เปิดโผ 5 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงทุนในหุ้นไทยรวมกว่า 5.57 พันล้านบาท

เปิดโผ 5 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงทุนในหุ้นไทยรวมกว่า 5.57 พันล้านบาท

เปิดโผ 5 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงทุนในหุ้นไทยรวมกว่า 5.57 พันล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทิสโก้มาสเตอร์ร่วมทุน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ลงทุนในหุ้นมากสุด มูลค่า 3,492.50 ล้านบาท  

ตลาดหุ้นไทยมีนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นนักลงทุนระดับมืออาชีพ ส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคล เช่น ธนาคาร หรือกองทุนรวม ฯลฯ โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund เป็นกองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยความสมัครใจเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่สมาชิกและครอบครัวในกรณีที่สมาชิกออกจากงานเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต นั้นมีการนำเงินไปลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

และในช่วงตลาดหุ้นไทยที่ต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจผันผวนจากภาวะสงครามอิสราเอลและฮามาสที่ยังมีความกังวลว่าจะเกิดการบานปลายหรือไม่ ขณะที่บอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น บลจ.ในฐานะผู้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่มีการเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทยด้วยนั้น ณ ปัจจุบันมีการปรับกลยุทธ์อย่างไร เพื่อรักษาเงินของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ให้ได้มากที่สุด 

เกษตร ชัยวันเพ็ญ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บลจ.เอ็มเอฟซี หรือ MFC ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการเติบโตอยู่ที่ 27,000 ล้านบาท ขณะที่นายจ้าง 22,379 ราย สิ้นปีที่แล้ว ปัจจุบันมี นายจ้าง 23,359 ราย เพราะฉะนั้นโตขึ้นมา 980 ราย ซึ่งถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่าดีขึ้น เพราะปีที่แล้วมีนายจ้างเพิ่มขึ้นมาประมาณ 500 กว่าราย แต่ปีนี้ระยะเวลา 8 เดือนโตขึ้นมาดึคง 980 ราย นั่นแปลว่านายจ้างมีการกลับมาจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันมากขึ้น 

แต่ในแง่ของเม็ดเงิน การเติบโตอาจจะไม่เท่ากับปีที่ผ่านมา เพราะปีนี้ตลาดหุ้นมีความผันผวนมาก ส่งผลเม็ดเงินมีการเติบโตค่อนข้างน้อยไม่ได้สูงเท่ากับปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอดูช่วงสิ้นปีนี้ว่า AUM จะได้มากกว่าปีที่แล้วหรือไม่

ในส่วนของการลงทุน MFC มีการลงทุนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ในตราสารหนี้ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะทรงตัว ถ้ามีการปรับขึ้นอาจจะไม่ได้มาก จึงเน้นการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนในระดับเครดิตเรตติ้ง A- ขึ้นไป ส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลยังคงเน้นลงทุนในอายุ 1 - 3 ปี และ 3 - 7 ปี ขณะที่ตราสารทุน หรือหุ้น เนื่องจาก ณ ขณะนี้มีภาวะหลายอย่างที่เป็นผลกระทบเข้ามา จึงเน้นการลงทุนหลักในรูปแบบระยะยาวมากขึ้นประมาณ 80% เน้นลงทุน 1 -3 ปี และอีก 20% เป็นการลงทุนในหุ้นช่วงระยะสั้น ๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามจังหวะการลงทุนในช่วง  3 - 6 เดือน

“ในภาวะที่มีสงครามอิสราเอลเข้ามาแบบนี้ บริษัทจึงเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มระยะยาวมากขึ้น โดยจะเน้นเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มบิ๊กแคป ที่มีการเติบโต ส่วนในระยะสั้น ๆ อาจจะเข้าไปลงทุนในหุ้นที่ขนาดเล็กแต่ให้น้ำหนักไม่มาก”

สำหรับธีมการลงทุนของบริษัท ณ ขณะนี้เน้นกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเลือกคัดเลือกหุ้นที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยเซกเตอร์ที่มีความสอดคล้องกับกลุ่มดังกล่าว คือ กลุ่มคอมเมิร์ซ กลุ่มธนาคาร กลุ่มอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มท่องเที่ยว

ขณะที่การลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในต่างประเทศ บริษัทยังเน้นลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน หรือหุ้น เช่นกัน โดยตราสารหนี้ต่างประเทศ ณ ปัจจุบันทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี ส่วนหุ้นต่างประเทศที่บริษัทเลือกเข้าไปลงทุนจะเป็นหุ้นกลุ่ม Large cap หรือ หุ้นขนาดใหญ่ โดยหลีกเลี่ยงหุ้นขนาดเล็ก เน้นไปที่ประเทศสหรัฐฯ ที่เป็นหุ้นมีการเติบโต และญี่ปุ่น ส่วนหุ้น อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตยังคงให้ความระมัดระวัง 

