ก.ล.ต.กล่าวโทษบอร์ด-ผู้บริหาร WORLD ทุจริตซื้อขายที่ดินให้บริษัทเสียหาย

ก.ล.ต.กล่าวโทษบอร์ด-ผู้บริหาร WORLD ทุจริตซื้อขายที่ดินให้บริษัทเสียหาย

ก.ล.ต. กล่าวโทษ นายจิรศักดิ์ จิยะจันทน์ (Mr. Chirasak Chiyachantana) กรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WORLD) และนางสาวจิรวิน หงษ์ศรี (Ms. Chirawin Hongsri) ต่อ บก.ปอศ. กรณีกระทำทุจริตซื้อขายที่ดินทำให้บริษัทเสียหาย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับแจ้งเบาะแสและตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2560 นายจิรศักดิ์ (ขณะกระทำผิดดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WORLD) ได้เบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นเหตุให้ WORLD ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่ารวม 30 ล้านบาท

โดยมีนางสาวจิรวิน เป็นผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของนายจิรศักดิ์ ในกรณีที่ WORLD ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และได้จ่ายเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำนวน 30 ล้านบาท ให้กับบริษัทคู่ค้า

 

จากพยานหลักฐานพิจารณาได้ว่าบริษัทคู่ค้าได้คืนเงิน จำนวน 30 ล้านบาท ให้กับ WORLD ผ่านนางสาวจิรวินและนายจิรศักดิ์แล้ว แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่านายจิรศักดิ์หรือนางสาวจิรวินได้นำเงินจำนวนดังกล่าวกลับไปคืนให้ WORLD แต่อย่างใด และแม้ว่าต่อมาในปี 2566 นางสาวจิรวินจะได้นำเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยไปคืนให้กับ WORLD แล้ว แต่การกระทำความผิดตามที่กล่าวข้างต้นนั้น ได้สำเร็จไปตั้งแต่มีการเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริตแล้ว

การกระทำของนายจิรศักดิ์และนางสาวจิรวิน เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 2 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป  

การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียน นับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