บล.ทรีนีตี้ ชี้ครึ่งหลังของเดือนพ.ย. ‘ตลาดหุ้นไทย’ มีโอกาสทยอยฟื้นตัว

บล.ทรีนีตี้ ชี้ครึ่งหลังของเดือนพ.ย. ‘ตลาดหุ้นไทย’ มีโอกาสทยอยฟื้นตัว

“ทรีนีตี้” มองกรอบดัชนีหุ้นไทย เดือน พ.ย. แนวรับ 1350 จุด และแนวต้าน 1450 จุด สาระพัดปัจจัยลบรุมเร้า แต่ ครึ่งเดือนหลังมองดีขึ้น คาดหวังมาตรการภายใน และการฟื้นตัวของหุ้น DELTA แนะสะสมมาก่อนหน้านี้ กลุ่ม ค้าปลีก CPALL, CPAXT, BJC, CRC, HMPRO, GLOBAL, DOHOME, TNP

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด                เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่า สำหรับภาพตลาดหุ้นไทยในเดือนพ.ย. คาดว่าจะอยู่ในช่วงสุดท้ายของการสร้างฐานรอบนี้ โดยในช่วงแรกของเดือน ดัชนีอาจจะยังปรับตัว Overhang จากความไม่ชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมไปถึง Noise รบกวนจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ยังคงยืดเยื้อและผลประกอบการไตรมาส 3 ของบจ.ไทยที่อ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงกับอุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ดี พอเวลาดำเนินไป

ประเมินว่าปัจจัยเหล่านี้จะสะท้อนเข้าไปอยู่ในราคาสินทรัพย์ต่างๆมากขึ้น จนทำให้ในช่วงครึ่งเดือนหลัง อาจเริ่มเห็นความคาดหวังเชิงบวกที่เข้ามากระทบได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีปัจจัยใดที่ทำให้เชื่อได้ว่า Fed ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายผ่านพ้นไปแล้ว ไม่นับรวมกับข่าวดีทางด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่คาดว่าจะออกมามากขึ้น และการทยอยปรับตัวขึ้นของหุ้น DELTA หากข้อมูลการซื้อขายเดือนนี้ยืนยันการดำรงอยู่ของตัวหุ้นในดัชนีสำคัญต่อไปในปีหน้าประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET ในเดือนพ.ย.จะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 1350 จุด และแนวต้านอยู่ที่ระดับ 1450 จุด

สำหรับปัจจัยสำคัญที่น่าติดตามในเดือนนี้ได้แก่1.ความชัดเจนของมาตรการ Digital Wallet โดยต้องรอติดตามจากการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ 2.การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนประจำไตรมาส 3/66 รวมถึงแนวโน้มในช่วงถัดไป ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับประมาณการของนักวิเคราะห์ในตลาด รวมถึง Valuation ของดัชนีโดยอัตโนมัติ 3.ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯที่จะออกมาในเดือนนี้ รวมถึงความเห็นของกรรมการ Fed คนต่างๆ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อไปยัง Fed Funds futures และการปรับตัวของ Bond yieldและ 4.พัฒนาการของสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

ในเชิงกลยุทธ์ แนะถือครองหุ้นที่ได้เข้าสะสมมาก่อนหน้านี้ มองกลุ่มที่น่าสนใจยังคงได้แก่กลุ่มค้าปลีกที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศ ได้ประโยชน์จากมาตรการลดค่าครองชีพ และเตรียมได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงถัดไป ซึ่งส่วนใหญ่หุ้นในกลุ่มนี้ Earnings เตรียมจะปรับตัว Bottom out จากจุดต่ำในไตรมาส 3 ได้ อาทิ CPALL, CPAXT, BJC, CRC, HMPRO, GLOBAL, DOHOME, TNP

นายณัฐชาต กล่าวว่า วานนี้ (31 ตุลาคม) ธปท.รายงานตัวเลขฐานเงินอย่างกว้าง (M2) เดือนก.ย.พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น MoM ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สร้างความคาดหวังเชิงบวกต่อสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยได้บ้าง 

ทั้งนี้ จากการศึกษาของเราพบว่าตัวเลขดังกล่าวมักมีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับการมีส่วนร่วมของนักลงทุนทั่วไป รวมถึง Performance ของหุ้นขนาดกลาง-เล็กในช่วงถัดไป ดังนั้นหากสัญญาณ M2 ยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง เราอาจคาดหวังการทยอยฟื้นตัวของหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ทั้งในแง่ของสภาพคล่องและในมิติของผลตอบแทนขึ้นมาได้บ้าง หลังจากที่กลุ่มดังกล่าวปรับตัว Underperform มาตลอดทั้งปี