ดัชนี DELTA ปิดเกม จาก “ตัวช่วย” สู่ หุ้น “เสี่ยงสูง”

ดัชนี DELTA  ปิดเกม   จาก “ตัวช่วย” สู่ หุ้น “เสี่ยงสูง”

“หุ้นไทยดิ่ง – รายย่อยพอร์ตยับเยิน” “ติดดอยถ้วนหน้า” เป็นสถานการณ์การลงทุนในช่วงที่หุ้นขาลงรอบใหญ่ได้อย่างดีหลังดัชนีหุ้นไทยหลุด 1,500 จุด และหลุดแนวรับจุดต่ำสุดรอบก่อน 1,466 จุด เป็นที่เรียบร้อย

       รอบนี้ ไร้ตัวช่วย สำคัญ ดัชนี DELTA  หรือ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มาค่อยช่วยพยุงดัชนีหุ้นไทยในยามตลาดหุ้นขาลงหนัก เพราะมีปัจจัยกดดันเฉพาะตัวที่มาถ่วงราคาหุ้นซะแล้ว

       จากรายการบิ๊กล็อตขายหุ้น (29 ก.ย.66) ของผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทแม่ที่ไต้หวัน “Delta International Holding Limited B.V. “ รวมจำนวน 89,232,800 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.72% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทเฉลี่ยราคาหุ้นละ 94.75 บาท มูลค่ารวม 8,432 ล้านบาท เป็นการขายต่ำกว่าราคาปิดวันก่อนเกือบ 9 %

            รายการดังกล่าวมีนัยสำคัญสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพราะหุ้น DELTA มีความพิเศษกว่าหุ้นอื่นจากราคาหุ้นทำ “สถิติออล ไทม์ ไฮ” และ “ฆ่าไม่ตาย” มาแล้ว   

          หลังจากราคาหุ้นก่อนโควิด 30 บาททะยานแตะ 838 บาท ( 28 ธ.ค.2563)  จากราคาหุ้นต้นปีเดียวกัน  53.50 บาท  จนราคาลงมาลึก 300 กว่าบาท และสามารถกลับมาเหนือ 500 บาทอีกครั้ง และจ่อที่ราคานิวไฮปลายปี 2565 ที่ 1,000 บาท จน "เจ้าของ" ต้องประกาศแตกพาร์จากเดิมหน่วยละ 100 หุ้น เป็น 50 หุ้น ไปเมื่อต้นก.พ.2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากหลักทรัพย์มีราคาปิดตั้งแต่ 500.00 บาทขึ้นไป เป็นระยะเวลา 6 เดือนติดต่อกัน

        แน่นอนว่าราคาหุ้นได้ขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 119 บาท เปรียบเทียบกับก่อนแตกพาร์คือ 1,000 บาทเหมือนเดิมกลายเป็นหุ้นขึ้นลิสต์ตำนานตลาดหุ้นที่ “ทำรอบขึ้นลง” โดย “ไม่ผิดกติกา”โดยปริยาย

       หากแต่การทำรายการบิ๊ตล็อตที่ผ่านมาทางบริษัทจะชี้แจงเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนแก่ DEI ในการดำเนินธุรกิจ และขยายกิจการ และไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท โครงสร้างคณะผู้บริหาร โครงสร้างการจัดการ โครงสร้าง และนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัท แต่อย่างใด

        และ Free Float ของบริษัทอยู่ที่ 22.35% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 15% ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดไว้ไม่ได้ต่ำกว่าเกณฑ์แต่อย่างใด บวกกับสถานะทางการเงินแข็งแกร่ง มีการเติบโตของรายได้ และความสามารถในการทำกำไรอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 1 ของปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

      ด้วยระดับราคา และปริมาณหุ้นที่ทำรายการใน มุมมองการเก็งกำไร ถือว่าเป็น การขายเพื่อกวาดส่วนต่างราคาไปในพรีเมียมที่สูงมาก และยังทิ้งความกังวลใจให้กับนักลงทุนที่ถือลงทุน  ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่ติด Trading Alert และมีความเสี่ยงหลุด SET50 และ SET100 รอบ ครึ่งปีแรก ปี 2567  เพิ่มขึ้น

      DELTA ได้ติด Cash Balance ไปแล้ว 3 เดือน ในรอบเดือนเม.ย.2566, เดือนมิ.ย.2566, และเดือนก.ค. 2566 หาติด Cash Balance เพิ่ม 1 เดือน หรือมูลค่าซื้อขายเดือนใดเดือนหนึ่งในช่วงส.ค.-พ.ย.2566 < 2% ก็จะหลุดเกณฑ์หุ้นเข้า SET50 และ SET100 ในการคำนวณทันที

       บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส  ประเมินมูลค่าซื้อขายหุ้นไทยลดลงแล้ว มีโอกาสลดลงอีก เนื่องจาก DELTA เคยมีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยในตลาดราว 4.1% แต่ช่วงติด Trading Alert (3-21 เม.ย.66) ทำให้บางวันเหลือสัดส่วนมูลค่าซื้อขายในตลาดราว 1% เท่านั้น ดังนั้นในช่วง 20 มิ.ย.-10 ก.ค. 2566 ที่ DELTA ติด Trading Alert น่าจะกดดันให้มูลค่าซื้อขายของ SET อาจเบาบางลงไปด้วย

        ขณะที่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)  หุ้นปัจจุบันซื้อ-ขายบน PER66 ที่ 93 เท่า ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการระยะสั้นคาดกำไรปกติทำได้เพียงทรงตัว (YoY )ไม่สอดคล้องกับราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อนแรง แนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังการเก็งกำไร คงคำแนะนำ "ขาย” DELTA อิงราคาเหมาะสม 52.50 บาทต่อหุ้น

       ปัจจุบันราคาหุ้น DELTA มาปิดที่  85.25  บาท  มูลค่ามาร์เก็ตแคปอันดับ 1 ตลาดหุ้นไทย 1.08 ล้านล้านบาท   จึงทำให้เป็นหุ้นสุดเสี่ยงแทนที่ตัวช่วยไปแทน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์