JKN กำไร 9 เดือน 115 ล้านบาท – ผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่อข้อมูลงบการเงิน

JKN กำไร 9 เดือน 115 ล้านบาท – ผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่อข้อมูลงบการเงิน

JKN แจ้งงบ 9 เดือน กำไรสุทธิ 115 ล้านบาท ลดลง 23% เผยธุรกิจการขาย และมิสยูนิเวิร์สมีผลขาดทุน ด้านผู้สอบบัญชีกรณีไม่ให้ข้อสรุปต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาล ล่าสุด กรรมการบอร์ดลาออก 5 คน - พร้อมตั้งกรรมการใหม่แทน

             นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลประกอบการงวด 9 เดือนปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 115 ล้านบาท ลดลง 23.87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายรวมที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าด้านรายได้มีการเติบโตขึ้นเกือบทุกด้าน  

ส่วนต้นทุนบริการของธุรกิจการขาย และให้บริการจัดการสิทธิของมิสยูนิเวิร์สมีผลขาดทุนเนื่องจากเป็นการจัดงานครั้งแรก และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้จากเหตุผลที่กล่าวจึงส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือนปี 2566 ปรับตัวลดลงเป็น 4.89% จาก 9.38% ในปี 2565 และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเมื่อเทียบกับรายได้รวมสำหรับงวด 9 เดือนปี 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 22.59% จาก 19.43% ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในส่วนการขาย และให้บริการจัดการสิทธิของมิสยูนิเวิร์ส บริษัทได้มีการทำสัญญากับคู่สัญญาในธุรกิจหลากหลายด้านที่เกี่ยวเนื่องกับ MUO ณ 30 กันยายน 2566 โดยบริษัทได้มีการทยอยรับเงินตามงวดในสัญญาไว้แล้ว

ทั้งนี้ บริษัทได้บันทึกการรับเงินตามงวดรายการของสัญญาเหล่านั้นภายใต้หัวข้อ “รายได้รอตัดบัญชี” (ตามรายงานผู้สอบบัญชี) จำนวน 251 ล้านบาท โดยจำนวนดังกล่าวจะมีการรับรู้เป็นรายได้ภายในไตรมาส 4/66

สำหรับงวด 9 เดือนปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวมเท่ากับ 2,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 742 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 45.88%  ทั้งนี้รายได้ของบริษัท และบริษัทย่อยในแต่ละธุรกิจสำหรับงวด 9 เดือนปี 66 มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรายได้ประเภท เดียวกันจากปีก่อนดังนี้โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกธุรกิจของบริษัทยกเว้นธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์

โดยรายได้อื่น รายได้ค่า สิทธิจากธุรกิจให้บริการ และจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการ เพิ่มขึ้นเท่ากับ 38.42% รายได้จากการให้บริการจากธุรกิจ บริการโฆษณา เพิ่มขึ้นเท่ากับ 2.57% รายได้จากการขายจากธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลดลงเท่ากับ 24.12% และในขณะที่รายได้จากการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ขององค์กรนางงามจักรวาลเพิ่มขึ้นเท่ากับ 100% และรายได้อื่นลดลงเท่ากับ 45.60%

นอกจากนี้ ขอชี้แจงผลรายงานผู้สอบบัญชีกรณีไม่ให้ข้อสรุปต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาล สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2566 ตามที่บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บริษัท) ได้นำส่งงบการเงินสำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ของบริษัท ซึ่งผู้สอบบัญชีได้สอบทานและรับรองงบการเงิน โดยไม่ให้ข้อสรุปต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลที่สอบทาน ดังต่อไปนี้

1. การขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ตามที่ได้เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1.2 เนื่องจากกลุ่มบริษัทบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินไม่เป็นไปตามแผนส่งผลให้บริษัทผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รุ่น JKN239A การผ่อนผันการชำระหนี้รวมถึงการเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงระยะเวลาชำระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าวตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 27 กันยายน 2566

ถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ จำนวน รุ่น Cross Default ตามข้อกำหนดสิทธิ นอกจากนี้ยังถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้สินเงินกู้จากสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน ทำให้บริษัทต้องพิจารณาจัดประเภทหนี้สินประเภทหุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ และหนี้สินเงินกู้จากสถาบันการเงินเป็นหนี้สินหมุนเวียนทั้งหมด ณ วันที่ 30 กันยายน 2566

กลุ่มบริษัทจึงมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมสำหรับงบการเงินรวมจำนวนเงิน 4,285.52 ล้านบาท และงบการเงินเฉพาะกิจการจำนวนเงิน 3,256.15 ล้านบาท สถานการณ์ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาขอขยายการชำระหนี้สิน และไม่เรียกร้องให้ชำระหนี้โดยพลัน (Call Default) และอยู่ระหว่างการหาแหล่งเงินทุนใหม่การปรับโครงสร้างกิจการ และการปรับโครงสร้างทางการเงินใหม่

ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 มีมติให้บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยในวันที่8 พฤศจิกายน 2566 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท และกำหนดวันไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 มกราคม 2567 ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหมดจะส่งผลต่อการเรียกชำระคืนของหนี้สิน และอาจถูกฟ้องร้องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินโดยพลัน และการจ่ายชำระหนี้สินหมุนเวียนจึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการปรับแผน จากสถานการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในการจ่ายชำระหนี้สิน และการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท

