8 CEO หุ้นมาร์เก็ตแคปสูงสุดจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรม 

8 CEO หุ้นมาร์เก็ตแคปสูงสุดจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรม 

สำรวจ 8 กลุ่มหมวดหลักในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าแต่กลุ่มบริษัทมีมาร์เก็ตแคปสูงที่สุด DELTA สูงสุดในหมวด Technology มีมาร์เก็ตแคปมากถึง 1,054,037.46 ล้านบาท ในจำนวน 43 หลักทรัพย์ที่อยู่ในหมวดเดียวกัน ด้าน AOT ใหญ่สุดในหมวด Services มีมาร์เก็ตแคป 982,141.88 ล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดโครงสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมแบ่ง เป็น 8 กลุ่มและหมวดธุรกิจ 28 หมวด โดยโฟกัสไปที่

8 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย

  1. เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร(AGRO)
  2. สินค้าอุปโภคบริโภค (CONSUMP)
  3. ธุรกิจการเงิน(FINCIAL)
  4. สินค้าอุตสาหกรรม (INDUS)
  5. อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON)
  6. ทรัพยากร (RESOURC)
  7. บริการ (SERVICE )
  8. เทคโนโลยี (TECH) 

ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจทั้ง 8 กลุ่ม พบว่าในแต่กลุ่มนั้นบริษัทใดบ้างมีมาร์เก็ตแคปสูงที่สุด และมีผู้บริหารท่านใดเข้าบริหารงานปัจจุบัน 

1.บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA

DELTA อยู่ในหมวด Technology หรือเทคโนโลยี ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปมากที่สุด 1,054,037.46 ล้านบาท ในจำนวน 43 หลักทรัพย์ที่อยู่ในหมวดเดียวกัน

ทั้งนี้ DELTA ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า (Power management solutions) รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ได้แก่ พัดลมอิเล็กทรอนิกส์ (DC Fan) อีเอ็มไอ ฟิลเตอร์ (EMI) และโซลินอยด์ มีฐานการผลิตอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ได้แก่ เอเชีย ยุโรป และอเมริกาใต้

สำหรับผลการดำเนินงานสิ้นปี 2565 มีกำไรสุทธิ 15,344.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 6,699.01 ล้านบาท ซึ่งงวดนี้ DELTA มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 118,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.6 และร้อยละ 87.6 จากปี 2564 และปี 2563 ตามลำดับ เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ และระบบศูนย์ข้อมูล รวมถึงการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิความร้อนในยานยนต์ทั่วไป 

ปัจจุบัน ช่าย ซิง จาง หรือ แจ็คกี้ ชาง ดำรงตำแหน่งประธานบริหาร ต่อจาก เซีย เชน เยน โดยเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน 2563 และเป็นกรรมการตั้งแต่ 24 มิ.ย.2562 จบการศึกษาปริญญาตรี สาขา English Literature เป็นคนสัญชาติ Taiwanese & British

“แจ็คกี้ ชาง” มีประสบการณ์ด้านการบริหารและจัดการธุรกิจมากกว่า 27 ปี ทั้งยังได้พัฒนาธุรกิจและแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 14 ปี ในฐานะประธานเดลต้า ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา  นอกจากนี้ เขายังได้สร้างผลงานอันโดดเด่นในการเปิดตลาดและธุรกิจใหม่ๆ ให้กับเดลต้า

ก่อนหน้านี้ “แจ็คกี้ ชาง” ดำรงตำแหน่งรองประธานบริหาร เดลต้า ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอินเดีย โดยรับผิดชอบดูแลทีมงานขายทั่วภูมิภาคในการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจสำหรับตลาดในแต่ละประเทศ และเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น เขาได้นำทีมในการพัฒนานวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ เพิ่มความยืดหยุ่น และแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อขยายไปยังตลาดท้องถิ่น



2.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT

AOT อยู่ในหมวด Services หรือบริการ ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปมากที่สุด 982,141.88 ล้านบาท ในจำนวน 131 หลักทรัพย์ที่อยู่ในหมวดเดียวกัน

