GULF ทำสัญญา PPA โซลาร์ฟาร์ม กับ กฟผ.อีก 12 โครงการ กำลังผลิต 644.8 เมกะวัตต์

GULF ทำสัญญา PPA โซลาร์ฟาร์ม กับ กฟผ.อีก 12 โครงการ กำลังผลิต 644.8 เมกะวัตต์

GULF ทำสัญญา PPA โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กับ กฟผ.อีก 12 โครงการ กำลังผลิตรวม 644.8 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ปี 69-72 จากปัจจุบันมีทั้งสิ้น 24 โครงการ ขนาดกำลังรวม 1,294.1 เมกะวัตต์ เดินหน้าตามเป้า เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 40% ภายในปี 78

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 กลุ่มบริษัทย่อยที่บริษัท ถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement)  เพิ่มเติมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพัฒนา และดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) จำนวน 5 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 259.6 เมกะวัตต์

และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) จำนวน 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 385.2 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 12 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมทั้งสิ้น 644.8 เมกะวัตต์ โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. มีระยะเวลา 25 ปี และโครงการ มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2569 – 2572

GULF ทำสัญญา PPA โซลาร์ฟาร์ม กับ กฟผ.อีก 12 โครงการ กำลังผลิต 644.8 เมกะวัตต์

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัท มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ที่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.แล้ว ทั้งสิ้น 24 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 1,294.1 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) จำนวน 13 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 652.9 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) จำนวน 11 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 641.2 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2567 – 2572

โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) มีอัตราจำหน่ายไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ที่ 2.1679 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และ 2.8331 บาทต่อกิโลวัตต์ - ชั่วโมง ตามลำดับ ตลอดอายุสัญญา ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ จะช่วยลดความผันผวนจากราคาเชื้อเพลิง และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนทั้งในภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมให้ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ต่ำตลอดอายุสัญญา เนื่องจากโครงการฯ มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปัจจุบัน

 

การพัฒนาโครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นไปตามแผนของบริษัท ที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ภายในปี 2578 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่มุ่งผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดเพื่อเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยบริษัท มีแผนการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

ด้าน บริษัทกันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL แจ้งว่าตามที่กลุ่มได้ยื่นข้อเสนอตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สาหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และบริษัท ได้รับคัดเลือก ในการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ปี 65 นั้น

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 66 กลุ่มบริษัทย่อยที่บริษัท ถือหุ้นทางตรงผ่านบริษัท กันกุล โซลาร์ พาวเวอร์เจน จำกัด บริษัท กันกุล วัน เอ็นเนอร์ยี 2 จำกัด และบริษัท กันกุล วัน เอ็นเนอร์ยี 9 จำกัด  ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี สำหรับโครงการ Solar Farms รวม 8 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 429.6 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 69 - 73

ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ครบตามกำหนด จะส่งผลให้บริษัทมีกาลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาโดยรวมสูงขึ้นเป็น 1,045.15 เมกะวัตต์ จากเดิม 615.55 เมกะวัตต์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 70%

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์