BAM ลุยลงทุนดิจิทัล วางเป้าปี67 เพิ่มสปีด’ยอดเรียกเก็บหนี้’ ทะลุ 2 หมื่นล้าน

BAM ลุยลงทุนดิจิทัล วางเป้าปี67 เพิ่มสปีด’ยอดเรียกเก็บหนี้’ ทะลุ 2 หมื่นล้าน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ธุรกิจบริหารสินทรัพย์” (AMC) นับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ ทั้ง “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) และ “ทรัพย์สินรอการขาย” (NPA) ของระบบสถาบันการเงิน (แบงก์) และลูกหนี้ต่างๆ ในประเทศไทย 

แต่ด้วยแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2566 และปี 2567 ทิศทางของหนี้ต่างๆ ทั้ง NPL และ NPA ยังมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้นสุดลง ในขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อาจ “ลดน้อยลง”   ดังนั้น การบริหารจัดการหนี้ NPL และNPA อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นภารกิจสำคัญ ทำให้ธุรกิจ AMC สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

ล่าสุด หนึ่งใน “ผู้นำ” ในธุรกิจ AMC อย่าง บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ฉายภาพการเดินหน้าใช้นวัตกรรมและระบบดิจิทัลใหม่ เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล (DATA Driven Organization) โดยสร้าง “คลังข้อมูล” และ “นำเทคโนโลยี” มาใช้ดำเนินงานอย่างครบวงจร ทั้งการบริหารจัดการหนี้ NPL และ NPA เพื่อการให้บริการลูกค้า รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์ยากรบุคคล เพื่อก้าวสู่องค์กรดิจิทัล (Digital) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นการวางรากฐานให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงในอนาคต

BAM ลุยลงทุนดิจิทัล วางเป้าปี67 เพิ่มสปีด’ยอดเรียกเก็บหนี้’ ทะลุ 2 หมื่นล้าน

“บัณฑิต อนันตมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า BAM ได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการหนี้ NPL และ NPA ภายใต้ โครงการ BAMD : New Core System จะต้องแล้วเสร็จภายในปี 2567 และล่าสุด เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของ BAM จึงได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “BAMGO Digital” คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเฟสแรกในช่วงปลายปี 2566 นี้ ไม่ว่าจะเป็น “การชำระหนี้ออนไลน์” และ “การแจ้งเตือนการชำระหนี้” ได้ทันเวลา และในถัดไปในปี 2567 จะเพิ่มเติมบริการอื่นๆ เข้ามาด้วย เช่น การยื่นความประสงค์ และ อนุมัติประนอมหนี้ออนไลน์ และ สัญญาประนอมหนี้ออนไลน์

ขณะเดียวกัน ยังนำระบบที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าและกลุ่มลูกหนี้ ที่ต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้ติดต่อหรือลงทะเบียนเข้ามา ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการปิดการขาย หรือโอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเตรียมนำAIมาช่วยในการวิเคราะห์ลูกหนี้ ทำให้สามารถจำแนกลูกหนี้กลุ่มต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป

โดย BAM ได้ใช้งบลงทุนพัฒนาระบบไอที ในส่วนของระบบงาน 100 กว่าล้านบาทต่อปี ไม่รวมโครงการพิเศษ ส่วนโครงการ BAMD ใช้งบลงทุน 400 ล้านบาท (ระยะเวลา 3 ปี 2565-2567)

ทั้งนี้ จากการนำเทคโนโลยีมาใช้เต็มรูปแบบดังกล่าว BAM วางเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกเก็บหนี้ ทั้ง NPLและ NPA เพิ่มจำนวนลูกหนี้ผ่อนชำระถึงระดับ 3,000 รายต่อปี และลูกค้าซื้อทรัพย์แบบผ่อนชำระ 1,000 รายต่อปี เพื่อสนับสนุนเป้าหมายยอดเรียกเก็บหนี้ทั้ง NPL-NPA เติบโตขึ้นในปีนี้ที่ 17,000 ล้านบาท จากครึ่งแรกปี​นี้อยู่ที่ 7,357 ล้านบาท 