ทั้งนี้่ AOT ประกอบกิจการท่าอากาศยานของประเทศไทย โดยธุรกิจหลักประกอบด้วย การจัดการ การดำเนินงาน และการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยมีท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งนี้ ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ

โดยในปี 2565 สิ้นสุด 30 ก.ย. 2565 ผลประกอบการขาดทุน 11,087.87 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ขาดทุน 16,322.01 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 9,474.42 ล้านบาท หรือ 133.71% จากการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 4,961.36 ล้านบาท หรือ 213.05% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการบิน 4,513.06 ล้านบาท หรือ 94.87% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร 

และรายได้เกี่ยวกับกิจการการบินจำนวน 7,290.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,961.36 ล้านบาท หรือ 213.05% เมื่อเทียบกับปี 2564 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าบริการผู้โดยสารขาออกจำนวน 4,126.59 ล้านบาท หรือ 361.70% โดยมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารโดยรวมของทั้ง 6 ท่าอากาศยาน 133.35% 

ปัจจุบันกีรติ กิจมานะวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. คนที่ 14 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนปริญญาโทวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยโตเกียว และจบปริญญาเอกวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยโตเกียว



3.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT

PTT อยู่ในหมวด Resources หรือทรัพยากร ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปมากที่สุด 971,141.87 ล้านบาท ในจำนวน 70 หลักทรัพย์ที่อยู่ในหมวดเดียวกัน

ทั้งนี้ PTT ประกอบด้วยกิจการที่ดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจที่ลงทุนผ่านบริษัทย่อยและกิจการที่ควบคุมร่วมกันและบริษัทร่วม ได้แก่ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปการ ธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจให้บริการ

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 91,175 ล้านบาท ลดลง 17,188 ล้านบาท หรือ 15.9% จากในปี 2564 ที่กำไรสุทธิ 108,363 ล้านบาท แม้ว่าบริษัทจะมี EBITDA เพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2565 มีขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ต้นทุนทางการเงิน ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำสุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นรายการขาดทุนประมาณ 10,200 ล้านบาท โดยหลักจากการด้อยค่าสินทรัพย์โครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 ประมาณ 4,300 ล้านบาท ประมาณการหนี้สินสำหรับระงับการดำเนินการดำเนินคดีแบบกลุ่มจากเหตุการณ์แหล่งมอนทาราประมาณ 3,000 ล้านบาท  

ปัจจุบัน อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ คนที่ 10 ของ ปตท. ซึ่งได้รับการตั้งแต่เมื่อปี 2563 ด้านการศึกษาสำเร็จระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ Diploma of Petroleum Management, College of Petroleum Studies, Oxford University, UK (ได้รับทุนการศึกษาจาก British Council)

นอกจากนี้ยังได้เข้าอบรมในหลักสูตร Director Certification Program (DCP 173/2013),Company Secretary Program (CSP 14/2005) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ,หลักสูตร TLCA Executive Development Program (EDP) รุ่นที่ 1 สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ,หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 58 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ,หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 14 สถาบันพระปกเกล้า

หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง (วตท.) รุ่นที่ 20 สถาบันวิทยาการตลาดทุน ,หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ด้านวิทยาการพลังงาน (วพน.) รุ่นที่ 12 สถาบันวิทยาการตลาดทุน , หลักสูตรสำหรับผู้ บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) รุ่น 2 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) , NIDA-Wharton Executive Leadership Program 2009, The Wharton School of the University of Pennsylvania,USA  และ PTT Executive Leadership, General Electric, GE, New York, USA และ หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่น 8 วิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ


4.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC

SCC อยู่ในหมวด PROPCON หรืออสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปมากที่สุด 355,200.00 ล้านบาท ในจำนวน 157 หลักทรัพย์ที่อยู่ในหมวดเดียวกัน

ทั้งนี้ ผลประกอบการปี 2565 SCC มีกำไร 21,382.35 ล้านบาท ลดลง 55% จากปี 2564 ที่มีกำไร 47,173.98 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์เอสซีจี ส่วนรายได้จากการขาย 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2564 จากธุรกิจแพคเกจจิ้ง ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 

