'บลจ.กรุงไทย- บัวหลวง' จ่อตั้ง'กองทุนThai ESG' 1 หมื่นล้าน มองเป็นโอกาสดีลงทุน

'บลจ.กรุงไทย- บัวหลวง' จ่อตั้ง'กองทุนThai ESG'  1 หมื่นล้าน มองเป็นโอกาสดีลงทุน

 “บลจ.กรุงไทย-บัวหลวง”จ่อจดทะเบียนตั้งกองทุน Thai ESG  มูลค่า 5 พันล้าน-หมื่นล้าน  "ชวินดา" เร่งจัดตั้งเร็วที่สุด มองเป็นโอกาสดี "ออมเงิน-หนุนอีเอสจี-ประหยัดภาษี"  ด้าน "พีรพงศ์" ตั้งเป้ายอดขายช่วงไอพีโอเดือนธ.ค.66แตะ"พันล้าน"เป็นจังหวะดีการลงทุนได้ราคาเหมาะสม

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับ การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund หรือ Thai ESG )  ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกหลักเกณฑ์รองรับกองทุนรวมกองทุนThai ESG

โดยคาดว่าก.ล.ต.จะนำหลักเกณฑ์รองรับกองทุนรวมกองทุนThai ESG ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณต้นเดือนธ.ค. 2566 โดยในระหว่างนี้ ก.ล.ต. เปิดให้ บลจ. สามารถส่งร่างเอกสารจัดตั้งกองทุนให้ ก.ล.ต. พิจารณาได้ล่วงหน้า และภายหลังประกาศมีผลบังคับใช้ ก.ล.ต. จะได้สามารถจัดตั้งกองทุนในต้นเดือนธ.ค.

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และกรรมการผู้จัดการ  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 24 พ.ย. 2566 ทางสมาคมบลจ.และบลจ.สมาชิก จะมีการประชุมซักซ้อมเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดตั้งกองทุนThai ESG กับทางก.ล.ต.

ทั้งนี้ทางสมาคมบลจ.จะมีการสอบถามไปยังบลจ.ทุกแห่งว่ามีบลจ.ไหนบ้างที่ประสงค์จัดตั้งกองทุนThai ESG ในเดือนธ.ค.  ซึ่งส่วนตัวมองอาจจะมีบลจ.บางส่วนที่ไม่ได้จัดตั้งกองทุนและเสนอขายได้ในเดือนธ.ค.2566 เนื่องจากมีข้อติดขัด อย่างเช่น บลจ.ใหม่ๆอาจจะยังไม่มีความพร้อมในการจัดตั้งกองทุนในช่วงสิ้นปีนี้ 

 

สำหรับบลจ.กรุงไทย มีแผนที่จัดตั้งกองทุนThai ESG ให้เร็วที่สุด โดยเบื้องต้นจะมีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท  ซึ่งส่วนตัวมองว่ากองทุน Thai  ESG เป็นโอกาสที่ดีของผู้ที่ต้องการบริหารเงินออม ประหยัดภาษี และเป็นการเปิดโอกาสให้คนเข้ามีส่วนร่วมทางด้าน ESG ด้วย 

"กองทุนThai ESG Fund เป็นโอกาสที่ดีใน3ด้าน คือ 1.การตั้งต้นในการออมเงิน 2. เป็นส่วนหนึ่งสนับสนุนด้านESG และ3.ประหยัดภาษี "

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง(BBLAM) กล่าวว่า  บลจ.บัวหลวงเพิ่งได้รับอีเมลจากสมาคมบลจ.เช้าวานนี้ (22 พ.ย.66)ในเรื่องการจัดตั้งกองทุนThai ESG ว่าหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งคาดว่านายกรัฐมนตรีจะลงนามเป็นกฎกระทรวงในวันที่ 30 พ.ย.  

 รวมถึงคาดว่าก.ล.ต.นำร่างประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณวันที่ 1 ธ.ค. 2566  และในวันศุกร์ที่ 24 พ.ย. ก.ล.ต.จะมีการประชุมเพื่อซักซ้อมเหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆในการจัดตั้งกองทุน Thai  ESG กับทางสมาคมบลจ.และบลจ.ต่างๆ   แต่ด้วยระยะเวลาที่กระชั้นชิดอาจจะมีบลจ.บางส่วนจัดตั้งและเสนอขายกองทุนไม่ทันในเดือนธ.ค.2566 เพราะระบบหลังบ้าน (Back Office) ของแต่ละบลจ.จะต้องมีความพร้อม รวมถึงประสานกับทางทรัสตี (ผู้ดูแลผลประโยชน์) นายทะเบียน  และบุคลากรในการเตรียมข้อมูลลูกค้าส่งให้ทางกรมสรรพากร ฯลฯ   

 นายพีรพงศ์ กล่าวว่า บลจ.บัวหลวง มีแผนจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนThai ESG  ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท และคาดว่าเปิดขายได้ทันภายในเดือนธ.ค. โดยเบื้องต้นบลจ.บัวหลวงคาดว่าในช่วงเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) จะขายกองThai ESG ได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท   แต่ในส่วนของการลงทุนนั้นยังมีความไม่แน่นอนว่าจะลงทุนทันหรือไม่ในเดือนธ.ค.2566 เพราะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน และเดือนธ.ค.เป็นเดือนที่มีวันหยุดหลายวัน 

 สำหรับการเสนอขายกองทุนThai ESGในช่วงเดือนธ.ค.2566 ถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวลงมามากแล้ว ตอนนี้ดัชนีอยู่ระดับ1,400 จุด ซึ่งเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะได้ลงทุนในหุ้นESG ในราคาที่ไม่สูงและหากมองไประยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยคาดว่าในปีหน้าจะมีการเติบโตที่ดีกว่าในปีนี้ จากภาคส่งออก และงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลผ่านแล้ว  มีความหวังรัฐบาลจะมีการกระตุ้นด้านการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง 

นางสาวธิดา ศิริศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการสายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า บลจ.กสิกรไทยมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการจัดตั้งกองทุนThaiESG เพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลงทุนและสร้างความยั่งยืนให้กับตลาดทุนโดยรวมในระยะยาว คาดว่าจะพร้อมเสนอขายภายในช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้ในเบื้องต้น1กองทุนยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

 “หุ้นESGแนวโน้มดีมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเนื่องจากผู้ลงทุนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ดำเนินงานตามหลักESGโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสังคมการกำกับดูแลที่ดีประกอบไปด้วยกันกับผลกำไรเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนในระยะยาวอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน”

 ในด้านบลจ.อื่นๆ เช่ นบลจ.อีทส์ปริง บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.กรุงศรี บลจ.ยูโอบี และอื่นๆตอนนี้หลายๆบลจ.กำลังทำเรื่องยื่นของอนุมัติจัดตั้งกองทุนกับก.ล.ต.ก่อนซึ่งอาจมีนโยบายการลงทุนทั้งแบบPassiveและActiveเพื่อเป็นทางเลือกหลากหลายให้กับนักลงทุน