ตลาดหุ้นรีบาวด์ - วอลุ่มวูบบีบ 'รายย่อย' เวลท์ติดลบ

ตลาดหุ้นรีบาวด์ - วอลุ่มวูบบีบ 'รายย่อย' เวลท์ติดลบ

3 วันที่ผ่านมา (2-3 และ 6 พ.ย.66) ตลาดหุ้นทั่วโลกสามารถรีบาวด์ได้ต่อเนื่อง ภาพใหญ่วัฏจักรดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ส่งสัญญาณยุติดอกเบี้ยขาขึ้น เมื่อกลับมาดูตลาดหุ้นไทยที่รีบาวด์ตามเหมือนกันปรากฏ  “กลับไร้แรง” วอลุ่มกลับลดลง

         ดัชนีหุ้นไทยรีบาวด์เกือบ 60 จุด จากจุดปิดต่ำสุด 1,371  จุด (26 ต.ค.66)  ที่ 1,431 จุด (6 พ.ย.66) ก่อนจะพลิกมาปิดตลาดในแดนลบที่ระดับดัชนี 1,417.21  จุด  สวนทางตลาดหุ้นเอเชียยืนบวกได้ตลอดทั้งวัน NIKKEI ของ ญี่ปุ่บวก 758.59 จุด , Hang Seng  ฮ่องกง บวก 302.47 จุด  ,Shanghai  จีนบวก 27.61 จุด , KOSPI  เกาหลีใต้บวก 134.03  จุด  และ TAIEX ไต้หวันบวก  141.71 จุด เป็นต้น

     ด้านมูลค่าการซื้อขายหรือวอลุ่มในตลาดหุ้นไทยที่กลับมารีบาวด์ กลับยังเฉลี่ยลดลงวอลุ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 ล้านบาทต่อวัน จากค่าเฉลี่ย 60,000  ล้านบาท สะท้อนตลาดหุ้นยังอยู่ในภาวะไร้สภาพคล่อง

     ปัจจัยดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการเทขายของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องตลอดรวมเกือบ 8 เดือน (เม.ย. – ต.ค.66)   จนทำให้ยอดขายสุทธิอยู่ที่  172,992.82 ล้านบาท  ขณะที่รายย่อยเป็นผู้ซื้อสุทธิ  109,630.13  ล้านบาท และกองทุน-สถาบันที่ซื้อสุทธิอีกทาง  67,781.05  ล้านบาท

        ตลาดหุ้นรีบาวด์ - วอลุ่มวูบบีบ \'รายย่อย\' เวลท์ติดลบ

       ดังนั้นทุกรอบที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงไปเรียกได้ว่ามี “กลุ่มนักลงทุนรายย่อยเก็บหุ้น – ช้อนหุ้น หรือถัวเฉลี่ยหุ้นเข้ามาในพอร์ตอย่างต่อเนื่อง “แต่หากมาดูตัวเลขสัดส่วนนักลงทุนแยกตามประเภทปี 2566 ล่าสุด กลับกลายเป็นรายย่อยกลับเผชิญ “ความมั่งคั่งหรือเวลท์หายไปถึงขั้นติดลบ” อย่างต่อเนื่อง

       สัดส่วนรายย่อยในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 31.85 % เป็นการลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 35.47 %  กองทุน - สถาบันมีสัดส่วน   8.415 % ลดลงเทียบกับปีก่อนที่ 7.95 % แต่กลุ่มต่างชาติกลับมาสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น  52.09 %   จากปีก่อนอยู่ที่ 48.02 %  

      ตัวเลขดังกล่าวดูเพียงสัดส่วนนักลงทุนมองได้ว่าต่างชาติสนใจลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น เป็นสัญญาณดีเชื่อมั่นในกลุ่มอุตสาหกรรมยังเติบโต  แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขยอดขายสุทธิที่ต่างชาติไล่ขายมาอย่างต่อเนื่องกลับได้คำตอบว่า “เป็นการไล่ขายหุ้นไทยทุกวิถีทาง และกดให้หุ้นไทยลงลึก”

         ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายระบบเทรดกระดานหลัก  – ทำธุรกรรมขายซอร์ตหุ้น (short-selling) ผ่านรูปแบบทั้งโรบอตเทรด  (Bot Trade) หรือจะมีกลุ่ม  naked short selling ผสมเข้ามาอีก   ล้วนแต่ได้เปรียบกลุ่มนักลงทุนที่เรียกว่า รายย่อย แทบทั้งสิ้น

        ภาพการเทขายหุ้นของต่างชาติแม้จะมาจากภาพใหญ่ หรือเศรษฐกิจไทยไม่เติบโตมาก เกิดภาวะสงคราม แต่อีกด้านมี “กฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวย” ให้ต่างชาติที่มีเม็ดเงินมหาศาลใช้กลไก และช่องทางตลาดหุ้นไทยเทขาย เป็นการ “เอาเปรียบรายย่อย” ที่มีเงินลงทุนจำกัดไปด้วย

        นอกจากปัจจัยการเทขายหุ้นต่างชาติแล้วรายย่อยเผชิญวิกฤติความเชื่อมั่นหดหายหลายเคส ติดๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีหุ้น MORE ปล้นเงิน 11 โบรกเกอร์  ไปแบบหน้าตาเฉย เดือนพ.ย.2565   ถัดมากรณี STARK ที่ไซฟ่อนเงินในบริษัทออกมา และยังลามไปยังเงินกู้ธนาคาร – เงินเพิ่มทุน – และหุ้นกู้ จนกลายเป็นความเสียหายที่น่าอัปยศสำหรับหุ้นไทย 

        เดือนต.ค. ถึงคราว หุ้นไอพีโอ ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหญ่มีฐานรายย่อยสูงที่เข้าไปลงทุน เกิด”เคสต่ำจองตั้งแต่เข้าซื้อขายวินาทีแรก” ในหลายๆ หุ้นติดๆ กัน  จากการตั้งราคาไอพีโอเกินแวลู การกระจายหุ้นเฉพาะกลุ่ม การนำนักเทรดเดอร์ – ดาราในตลาดหุ้น มาเป็น market maker  และวงแตกกันเอง - เจ้าของเข้ามาร่วมด้วยการใช้นอมินีขายหุ้นซะเอง รวมไปถึงการจัดสรรเข้าตลาดหุ้นที่ “ไม่เน้นช่วงเวลา แต่เน้นปริมาณ”

      จนทำให้เวลานี้ตลาดหุ้นไอพีโอล้มระเนระนาด หุ้นดี – พื้นฐานแน่นเจอหางเร่ ราคามีดิสเคาท์กลับไร้นักลงทุนจองซื้อจนต้องเลื่อนการเข้าตลาดหุ้นออกไปเป็นปีหน้าแทนกันเป็นแถว  จากวันนี้ “รายย่อย” ขาดทุนอ่วม  ติดดอย  เงินขาดหน้าตัก   และยังเพิ่มความไม่เชื่อมั่นเข้ามาว่าหุ้นที่ลงทุนศึกษาพื้นฐานมาเป็นอย่างดีแล้วก็ยังถูกปล้นเอาไปอย่างง่ายดายในตลาดหุ้นไทยตอนนี้

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์