2. การผิดนัดชำระหนี้

ตามที่ได้เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1.2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 บริษัทผิดนัดชำระหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2563 ครบกำหนดไถ่ถอนปี2566 (JKN239A) จำนวนเงินต้น และดอกเบี้ยทั้งสิ้น 609.98 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการผิดนัดชำระหนี้รุ่น JKN239A ส่งผลให้เข้าหลักเกณฑ์ เรื่องการผิดนัดชำระตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขอันถือเป็นเหตุผิดนัดของหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ที่บริษัทออก และยังมิได้ไถ่ถอนทั้งหมด และในวันที่ 4 กันยายน 2566 ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้แจ้งการผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ Cross Default และวันที่ 27 กันยายน 2566 บริษัทได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่นดังกล่าวว่าอนุมัติให้เลื่อนการชำระคืนเงินต้นจำนวนเงิน 19.5 ล้านบาทไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ส่วนที่เหลือจำนวนเงิน 432.45 ล้านบาท ให้ชำระคืนในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 และปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มจากเดิมร้อยละ 6.60 ต่อปีเป็นอัตราร้อยละ 7 ต่อปี และผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติขอผ่อนผันให้การผิดนัดชำระเงินต้น และดอกเบี้ยในวันครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 1 กันยายน 2566 ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนด และไม่เรียกชำระหนี้ตามหุ้นกู้โดยพลัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 บริษัทได้รับหนังสือจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อเรียกให้บริษัทชำระเงินต้นหุ้นกู้ และดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบริษัททั้งหมดตามที่ได้เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 20 ตั้งแต่วันที่31 สิงหาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2566 บริษัทไม่สามารถจ่ายชำระหนี้สินเงินกู้จากสถาบันการเงินตามเงื่อนไขในสัญญาจำนวน 3 แห่ง จำนวนเงิน 54.64 ล้านบาท และในเดือนกันยายน และตุลาคม 2566 บริษัทได้รับหนังสือเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้บางส่วนที่ครบกำหนดชำระแล้วตามสัญญาจากสถาบันการเงิน

 อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน บริษัทได้ทำหนังสือขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้กับสถาบันการเงิน 3 แห่ง และขอให้สถาบันการเงินไม่เรียกร้องให้บริษัทชำระหนี้ทั้งหมดทันที แต่ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้หนังสือยืนยันจากสถาบันการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทยังไม่ได้ตั้งประมาณการความเสียหายและดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่อาจเกิดขึ้นในงบการเงิน

3. การประเมินการด้อยค่า

กลุ่มบริษัทมีมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อยจำนวนเงิน 2,460.31 ล้านบาท เครื่องหมายการค้าจำนวนเงิน 1,333.31 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนประเภทลิขสิทธิ์รายการจำนวนเงิน 6,277.65 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อบ่งชี้ว่าสินทรัพย์ดังกล่าวอาจด้อยค่า และมีค่าความนิยมจำนวน 717.96 ล้านบาท ที่บริษัทต้องทดสอบและประเมินด้อยค่าทุกปี สินทรัพย์ทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินการประเมินโดยผู้ประเมินอิสระสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น มีผลกระทบ และมีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งแสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท และอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ และหนี้สินที่มีสาระสำคัญในงบการเงินรวม และงบการเงินเฉพาะกิจการ

บริษัทใคร่ขอชี้แจงว่าการที่ผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลของบริษัท สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหารแต่เกิดจากผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญตามสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ ขอแจ้งว่า บริษัทได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และกรรมการชุดย่อยของบริษัทจากกรรมการทั้งสิ้น 5 ท่าน โดยมีรายชื่อกรรมการที่ลาออก ดังต่อไปนี้

1. พลเรือเอกอภิชาติ เพ็งศรีทอง ลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ และประธานกรรมการ เนื่องจาก ปัญหาด้านสุขภาพ มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

2. นางสาวอนงค์ พานิชเจริญนาน ลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ เนื่องจาก ติดภารกิจส่วนตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

3. นายสุรชัย ชมภูไพสร ลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ ประธานกรรมการตรวจสอบ กรรมการบริหาร ความเสี่ยง และประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน เนื่องจาก ติดภารกิจส่วนตัว มีผลตั้งแต่ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

4. นายยุทธพงศ์ มา ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ เนื่องจาก ทิศทาง และกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง และความไม่แน่นอนของการทำธุรกิจในอนาคตของบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

5. นายเอกภิสิทธ์ สุทธิกุลพานิช ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ เนื่องจาก ทิศทางและกลยุทธ์การแก้ไข ปัญหาสภาพคล่อง และความไม่แน่นอนของการทำธุรกิจในอนาคตของบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

ในการนี้ บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งกรรมการเข้ามาเพื่อปฏิบัติงานแทนกรรมการที่ลาออกเพื่อให้สามารถดำเนินการกิจการของบริษัทได้ต่อไป

ทั้งนี้ การลาออกของกรรมการจำนวนทั้ง 5 ท่านดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

โดยบัดนี้ บริษัทได้ดำเนินการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 11/2566 ได้มีมติแต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่แทนที่กรรมการเดิมที่ ลาออก ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

1. แต่งตั้งนางสาวรับพร พรหมวงศานนท์ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนนายยุทธพงศ์ มา โดยดำรง ตำแหน่งกรรมการอิสระ ประธานกรรมการ และกรรมการบริหารความเสี่ยง มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

2. แต่งตั้งนายสุนทรสิงห์ วิทยปิยานนท์ เข้าดํารงตําแหน่งกรรมการแทนนายสุรชัย ชมภูไพสร โดยดำรง ตำแหน่งกรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

3. แต่งตั้งนายสรรดิลก จันทร เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนนายเอกภิสิทธ์ สุทธิกุลพานิช โดยดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และประธานกรรมการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทน มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์