ปัจจุบัน รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่, กรรมการ จบการศึกษา ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาเหมืองแร่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ สาขาอุตสาหการ University of Texas (Arlington) สหรัฐอเมริกา และปริญญาโท บริหารธุรกิจ Harvard Business School สหรัฐอเมริกา เคยอบรมหลักสูตร Director Accreditation Program (DAP) 2004 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย


5.บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) SCB

SCB อยู่ในหมวด Financials หรือธุรกิจการเงิน เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปมากที่สุด 351,862.71 ล้านบาท ในจำนวน 70 หลักทรัพย์ที่อยู่ในหมวดเดียวกัน

ทั้งนี้ SCB เป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน มีกำไรสุทธิของปี 2565 จำนวน 37,546 ล้านบาท ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 107,865 ล้านบาท ปัจจุบัมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่กลุ่มธุรกิจธนาคาร ทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวน 9 บริษัท กลุ่มธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคและบริการด้านการเงินดิจิทัล จำนวน 4 บริษัท และ กลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล และบริการด้านเทคโนโลยี จำนวน 9 บริษัท

ปัจจุบัน อาทิตย์ นันทวิทยา ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าบริหาร โดยในปี พ.ศ. 2562 ธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานโดยคุณอาทิตย์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร นอกจากนี้ คุณอาทิตย์ ยังดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการกำกับความเสี่ยง และกรรมการเทคโนโลยีของธนาคาร และประธานกรรมการ บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด

ทั้งนี้ “อาทิตย์” ได้เริ่มทำงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นครั้งแรกในหน่วยงานบริหารการเงิน เมื่อปี 2537 หลังจากนั้นในปี 2541 ได้ร่วมงานกับบริษัท Cargill Financial Service ในตำแหน่ง Hedge Fund Manager และต่อมาได้ร่วมงานกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด โดยได้ดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็น Managing Director และ Regional Head Capital Markets, Southeast Asia ก่อนกลับมาร่วมงานกับธนาคารอีกครั้งในปี 2551 ในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ในปี 2558 คุณอาทิตย์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหารของธนาคาร และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปี 2559

“อาทิตย์” สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทด้าน M.B.A. (Finance) จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้าร่วมโครงการศึกษาแลกเปลี่ยนที่ Wharton School, University of Pennsylvania รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา


6.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF 

CPF อยู่ในหมวด  Agro & Food Industry หรือ เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปมากที่สุด 163,613.61 ล้านบาท ในจำนวน 68 หลักทรัพย์ที่อยู่ในหมวดเดียวกัน

ทั้งนี้ CPF ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจรทั้งสัตว์บก และสัตว์น้ำ ครอบคลุมประเภทสัตว์หลักได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ด กุ้ง และปลา ซึ่งสามารถจำแนกประเภทธุรกิจหลักเป็น 3 ประเภท คือ ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหาร รวมทั้งประกอบกิจการค้าปลีกและร้านอาหาร

โดย CPF มีการลงทุนและร่วมลงทุนใน 17 ประเทศ ส่งออกจากประเทศไทยไปประเทศต่างๆ อีกมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ จำนวน 13,970 ล้านบาท รายได้รวมอยู่ที่ 619,017.57 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 926,987.18 ล้านบาท ส่วนมาร์เก็ตแคป ณ วันที่ 19 ต.ค.66 อยู่ที่ 163,613.61 ล้านบาท P/E 46.04 เท่า ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ที่ 25.50 / 18.30 บาท ซึ่งมีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ถือหุ้นใหญอันดับ 1

ปัจจุบัน ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ อายุ 53 ปี ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เริ่มเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2562 โดยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาบัญชี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และปริญญาโท Master of Business Administration, Cleveland State University สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ยังเคยได้รับการฝึกอบรมในหลักสูตรสำคัญ อาทิ อบรม Risk Management Program for Corporate Leaders (7-8 พฤศจิกายน 2560), อบรม Corporate Governance for Executives (7-8 ธันวาคม 2560) และอบรม Director Certification Program รุ่นที่ 204/2015 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย


7.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC

PTTGC อยู่ในหมวด INDUS หรือสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปมากที่สุด 155,555.29 ล้านบาท ในจำนวน 95 หลักทรัพย์ที่อยู่ในหมวดเดียวกัน

ทั้งนี้ PTTGC เกิดจากการควบบริษัทระหว่าง บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH และ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2554 เพื่อก้าวขึ้นเป็นแกนนำของธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemical Flagship) ของกลุ่ม ปตท.

