CPF ไตรมาส 3/66 ขาดทุน 1.8 พันล้าน เหตุต้นทุนสูง - ราคาสุกรตกต่ำ คาดไตรมาส 4 ฟื้น

CPF ไตรมาส 3/66 ขาดทุน 1.8 พันล้าน เหตุต้นทุนสูง - ราคาสุกรตกต่ำ คาดไตรมาส 4 ฟื้น

CPF เผยไตรมาส 3/66 มียอดขาย 144,498 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 1,837 ล้านบาท ลดลง 135% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เหตุทุนพุ่ง บวกราคาสุกรตกต่ำ คาดไตรมาส 4 และปีหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัว

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF  แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 144,498 ล้านบาท เป็นส่วนของกิจการต่างประเทศ 62% และกิจการประเทศไทย 38% 

มีผลขาดทุนสุทธิในส่วนของบริษัท 1,837 ล้านบาท ลดลง 135% เมื่อเทียบจากไตรมาสเดียวกันปี 2565 เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส ปี 2566 ที่ 11% ต่ำกว่าปีที่แล้ว ที่ 15% 

จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ และราคาพลังงาน ประกอบกับราคาสุกรในหลายประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน  โดยเฉพาะในประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา มีราคาเฉลี่ยลดลง 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณเนื้อสุกรมีมากกว่าความต้องการบริโภค โดยในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปริมาณการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ (ผิดกฎหมาย) จำนวนมากอีกด้วย  

นอกจากนี้ ธุรกิจสุกรของบริษัทร่วมในประเทศจีนประสบปัญหาราคาตกต่ำเช่นกัน จากภาวะสินค้าล้นตลาดในขณะที่ความต้องการบริโภคยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ  

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CFP กล่าวถึงผลการดำเนินงานว่า ปีนี้เป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจมีความท้าทายจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ไม่เป็นไปตามคาด กำลังซื้อถดถอย ต้นทุนต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น เช่น อัตราดอกเบี้ย และราคาวัตถุดิบทางการเกษตรจากความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้าหมาย  บริษัทมีนโยบายในการลงทุน และใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง  ติดตามการดำเนินงาน และสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

พร้อมทั้งปรับแผนการลงทุน เช่น การพิจารณาการใช้ทรัพย์สินในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดหรือหยุดดำเนินกิจการที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้  ซึ่งคาดว่า จะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป

สำหรับปีหน้า  บริษัทมองว่าความท้าทาย และความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และภูมิสังคมน่าจะยังคงมีอยู่ โดยยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญในการบริหารค่าใช้จ่ายภายใน รวมถึงลงทุนอย่างรอบคอบ และระมัดระวัง เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเน้นการดำเนินงานที่มีการใช้สินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินงานด้านการตลาดและการขายด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เหล่านี้จะทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะดีขึ้นเป็นลำดับ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์