เกณฑ์การจัดเก็บภาษีใหม่เมื่อมีรายได้จากต่างประเทศ นักลงทุนต้องรู้อะไรบ้าง?

เกณฑ์การจัดเก็บภาษีใหม่เมื่อมีรายได้จากต่างประเทศ  นักลงทุนต้องรู้อะไรบ้าง?

จากหลักกฎหมายภาษีสำหรับภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาได้วางหลักจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ 2 หลักการ ได้แก่

1) การจัดเก็บภาษีตามหลักแหล่งเงินได้ ซึ่งหลักการนี้จะใช้กับแหล่งเงินได้ในประเทศไทย ทำให้ไทยจะเก็บภาษีบุคคลธรรมดาเมื่อมีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในไทยไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนสัญชาติใด

2) การจัดเก็บตามหลักถิ่นที่อยู่ โดยไทยจะเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อบุคคลดังกล่าวอยู่ในไทยถึง 180 วัน (นับตามปีภาษี ม.ค. - ธ.ค.) ไม่ว่าคนนั้นจะมีสัญชาติใด แต่หลักนี้จะใช้ต่อเมื่อมีแหล่งเงินได้ที่ต่างประเทศและต้องนำเงินได้ที่ได้รับกลับเข้ามาในไทยด้วย

ทำให้เมื่อกล่าวถึงเงินได้ต่างประเทศ การเสียภาษีจะต้องดูตามหลักว่าผู้มีเงินได้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันหรือไม่ หากบุคคลธรรมดามีเงินได้จากต่างประเทศและนำกลับเข้ามาในไทยก็ให้นำเงินได้นั้นมาเสียภาษีไทยด้วย แต่กฎหมายไม่ได้ระบุชัดว่าเอาเข้ามาเมื่อไรถึงต้องเสียภาษี กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งภายในและเป็นแนวปฏิบัติตามแนวตีความตั้งแต่ช่วงปี 2530 เป็นต้นมา โดยให้ถือว่าเอากลับเข้ามาในปีปฏิทินเดียวกับการเกิดเงินได้จะต้องนำมารวมเสียภาษีไทย และเป็นที่ตีความได้ด้วยว่าหากเอาเข้ามาต่างปีปฏิทินจะไม่ต้องเสียภาษีไทย ซึ่งหลักการนี้ได้ถือปฏิบัติกันมากว่า 36 ปี

ทั้งนี้ ตามที่มีการเผยแพร่คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร วันที่ 15 กันยายน 2566 ได้มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่โดยกำหนดว่าการมีเงินได้ต่างประเทศของบุคคลธรรมดา หากนำเข้ามาในปีใดก็ต้องเสียภาษีไม่ว่าจะข้ามปีหรือปีเดียวกันกับปีที่เกิดเงินได้ โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้จะใช้สำหรับเงินได้ที่เอาเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

เกณฑ์การจัดเก็บภาษีใหม่เมื่อมีรายได้จากต่างประเทศ  นักลงทุนต้องรู้อะไรบ้าง?

จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่เคยถือปฏิบัติมาในอดีตนั้น ทำให้ผู้มีเงินได้จากต่างประเทศรวมถึงนักลงทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศแล้วมีรายได้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น เงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น/ขายทรัพย์สิน ดอกเบี้ย ฯลฯ อาจมีความกังวลเรื่องวิธีการจัดการภาษีรวมไปถึงวิธีการยื่นภาษีว่าควรทำอย่างไร

ตามที่กรมสรรพากรได้ออกมาชี้แจงว่าจะมีการจัดประชุมกลุ่มย่อย (โฟกัสกรุ๊ป) ทั้งนักลงทุน ผู้เสียภาษีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจ รับฟังข้อเสนอแนะและความกังวลของแต่ละกลุ่มว่ามีอะไรบ้าง และจะมีการจัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เสียภาษีภายในเดือนพฤศจิกายน 2566

โดยในระหว่างนี้ ข้อแนะนำเบื้องต้นที่ผู้เสียภาษีอาจเริ่มเตรียมตัววางแผนกันได้ก็คือ

· พิจารณาแหล่งที่มาและประเภทรายได้และฐานภาษีบุคคลธรรมดาของตนเอง (บุคคลธรรมดามีช่วงอัตราภาษีที่ต้องเสีย 5% - 35%) เช่น ประเทศที่เราไปลงทุน ประเภททรัพย์สินและปริมาณเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่อาจได้รับผลกระทบตามหลักเกณฑ์ภาษีใหม่นี้

· เตรียมเอกสารหลักฐานหากจะต้องรวมยื่นแบบเสียภาษีไทยและหากมีการเสียภาษีเงินได้ในต่างประเทศไว้แล้ว ขอให้เก็บหลักฐานไว้ใช้สิทธิที่ตนอาจมีตามอนุสัญญาว่าด้วยการลดภาระภาษีซ้ำซ้อนระหว่างประเทศ (นำมาหักภาษีในส่วนที่จ่ายไว้แล้วในต่างประเทศออกจากมูลค่าภาษีที่ต้องจ่ายในไทย) ซึ่งหลักเกณฑ์การใช้สิทธิตามอนุสัญญาภาษีซ้อน คาดว่าทางกรมสรรรพากรจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมในเร็วๆนี้

· พิจารณาช่วงเวลาและตรวจสอบเงินได้หากต้องการที่จะนำเงินกลับเข้าไทยในปี 2566 เช่น เงินที่นำออกไปลงทุนก่อนปี 2566 แล้วมีกำไรจากการลงทุนและกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน อาจพิจารณานำเงินกลับเข้าประเทศภายในปี 2566 เลย เพราะจะยังไม่โดนภาษีตามหลักเกณฑ์เดิม แต่ถ้านำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในปี 2567 เป็นต้นไป จะต้องเสียภาษีไทยตามหลักเกณฑ์ใหม่นั่นเอง

· กำหนดสัดส่วนระหว่างการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศและสินทรัพย์ในประเทศ อาจปรับสัดส่วนไปลงทุนกองทุนรวมที่ออกในประเทศไทยที่ลงทุนในกองต่างประเทศ (Fund of funds) แม้ว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมอาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นักโดยเฉพาะนักลงทุนประเภท High Net Worth หรือกลุ่มนักลงทุนที่เข้าใจการลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง แต่หากพิจารณาค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนต่างประเทศของบลจ. ในไทยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 1%-2% ต่อปี (อาจมีการภาษีหัก ณ ที่จ่ายบนกำไรในประเทศปลายทางรวมอยู่บนผลประกอบการแล้ว) เมื่อเทียบกับภาระภาษีตามหลักเกณฑ์ใหม่ก็อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับการซื้อหุ้นรายตัวหรือลงทุนในกองทุน/ตราสารหนี้/ตราสารหนี้ที่มีอนุพันธ์โดยตรงในต่างประเทศ

ในระหว่างที่การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อมีรายได้จากต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลง นักลงทุนควรรอให้กฎระเบียบมีความชัดเจน แต่การลงทุนต่างประเทศเรามองว่าก็ยังน่าสนใจ โดยเฉพาะนักลงทุนที่มุ่งหวังผลตอบแทนระยะยาว กำไรพอร์ตที่อยู่ต่างประเทศ อาจบริหารการลงทุนต่อไป ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด นอกจากความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต้องพิจารณาแล้ว นักลงทุนอาจจะต้องทำการบ้านเพิ่มขึ้นอีกในหลายๆแง่มุม โดยเฉพาะเมื่อมีตัวแปรทางภาระภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย