ต่างชาติดาวน์เกรด‘หุ้นไทย’ ทุบดัชนีดิ่งแตะ 1,356 จุด ต่ำสุดรอบ 3 ปี

ต่างชาติดาวน์เกรด‘หุ้นไทย’ ทุบดัชนีดิ่งแตะ 1,356 จุด ต่ำสุดรอบ 3 ปี

“หุ้นไทย” วันนี้ (23 ม.ค.67) ร่วงกว่า 17.44 จุด รับเซนทิเมนต์ข่าวร้ายหลังมีรายงานลับจากกระทรวงการคลังเศรษฐกิจไทยโต 1.8% ขณะที่โบรกต่างชาติ “ดาวน์เกรด” หุ้นใหญ่ “กลุ่มแบงก์-พลังงาน” ด้าน “บล.กสิกรไทย” ชี้กระทบ “EPS” ลดลงอยู่ที่ 95 บาท เดิม 100 บาทต่อหุ้น

ความเคลื่อนไหว “หุ้นไทย” วันนี้ (23 ม.ค.66) ดัชนีร่วงกว่า 17.44 จุด มาปิดตลาดอยู่ที่ 1,356.54 จุด หรือลดลง 13.38 จุด หรือ 0.98% มูลค่าซื้อขาย 48,638.21 ล้านบาท ทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี ดัชนีทำจุดต่ำสุด 1,357.97 จุด จากรายงานกระทรวงการคลังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวได้ 1.8% ประกอบกับโบรกเกอร์ต่างประเทศมีการดาวน์เกรดหุ้นใหญ่ของไทยด้วย 

ต่างชาติดาวน์เกรด‘หุ้นไทย’ ทุบดัชนีดิ่งแตะ 1,356 จุด ต่ำสุดรอบ 3 ปี

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า หลังจากที่เอกสารลับหลุดออกมาในเรื่องของจีดีพีที่น่าจะอยู่ที่ 1.8% แต่การสำรวจความเห็นของการวิเคราะห์มองว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะโตได้ประมาณ 2.5% จึงถือว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวกดดันให้เศรษฐกิจไทยอาจจะโตต่ำมาก ซึ่งต้องค่อยติดตามในเดือนก.พ.67 นี้ ที่จะมีการรายงานออกมา และตัวเลขจีดีพีที่หลุดออกมาต้องมาลุ้นกันว่าเป็นตัวเลขจริงหรือไม่

ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยปีที่ผ่านมาต่างชาติขายหุ้นไทยกว่า 192,000 ล้านบาท และปีนี้เดือนม.ค. 67 ต่างชาติขายออกไปประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท

หากดูจากสถิติย้อนหลังส่วนใหญ่ต่างชาติที่ขายออกจะดู EPS หรือกำไรตลาดหุ้น โดย 10 ปีที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อหุ้นไทยมีเพียงแค่ 2 ปี คือปี 2559 ต่างชาติซื้อประมาณ 78,000 ล้านบาท กับปี 2565 ซื้อประมาณ 200,000 ล้านบาท เนื่องจาก 2 ปีนี้หุ้นไทยมี EPS อัปเกรด และมีการโตเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ปีเฉลี่ยที่ 27-30%

ส่วนที่เหลือตลาดหุ้นไทยจะโดนดาวน์เกรดเป็นส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันช่วงโควิดค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง กำไรตลาดหุ้นไทยโตต่ำแค่ 4.4% ในขณะที่อาเซียนโตเฉลี่ย 10% สำหรับในปีนี้มองในระยะสั้นจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี ส่วนใหญ่ในเดือนพ.ค.ทุกปี หุ้นไทยจะโดนดาวน์เกรดแรงๆ รวมถึง Sell in May ที่ไม่แน่ชัดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันด้วยหรือไม่ ทำให้ต่างชาติเทขายออก ดังนั้น ยังคงต้องลุ้นให้เศรษฐกิจจีนดีขึ้นด้วย เพราะท่องเที่ยวยังคงต้องลุ้นจีน ส่งออกด้วยเช่นกัน จึงต้องมาวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนไปพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ EPS ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 95-96 บาทต่อหุ้น จาก 100 บาทต่อหุ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา  ส่วนใหญ่โดนดาวน์เกรดจากกลุ่มพลังงาน หลังจากที่มีความไม่แน่นอนในเรื่องกำไร และกลุ่มแบงก์ปีนี้เริ่มดูแย่ลงจากงบที่ออก รวมถึงกลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มค้าปลีกที่เริ่มจะโดนเช่นกันจากหลายคนเริ่มไม่เชื่อเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต

ดังนั้น แนะนำหากจะลงทุนมีเพียงแค่ 4 กลุ่ม คือ โรงไฟฟ้า GULF GPSC โรงพยาบาล BCH , PR9 กลุ่ม ICT เป็นหุ้น ADVANC ,TRUE และกลุ่มท่องเที่ยว MINT และ AAV เนื่องจากกำไรสิทธิดี

วิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปรับประมาณหุ้นไทยปัจจุบันยังไม่มีปรับแต่อย่างใด เนื่องจากเริ่มมีการประกาศกำไรสิทธิไตรมาส  4 ปี 66 เพียงแค่กลุ่มเดียวคือ กลุ่มแบงก์โดยนักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารได้มีการปรับประมาณการลงมาแล้ว จึงทำให้หุ้นกลุ่มแบงก์ร่วงในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนกลยุทธยังไมได้มีการปรับแต่อย่างใด เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้นปี 2567 จึงยังไม่สามารถที่จะปรับ EPS หรือกำไรต่อหุ้นได้ โดยอาจจะต้องรอให้มีการประกาศกำไรสิทธิไตรมาส 4 ปี 66 ออกมาให้หมดเสียก่อน

ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มธนาคาร บลูมเบิร์ก มีการปรับประมาณการจาก 7 ธนาคารกำไรของกลุ่มที่ต่ำกว่าคาดไป 7% แต่เป็นผลงานของปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะทำให้ในปีนี้มีการปรับฐานลงมาบ้าง ส่งผลให้กำไรในปีนี้น่าจะมีการปรับลงมาเล็กน้อย โดยสาเหตุหลักมาจาก การตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น รวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ NPL ที่จะมีผลต่อผลประกาศหุ้นกลุ่มธนาคารในอนาคตด้วยเช่นกัน จึงทำให้ราคากลุ่มธนาคารที่ทิ้งตัวลง

โดยปีนี้หุ้นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มพลังงาน งบไตรมาส 4 ปี 66 คาดจะออกมาไม่ดี แม้ปีนี้จะเริ่มเห็นค่าการกลั่นเริ่มพลิกฟื้นแต่ยังคงต้องรอลุ้นกันอีกที รวมถึงกลุ่มการบริโภค เนื่องจากมีชะลอตัวเพื่อมาลุ้นใช้นโยบายภาครัฐ และกลุ่มไฟแนนซ์ ที่ยังต้องระมัดระวัง

ทั้งนี้ในส่วนของภาพรวมของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีขายออกไปประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ขายหนักมาก คือ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคาร จากงบไตรมาส 4 ปี 66 ที่ออกมาไม่ดีมากนัก ทำให้นักลงทุนเทขายออกมาเพื่อลดความเสี่ยงลงไปก่อน ส่วนปีที่ผ่านมาขายออกไปประมาณ 200,000 กว่าล้านบาท