความเชื่อมั่นกลับมาครั้งนี้น่าจะทำให้การซื้อขายของนักลงทุนในประเทศกลับคืนมาได้เพิ่มมากขึ้น 

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องดูรายละเอียดของมาตรการที่ออกไม่ว่าจะเป็น Control หรือ Reports หรือ Monitoring และ Responsibility ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการวางกรอบใหญ่ไว้ ซึ่งภายใต้กรอบใหญ่นี้คงต้องมีหลักการปฏิบัติว่าจะมีกระบวนการระบบที่รัดกุมได้มากน้อยแค่ไหน ยังคงต้องรอติดตามจะออกอย่างไร

“ท่าทีของ ก.ล.ต. หรือแม้แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ หากเจอว่ามีการทำจริงคาดว่าจะมีบทลงโทษที่น่าจะออกมาแรง แต่คงต้องดูรายละเอียดกันอีกทีว่าจะมีมาตรการอย่างไร และการที่มีมาตรการ 4 ข้อขึ้นมา เพื่อที่จะให้เกิดการกระชับหรือเข้มข้นในการตรวจสอบมากขึ้น”

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์ออกมาตรการ 4 ด้านเพื่อควบคุม program trading และ short selling นั่น ยังคงจับ specific ไม่ได้ เหมือนเป็นการบอกทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็น Control หรือ Reports หรือ Monitoring และ Responsibility เป็นแค่เพียงหัวข้อ แต่ไส้ในรายละเอียดยังไม่แน่ชัด เช่น Control อย่างไร ความผันผวนเกินกี่เปอร์เซ็นต์แล้วถึงจะ Control หรือแม้แต่กระทั่ง Reports ที่ต้องทำเพิ่มมีเอกสารอะไรบ้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความคาดหวังว่า การทำงานหลังบ้านจะมีการทำ specific มากกว่านี้ เพียงแต่ว่า อาจจะไม่ได้มีการเผยแพร่ออกมา เพราะการที่เผยแพร่ออกมาเช่นนี้ต้องยอมรับว่า เท่าที่ออกมาแบบนี้ไม่สามารถนำไปตีความทำอย่างอื่นไม่ได้ 

ทั้งนี้หากมองในแง่ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความใส่ใจกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น และหลังบ้านจะมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น และหลังจากที่เกณฑ์นี้ออกมาน่าจะทำให้สิ่งที่เคยผิดกฎ ผิดระเบียบเป็นไปได้ยากมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น naked short selling หรือ program trading ที่อาจผันผวนมากเกินไปในอดีต เราก็อาจจะพอคาดหวังได้ว่า ต่อไปจะเกิดขึ้นได้ยากมากขึ้น” 

โดยมองว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยลดลงไปได้บ้าง จากในอดีตที่เกิดภาวะ naked short selling อาจทำให้ลดลงไปได้ หรือ program trading ที่มีความถี่จนเกิดไปอาจจะทำให้มีการลดระดับลงมาในช่วงถัดไปได้ เพราะฉะนั้นความยากง่ายของเทรดดิ้งหุ้นที่โดนโรบอตกินไปค่อนข้างมาก หากในอนาคตโรบอตมีบทบาทลดน้อยลง ก็จะทำให้นักลงทุนระยะสั้น หรือเทรดเดอร์สามารถหาช่องทางในการทำกำไรจากตลาดได้มากขึ้น 

เปิดกฎเข้ม 4 ด้าน ยกระดับมาตรการคุม โปรแกรมเทรด - ชอร์ตเซล เร่งฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน

ทั้งนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาผลการศึกษาเกี่ยวกับ program trading และ short selling ได้บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับสากลมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงข้อสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบกฎระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการขายชอร์ต (short selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (program trading) ที่ใช้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเทียบเคียงกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ทั้งที่อยู่ในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้วและกลุ่มตลาดที่มีการพัฒนาใกล้เคียงกับประเทศไทย (peer exchanges) เพื่อยกระดับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มีความโปร่งใส และเพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมของผู้ลงทุนทุกประเภท

จากผลการศึกษาของที่ปรึกษาพบว่า ในภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ไทยมีกฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่ใช้ในการกำกับดูแลการทำ short selling และ program trading ที่สามารถเทียบเคียงได้กับ peer exchanges แล้ว อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณา เพื่อที่จะเป็นมาตรการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศในปัจจุบัน

ซึ่งในเบื้องต้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการดำเนินการใน 4 ด้าน ดังนี้

  1. การควบคุม (Control): การเพิ่มกลไกการควบคุม program trading และลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ทั้งในภาพรวมและในกรณี short selling อาทิ การกำหนดแนวทางในการติดตามการทำธุรกรรม short selling หรือการมีกลไกควบคุมราคาเพื่อลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์
  2. การรายงาน (Reports): การปรับปรุงรายงาน short selling เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดและการติดตามได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเปิดเผยต่อสาธารณชน
  3. การติดตามและการบังคับใช้กฎเกณฑ์ (Monitoring & Enforcement): โดยการเน้นย้ำความคาดหวังต่อบริษัทสมาชิกในการดูแลให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตามเกณฑ์ รวมทั้งปรับบทลงโทษให้มีความเข้มข้น
  4. การแบ่งความรับผิดชอบ (Responsibility): ซึ่งจะมีการนำเสนอกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแลและตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการดูแลการทำ short selling และ program trading ให้สอดคล้องกับสากล เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถลงโทษต่อผู้กระทำผิดได้โดยตรงและรวดเร็ว

ผลที่ได้จากการดำเนินการทั้ง 4 ด้าน จะสามารถทำให้การป้องกันการทำธุรรรม naked short selling และการทำธุรกรรม program trading ที่ไม่เหมาะสม ทำได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พิจารณาแล้ว และเห็นควรให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำข้อเสนอของที่ปรึกษาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้นำเรื่องที่จะปรับปรุงไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุดต่อไป

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์