‘หุ้นไทย’ ติดอันดับย่ำแย่สุดในโลกลดลง 15%

‘หุ้นไทย’ ติดอันดับย่ำแย่สุดในโลกลดลง 15%

SET Index ไทยร่วงอย่างหนัก และเมื่อเทียบกับดัชนีทั่วโลกถือว่า ติดลบมากสุดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึง 15% ขณะที่ดัชนีนิเกอิ ของญี่ปุ่นบวกสวนตลาดได้อย่างสวยหรูเฉียด 20%

ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากบอนด์ยิลด์ 10 ปีที่พุ่งสูงขึ้น บวกกับเฟดที่คาดว่าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ขณะที่สงครามตะวันออกกลางยังคงต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง ว่าจะลุกลามบานปลายหรือไม่

ปัจจัยลบเหล่านี้ส่งให้ดัชนี SET Index ของไทยปรับตัวร่วงอย่างหนัก และเมื่อเทียบกับดัชนีทั่วโลกถือว่า ติดลบมากสุดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึง 15% ขณะที่ดัชนีนิเกอิ ของญี่ปุ่นบวกสวนตลาดได้อย่างสวยหรูเฉียด 20%

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า ในฝั่งของตลาดหุ้นที่สามารถให้ผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังจากที่หลายประเทศกำลังอยู่ในโหมดของการคุมเข้มนโยบายการเงินในช่วง 1 - 2 ปี ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นประเทศเดียวที่ใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบสุดโต่ง หรือการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ 

ฉะนั้นในเชิงสภาพคล่องที่คอยหล่อเลี้ยงยังถือเป็นประเทศที่ยังสูงกว่า ประเทศอื่น ๆ จึงถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีความคงทนกับสภาวะการณ์เช่นนี้ ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ญี่ปุ่นสามารถ Outperform ได้ในปีนี้ โดยดัชนี ดัชนี Nikkei บวกตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ +19.8% ส่วนดัชนี Taiwan Weighted +16%  ดัชนี S&P 500 +11.4%  ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมัน +8.10% และ ดัชนี VN เวียดนาม +7.9%

ส่วนในทางกลับกันตลาดหุ้นที่ติดลบมากจะเห็นได้ว่าจะอยู่ในโซนอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต เอเชีย ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ยังมีมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก่อให้เกิดภาวะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เพราะฉะนั้นจึงกระทบกับ อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่า จึงเป็นปัจจัยเร่งให้ฟันโฟลว์ไหลออก อย่างเช่นตลาดหุ้นไทย -15% ที่ได้รับแรงกดดันมากกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ ขณะที่ ดัชนี ดัชนีฮั่งเส็ง -12.9% ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ -6% Straits Times index หรือ STI ของตลาดหุ้นสิงคโปร์ -4.7% และ ดัชนี KLSE ของมาเลเซีย -3.8% (อ้างอิง จาก Bloomberg)

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยที่มีการปรับตัวลงมาแรงกว่า ประเทศอื่น ๆ เพราะมีปัจจัยในประเทศเข้ามากระทบด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองที่มีความยืดเยื้อในช่วงกลางปี 2566 ที่มีการฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่ขึ้น ส่งผลให้เกิดการล่าช้าต่อนโยบายต่าง ๆ ที่จะออกมา จึงเป็นส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศในตลาดหุ้นไทยตามมาด้วย ความเชื่อมั่นจึงหดหายไป ต่างชาติจึงมีการลดความเสี่ยงออกไป 

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่มีการสืบเนื่องมาจากปีที่ผานมา ที่ตลาดหุ้นไทยอาจจะดูแข็งกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ แต่การที่ตลาดหุ้นไทยในปีที่ผ่านมาไม่ได้ลงแรงนั้น จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยมีการสตาร์ทสูงกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ นั้นคือ valuation จึงทำให้ P/E ค่อนข้างสูง หากเทียบกับภูมิภาค จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต่างชาติยังมีการขายออกไปเช่นกัน 

นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยที่เข้ามากระทบตลาดหุ้นไทย กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย หากเทียบกับในแทบเอเชียที่มีนโยบายหยุดการปรับขึึ้นไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ไทยเองเพิ่งจะมีการมาหยุดกันในไตรมาส 3/66 ซึ่งเป็นการบีบคั้นสภาพตล่องภายในประเทศพอสมควร หากสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่าปริมาณเงินมีการหายไปในระบบ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการออกไปแสวงหาโอกาสนอกประเทศที่สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า 

พอมีเม็ดเงินไหลออกไปนอกประเทศมากขึ้น เม็ดเงินที่เคยหล่อเลี้่ยงหุ้นกลาง - เล็ก ก็หลายไปจากตลาดด้วย ต่างชาติไหลออก และเงินในประเทศไม่มีรองรับ จึงทำให้เกิดหุ้นไทยหลุดแนวรับลงมา จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ตลาดหุ้นไทย Underperform มากสุดในปีนี้ 

ทั้งนี้ต้องรอดูเฟสที่จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ได้ ซึ่งในรอบนี้ชัดเจนว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ย แต่ในรอบหน้ายังไม่ชัดเจนสุดท้ายแล้วจะขึ้นหรือไม่ในรอบสุดท้ายของปี ซึ่งตราบใดที่ยังมีความไม่ชัดเจนการจะไปไปคาดหวังให้ต่างชาติกลับเข้ามายังเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งอาจจะต้องรอความชัดเจนว่าเมื่อไรแล้วเฟดจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้เงินนั่นไหลเข้า อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4/66 หรือต้นปีหน้าอาจจะมีพัฒนาการจากการกระตุ้นเศรษฐกิจทางภาครัฐที่จะออกมาช่วย ซึ่งอาจจะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ รวมถึงประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนเข้ามาบ้าง ส่วนสภาพคล่องภายในคงมองไปถึงในเรื่องของการเก็บภาษีต่าง ๆ หากมีความชัดเจนว่าปีหน้ามีการเก็บจริง จะเป็นอานิสงส์ทางอ้อมของสภาพคล่องภายในประเทศ ให้เงินไหลออกกลับสู่เข้ามาอีกครั้ง สุดท้ายก็จะไหลเข้ากลับตลาดทุนไทยได้ 

‘หุ้นไทย’ ติดอันดับย่ำแย่สุดในโลกลดลง 15%

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นไทยปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ประมาณ 15% ขณะที่ MSCI World หรือ ดัชนีหุ้นทั่วโลก บวกเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ซึ่งในปีนี้ถือว่าไทย Underperform ค่อนข้างมาก แต่ถ้าดูในปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างที่จะ Outperform ที่ทรงตัวได้ ซึ่งถือว่าสวนทางกับตลาดทั่วโลกที่ค่อนข้างลบ 

ทั้งนี้ตลาดหุ้นที่ดีที่สุดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ในฝั่งเอเชีย ดัชนี Nikkei ตลาดหุ้นโตเกียวบวกอยู่ที่ 20% ขณะที่ดัชนี Taiwan Weighted  บวก 16% ส่วนฝั่งสหรัฐ ดัชนี S&P 500 บวกขึ้นมา 11% ยุโรปบวกขึ้นมา 8%

“ตลาดหุ้นไทย Underperform มาตั้งแต่เลือกตั้ง ที่ใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลค่อนข้างนาน รวมถึง GDP ไตรมาส 2/66 ออกมาน่าผิดหวัง โตได้เพียงแค่ 1.8% เท่านั้น”

ทิศทางหลังจากแม้ว่า ตลาดหุ้นไทยจะ Underperform แต่ในแง่ของ valuation ที่เราเทรด P/E 16 เท่าในปีนี้ และในปีหน้า P/E 14 เท่า ก็ยังถือว่าไม่ได้ถูกเมื่อเทียบกับภูมิภาค ส่งผลให้แนวโน้มต่อจากนี้ของตลาดหุ้นไทยยังคงต้องอิงกับตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก เพราะยังมีเรื่องสงครามอิสราเอลเข้ามากดดัน รวมถึงภาวะอัตราดอกเบี่้ยสูง และปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจทั่วโลกลดลง

นอกจากนี้ สิ่งที่จะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยกลับมา Outperform ได้ ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นหลัก ถ้าหากนโยบายออกแล้วสามารถทำงานได้ดี อาจจะเป็นปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยให้ตลาดหุ้นกลับมา Outperform ในตลาดหุ้นภูมิภาคได้อีกครั้ง 

ทั้งนี้แนะนำนักลงทุนว่า ควรที่จะชะลอการลงทุนไปก่อน เนื่องจากจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ตลาดฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ ต้องมองย้อนกลับไปว่า ช่วงที่ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงเกิดจากการถูกกดดันจากการปรับตัวของบอนด์ยีลด์ที่มีการเร่งตัวขึ้นมา 

อย่างไรก็ตาม หากจะให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาฟื้นตัวได้ต้องรอให้บอนด์ยีลด์อ่อนตัวลงมาในระดับที่มีทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งการประชุมเฟดในวันที่ 1 พ.ย.66 นี้ หากบอนด์ยีลด์มีสัญญาณพักตัวลงมา อาจจะเห็นการฟื้นตัวกลับ และค่อยเข้าไปเทรดดิ้งในช่วงระยะเวลานั้น แต่ ณ ขณะนี้อาจจะกระชับพอร์ต ชะลอการลงทุน บวกกับรอดูพัฒนาการของสงครามอิสราเอล และฮามาสเข้ามาประกอบ

แม้ว่า หากนักลงทุนจะอยากเข้าไปลงทุนก็ตามในช่วงนี้ มองว่า หุ้นที่น่าสนใจก็ยังอยู่ในระดับโซนสูง ข้อเสียคือ หากยังไม่มีการปรับฐานและตลาดหุ้นมีการปรับฐานลงมาเรื่อย ๆ จะดึงหุ้นเหล่านั้นลงมาด้วย เช่น หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ซึงถือว่าได้รับผลกระทบที่จำกัด แต่ราคาหุ้นไม่ตก จีงแนะนำให้ชะลอการลงทุนไปก่อน แต่สามารถลงทุนในระยะสั้น ๆ ได้ ตามรอบผลประกอบการที่มีการประกาศออกมา แต่ยังไม่ใช่จังหวะเข้าไปหาหุ้นที่สามารถพักเงินได้ เพราะหุ้นเหล่านั้นที่เป็น Defensive ที่ยังมียังสูงอยู่