โดยแบ่งเป็น NPL 3,985 ล้านบาท และ NPA 3,372 ล้านบาท โดยไตรมาส 2 ปี 2566 มีผลเรียกเก็บ 4,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากไตรมาสก่อนหน้าบริษัททำได้ราว 3,230 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดเรียกเก็บหนี้ทั้ง NPL-NPA เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 20,000 ล้านบาทขึ้นไป พร้อมกับแผนเป้าหมายระยะยาวภายใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2571) บริษัทพยายามผลักดันยอดผลเรียกเก็บให้เติบโตแตะที่ระดับ 25,000-28,000 ล้านบาท

“บัณฑิต” บอกต่อว่า ทางด้านส่วนผลประกอบการในปีนี้ ยังยืนยันว่าจะเติบโตดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยครึ่งปีแรก 2566 มีกำไรสุทธิ 691.73 ล้านบาท และบริษัทมีการซื้อหนี้รวมทั้ง NPLและ NPA อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท และปัจจุบันการซื้อหนี้รวมมากกว่า 9,000 ล้านบาทแล้ว คาดว่าทั้งปีนี้จะซื้อหนี้รวมไม่เกิน 15,000 ล้านบาท !! 

“ตอนนี้ได้รับซื้อหนี้รวมเกิน 9,000 ล้านบาทไปแล้ว ยังมีที่กำลังเจรจารับซื้อหนี้อีกในช่วงครึ่งปีหลังคิดเป็นมูลหนี้ 30,000-40,000 ล้านบาท ขณะที่การขายทรัพย์รอการขาย (NPA) มียอดขายเติบโต จากเป้าหมายปีนี้ 7,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต ที่มียอดขายเติบโต 300% คาดในปี 2567 จะมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ออกมาอีกมาก แต่ยังถือว่าเป็นโจทย์ของการบริหารหนี้ของธนาคารที่พยายามควบคุมหนี้เสียให้อยู่ในเกณฑ์”

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก 2566 อาจจะยังไม่ได้ดีมากเมื่อเทียบกับครึ่งปี 2565 เนื่องจากปีที่ผ่านมา บริษัทมีสินทรัพย์ก้อนใหญ่ที่ได้ราคาค่อนข้างดี แต่หากตัดก้อนดังกล่าวออกจะพบว่าผลการดำเนินงานของ BAM ก็ยังถือว่ามีการเติบโตที่ดีมากอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับ ความคืบหน้าการ JV AMC กับสถาบันการเงินนั้น โดยปัจจุบันกระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา โดยบริษัทจะยึดหลักและนโยบายต้องมีความละเอียด และรอบคอบในการพิจาณาในรายละเอียด และยืนยันว่าไม่ได้เร่งรีบ เนื่องจากจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นหลัก 

ด้าน “ธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายสารสนเทศและดิจิทัล BAM กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแอปพลิเคชันBAMGO ซึ่งเป็นแอปพลิเคชัน ที่เตรียมเปิดเฟสแรกปลายปีนี้ กับบริการชำระหนี้ได้ผ่านแอปฯ ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาแอปฯ ที่ให้บริการลูกค้าทั้งNPLและ NPA 

โดยลูกค้าสามารถเข้ามาดูโครงการ มาตรการ กิจกรรมส่งเสริมการขาย , ทรัพย์ราคาพิเศษ หรือแม้แต่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผ่านช่องทางออนไลน์, การซื้อทรัพย์ และการชำระหนี้ออนไลน์ ลูกค้าสามารถเลือกซื้อและทำรายการชำระเงินผ่านแอพธนาคาร, อี-เควายซีการยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการให้บริการออกแบบบ้านด้วยระบบเอไอ (AI)