หุ้นปั่นป่วน-สภาพคล่องหาย สินทรัพย์ไหนปลอดภัย

หุ้นปั่นป่วน-สภาพคล่องหาย    สินทรัพย์ไหนปลอดภัย

คำถามสุดคลาสสิกสำหรับนักลงทุนเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ เช่น สงครามหรือล้มละลายของสถาบันการเงินระดับโลก จนทำให้สินทรัพย์ที่ลงทุนในพอร์ตเผชิญมูลค่าลดลง ตามสเต็ปที่จะเจอคือการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงที่มีสภาพคล่องมากที่สุดเพื่อถือครองเงินสดเอาไว้ก่อน

        “เงินลงทุน หรือฟันด์โฟลว์”  ย่อมต้องหาเส้นทางการลงทุนใหม่เพื่อสร้างผลตอบแทนเอาไว้ ซึ่งจะจำกัดอยู่ในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หรือ Safe Haven เอาไว้ก่อน  ช่วงปี 2566 แทบจะมีไม่กี่สินทรัพย์ที่ยังรักษาผลตอบแทนเป็นบวกเอาไว้ได้

         อ้างอิงกับข้อมูล Bloomberg  และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย)  รวบรวมผลตอบแทนสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ต้นทุนจนถึงปัจจุบัน (YTD)  ปรากฏ ค่าเงินเยน ของญี่ปุ่น ให้ผลตอบแทนมากที่สุด  18.78% รองลงมาตลาดหุ้นสิงคโปร์ 12.22%  ตลาดที่พัฒนาแล้ว (DM Equity) ที่ 9.32%  ตลาดหุ้นโลก 8.04%  และตลาดหุ้นยุโรป 4.72%

        นอกจากนี้ยังมีสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนยังบวกคือ หุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) 3.54%  น้ำมัน 3.15%   ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ 2.44% ตลาดหุ้นอังกฤษ 0.57%  และทองคำ 0.49%  ส่วนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบมากที่สุดคือ กองทุน REIT โกลบอล -9.09%   พันธบัตรรัฐบาล -4.86%  ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM Equity) -1.99%  หุ้นกู้สหรัฐที่เหมาะแก่การลงทุน  (Investment grade bonds) -1.42% และหุ้นกู้ตลาดเกิดใหม่ -0.77% 

        สะท้อนได้ว่าสินทรัพย์รอบปี 2566 ที่ไม่ผันผวนค่าเงินเยน ขึ้นแชมป์อันดับ 1 เปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ ทั่วโลก  เป็นผลมาจากการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Policy) จากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)  ใช้มาตรการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0% เพื่อยืนยันที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องและยาวนานส่งผลทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าในรอบ 16 ปี และยังอ่อนค่าเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

       ขณะที่สินทรัพย์อื่นจะมีความผันผวนจากการเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ที่สหรัฐใช้นโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจนทำให้ธนาคารกลางอื่นทั่วโลกส่วนใหญ่ขยับดอกเบี้ยขึ้นตามเพื่อลดช่องว่างไม่ให้กว้างมากเกินไป และเกิดเงินไหลออกเช่น ญี่ปุ่น

       ปัจจุบันแม้ว่ามีกระแสข่าวกรรมการ BOJ เริ่มพิจารณาควรจะยุตินโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษตามปีงบประมาณซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.2567   ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะสามารถตัดสินได้ว่า BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้หรือไม่ที่ระดับ 2%ที่เห็นชัดขึ้น

          ทำให้มีการคาดการณ์ว่า BOJ อาจทำการประเมินว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.2567  อีกด้านหมายถึง BOJ ยังคงดอกเบี้ยติดลบต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของปี จึงทำให้เงินไหลกลับไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยคือ ค่าเงินเยน

       ท่ามกลางปัจจัยใหม่ที่เข้ามากระทบจากการโจมตีของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอลจนกลายเป็นการตอบโต้ และยังมีโอกาสจะยืดเยื้อกลับกลายเป็นเงิน Fund Flow ไหลกลับไปยังสินทรัพย์ค่าเงินเยน  เงินดอลลาร์ และพันธบัตรสหรัฐ  

        วานนี้(10 ต.ค.66) ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.03% แตะที่ระดับ 106.0778 มีปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนพากันถือดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง

        นอกจากนี้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าที่ระดับกลางของกรอบการซื้อขาย 148 เยนในการซื้อขายที่ตลาดโตเกียว เนื่องจากนักลงทุนขายเงินดอลลาร์บางส่วนเพื่อซื้อเงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในตลาดโตเกียว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง

      หากจะมองหาการลงทุนช่วงนี้ บล.หยวนต้า พันธบัตรสหรัฐ สินทรัพย์ที่เด่นที่สุดในตอนนี้หลังการประชุม FED ล่าสุด คาการณ์ว่า FED จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในการประชุมรอบล่าสุด (1 พ.ย.66) และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการคงอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเริ่มปรับตัวขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์