ส่วนธีมในอนาคตที่คิดว่าจะให้ผลดีคือ กลุ่มพลังงานสะอาด หรือกลุ่มเฮลแคร์ เป็นต้น ขณะทีี่หุ้นไทย ณ ปัจจุบันคาดว่า น่าจะไม่ต่ำกว่า 1,350 จุด แต่ถ้าลงมาถึง 1,350 จุด ก็เป็นจุดที่น่าสนใจที่จะกลับเข้าไปลงทุน เพราะถือว่า ราคาถูกมาก โดยสิ้นปีนี้มองไว้ที่ 1,500 จุด 

ดร.สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน และลูกค้าสัมพันธ์ จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปัจจุบันมีนโยบายกองทุนในหุ้น หรือฟิกซ์ อินคัม ซึ่งในส่วนของตลาดหุ้นจะมีภาวะคล้าย ๆ กัน ซึ่งตลาดยังคงเป็นขาลงดูไม่ค่อยดีสักเท่าไร มีการปรับกลยุทธ์บ้างในการเข้ามาถือเงินสด เพื่อรอจังหวะในการกลับเข้าไปลงทุน

อย่างไรก็ตามในส่วนของภาวะตลาดหุ้นที่ได้รับความกดดันอยู่ ณ ขณะนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่มีความเข้าใจ ขณะเดียวกันได้มีการแนะนำนักลงทุนเข้าไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นด้วย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา อาจจะมีกองทุนที่เข้าไปลงทุนแต่หุ้นไทย หรือตราสารหนี้ในประเทศ ซึ่งคาดว่านักลงทุนน่าจะได้รับประโยชน์มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีการแนะนำให้ไปลงหุ้นต่างประเทศอย่างเดียวและทิ้งหุ้นไทยไป เพียงแต่ในระยะนี้อาจจะไม่ค่อยน่าสนใจสักเท่าไร แต่ถ้าดูในช่วงระยะยาว จะเห็นได้ว่า มีการผสมทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ จะทำให้พอร์ตมีความผันผวนที่ต่ำกว่า 

ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีด้วยกัน 5 หลักทรัพย์ที่เข้ามาลงทุนในหุ้นไทย รวมมูลค่ากว่า 5,573.36 ล้านบาท

เปิดโผ 5 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงทุนในหุ้นไทยรวมกว่า 5.57 พันล้านบาท

1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทิสโก้มาสเตอร์ร่วมทุน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ลงทุนในหุ้นมูลค่า 3,492.50 ล้านบาท  

  • บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 2,867,200 หุ้น หรือ 1.15% มูลค่า 441.55 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 154.00 บาท)
  • บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 8 จำนวน 11,189,200 หุ้น หรือ 1.39% มูลค่า 651.77 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 58.25 บาท)
  • บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 7 จำนวน 39,246,700 หุ้น หรือ 0.70% มูลค่า 1,000.79 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 25.50 บาท)
  • บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 15,393,700 หุ้น หรือ 0.62% มูลค่า 301.72 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 19.60 บาท)
  • บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 8 จำนวน 21,191,700 หุ้น หรือ 0.95% มูลค่า 1,096.67 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 51.75 บาท)


2.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เค มาสเตอร์ พูล ฟันด์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ลงทุนในหุ้นรวมมูลค่า 1,968.09 ล้านบาท  

  • บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 7 จำนวน 175,850,340 หุ้น หรือ 1.45% มูลค่า 365.77 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 2.08 บาท)
  • บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 8 จำนวน 19,147,200 หุ้น หรือ 1.66% มูลค่า 507.40 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 26.50 บาท)
  • บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 7 จำนวน 17,282,000 หุ้น หรือ 0.53% มูลค่า 163.31 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 9.45 บาท)
  • บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 10 จำนวน 45,961,200 หุ้น หรือ 0.57% มูลค่า 144.32 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 3.14 บาท)
  • บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW  ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 6 จำนวน 152,872,640 หุ้น หรือ 3.37% มูลค่า 787.29 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 5.15 บาท)


3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานทิสโก้ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ลงทุนในหุ้น 

  • บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 10 จำนวน 5,170,600 หุ้น หรือ 0.86% มูลค่า 44.73 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 8.65 บาท)


4.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ลงทุนในหุ้น 

  • บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MEB ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 10 จำนวน 1,425,800 หุ้น หรือ 0.48% มูลค่า 41.35 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 29.00 บาท)


5.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ลงทุนในหุ้น 

  • บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 14,829,900 หุ้น หรือ 0.75% มูลค่า 26.69 ล้านบาท (คำนวณ ราคาปิด ณ 18  ต.ค. 66 ที่ 1.80 บาท)