ผลประกอบการในปี 2565 ว่าบริษัทขาดทุนสุทธิ 8,752 ล้านบาท ลดลง 119% จากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 44,982 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายรวม 678,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% จากปี 6564 จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นจากการเปิดประเทศ ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 

ปัจจุบัน คงกระพัน อินทรแจ้ง ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ อายุ 55 ปี การศึกษาจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) (เกียรตินิยมอันดับสอง), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Doctor of Philosophy (Ph.D.) in Chemical Engineering, University of Houston, U.S.A.

และได้เข้าอบรมหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) , หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 30 (วตท. 30), สถาบันวิทยาการตลาดทุน, หลักสูตร Leadership Development Program (LDP 3) รุ่นที่ 4, สถาบันพัฒนาผู้นำและการเรียนรู้ กลุ่ม ปตท. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 14 (วพน. 14), สถาบันวิทยาการพลังงาน , หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (ปริญญาบัตร วปอ.) รุ่นที่ 60, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ และ หลักสูตร Breakthrough Program for Senior Executives, IMD Business School


8.บริษัท ออโรร่า ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) หรือ AURA

 AURA อยู่ในหมวด Consumer Products หรือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า เพื่อการอุปโภคบริโภคต่างๆ ทั้งที่เป็นสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปมากที่สุด 23,211.60 ล้านบาท ในจำนวน 44 หลักทรัพย์ที่อยู่ในหมวดเดียวกัน

ทั้งนี้ AURA ประกอบธุรกิจค้าปลีกทองรูปพรรณ เครื่องประดับเพชรและอัญมณี และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นที่มีบริการแบบครบวงจร 

โดย AURA ปัจจุบันขยายสาขาใหม่ในทำเลต่างๆ ทั่วประเทศเพิ่มเติม จำนวน 64 สาขา จากสิ้นปี 2565 ที่มีสาขาให้บริการทั้งหมด 279 สาขา หรือเพิ่มเป็น 334 สาขาในสิ้นปีนี้ หวังเป็นการขยายฐานลูกค้าและช่องทางสร้างรายได้ของธุรกิจเพิ่มเติม ตลอดจนสนับสนุนการเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต ซึ่งปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ จำนวน 707.86 ล้านบาท รายได้รวมอยู่ที่ 29,603.69 ล้านบาท

ขณะที่สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 10,813.80 ล้านบาท ส่วนมาร์เก็ตแคป ณ วันที่ 19 ต.ค.66 อยู่ที่ 23,211.60 ล้านบาท P/E 29.32 เท่า ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ที่ 25.50 / 18.30 บาท ซึ่งมีบริษัท ธัม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ถือหุ้นใหญอันดับ 1 ปัจจุบันมี อนิวรรต ศรีรุ่งธรรม ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

นอกจากนี้ AURA ได้มีการวางเป้าหมายระยะยาวจะนำธุรกิจให้สามารถก้าวสู่ผู้นำร้านทองคำของประเทศไทย ผ่านการส่งมอบของขวัญแห่ง ความสุขที่มีคุณค่าครบวงจร และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งนำเสนอของขวัญที่มีคุณภาพและสร้างความหลากหลาย ด้านผลิตภัณฑ์ 5 แบรนด์ ได้แก่ AURORA, เซ่งเฮง, ทองมาเงินไป, ของขวัญ by AURORA และ AURORA  Diamond และกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ลูกค้าไว้วางใจในระยะยาว

ปัจจุบันมี อนิวรรต ศรีรุ่งธรรม ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จบการศึกษาระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัย Cass Business School, Londonสหราชอาณาจักร และเคยเข้าอบรมหลักสูตร Director Certification Program (DCP) รุ่นที่ 180/2556สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และหลักสูตร Risk Management Program for Corporate Leaders (RCL Online) รุ่นที่ 27/2565สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย 

 

8 CEO หุ้นมาร์เก็ตแคปสูงสุดจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรม