สำรวจ 5 หุ้นโรงกลั่น หลังรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เตรียมจัดหนัก ลดราคาพลังงาน

สำรวจ 5 หุ้นโรงกลั่น หลังรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เตรียมจัดหนัก ลดราคาพลังงาน

หนึ่งในนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 ต้องการลดราคาพลังงาน โดยการเปิดเสรีในการนำเข้าน้ำมัน โบรกคาด หุ้นกลุ่มโรงกลั่นกระทบ แต่มองทำได้ยากต้องปรับโครงสร้างใหม่ หวั่นเกิดปัญหาน้ำมันเถื่อน

หุ้นกลุ่มโรงกลั่น ช่วงนี้แม้จะมีปัจจัยหนุนจากซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันแบบสมัครใจออกไปถึงสิ้นปีนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 10 เดือน แต่ทว่ายังมีปัจจัยลบกดดันจากนโยบายลดราคาพลังงานของรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่ต้องการเปิดเสรีในการนำเข้าน้ำมัน จะสามารถทำได้จริงหรือไม่?

วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟินันเซีย ไซรัส ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า ธุรกิจโรงกลั่นปัจจุบันอาจจะถูกกดดัน หากนโยบายดังกล่าวมีเสรีอาจจะมีการนำเข้าน้ำมันถูกจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งถ้าทำได้จริงต้องยอมว่า จะกระทบโรงกลั่น ทำให้มีซัพพลายมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการแย่งชิงยอดขายในประเทศไป และอาจจะต้องมีการลดการกลั่นลง เพื่อให้พอดีกับดีมานด์

“ปกติในประเทศพอมีการกลั่นน้ำมันเสร็จแล้ว ปั้มน้ำมันก็จะทำการซื้อเพื่อนำไปขายต่อ แต่ถ้าหากมีการนำเข้าได้จริง ปั้มน้ำมันอาจจะสามารถซื้อได้จากที่อื่นที่ไม่ได้อยู่ในประเทศ”

อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวทางการทำค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการลดค่าการกลั่น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยอิงค่าการกลั่นจากสิงคโปร์ ซึ่งในแบบมาตรฐาน ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดค่าการกลั่นเอง 

ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนว่า หากจะเข้ามาลงทุนในกลุ่มโรงกลั่นเข้ามาเก็งกำไร จากราคาน้ำมันที่ปรับบวกขึ้่นมา ขณะที่ก่อนหน้านั้นค่าการกลั่นมีการปรับขึ้นมาสูงสุด 14 เหรียญดอลลาร์ฯ ขณะนี้เริ่มปรับตัวลงมาแล้ว ดังนั้นนักลงทุนยังคงต้องติดตามว่าจะสามารถลงได้ต่อไปอีกหรือไม่ในช่วงถัดไป บวกกับประเด็นของภาครัฐที่ยังโอเวอร์แฮงกับนโยบายต่าง ๆ หากทำได้จริงน่าจะเกิดผลกระทบ แต่คิดว่ายังไม่สามารถทำได้ ค่อนข้างยากต่อการจะเข้ามาแก้ไข

นักวิเคราะห์ บล.กสิกไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่รัฐมนตรีท่านใหม่เข้ามาควบคุมราคาพลังงาน รวมถึงมีการปรับโครงสร้างหน้าโรงกลั่นที่กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี เพื่อที่ต้องการลดราคาขายปลีกหน้าปั้มลง แต่สิ่งสำคัญกับการลดราคาขายปลีกหน้าปั้มจะสามารถทำได้จากการใช้กลไกจากภาษีสรรพสามิต และกองทุนน้ำมันเข้ามาช่วยเหลือ แต่ทว่าใช้ภาษีสรรพสามิตก็จะทำให้ขาดรายได้ ขณะที่หากใช้กองทุนน้ำมันซึ่งขณะนี้ก็ยังติดลบอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท รวมถึงกระแสเงินสดยังคงไหลออกจากกองทุนน้ำมันด้วย 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เหลืออยู่คือ การปรับโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่น โดยรัฐมนตรีด้านพลังงานพยายามบอกว่าจะทำการเปิดเสรีในเรื่องของการนำเข้าเพื่อเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้ซื้อในประเทศนอกเหนือจากโรงกลั่นในประเทศ ขณะเดียวกันทฤษฎีค่าการกลั่นถ้าเทียบกับต่างประเทศไม่ต่างกันเนื่องจากอิงงค่าการกลั่นจากสิงคโปร์ แต่ในความเป็นจริงอาจจะมีบางจังหวะที่มีน้ำมันเหลือออกมาจากโรงกลั่นในรอบภูมิภาคที่นำมาขายในราคาที่เป็นส่วนลด หรือในบางช่วงที่มีค้าขนส่งที่ต่ำกว่าราคาหน้าโรงกลั่น ตรงนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถนำเข้าได้ในราคาที่ถูกกว่า แต่ไม่สามารถทำได้บ่อย ๆ 

ทั้งนี้การที่จะไปหาแหล่งน้ำมันถูก ๆ ได้มีแค่ที่รัฐเซีย แต่รัฐเซียเองยังต้องมีการพิจารณาถึงนโยบายกระทรวงต่างประเทศเข้ามาประกอบด้วย เพราะว่าปัจจุบันรัสเซียเองมีการโดนแซงก์ชันจากสหรัฐ เพราะฉะนั้นการเปิดอิมพอร์ตเสรี สามารถช่วยได้บ้าง เพียงแต่ว่าปัญหาไม่ได้สามารถแก้ไขได้ตลอด และอาจจะเกิดปัญหาน้ำมันเถื่อนได้ด้วย อย่างไรก็ตามยังคงต้องพิจารณาดูว่า จะทำได้ในระยะยาวได้หรือไม่

“ผลกระทบดังกล่าวน่าจะไม่ได้มากกับหุ้นกลุ่มโรงกลั่น ก่อนหน้านี้ก็มีหลายรัฐบาลที่จะเข้ามาแตะราคาหน้าโรงกลั่น เพียงแต่ว่าธุรกิจโรงกลั่นเป็นธุรกิจที่เปิดเสรีอยู่แล้ว การที่จะเข้ามาบดเบือนกลไกลที่มากเกินไป และถ้าราคาต่ำกว่าต่างประเทศเยอะ หรือต่ำกว่าสิงคโปร์เยอะ เราก็จะเห็นการส่งออกน้ำมัน แทนที่จะขายได้ในประเทศ และน้ำมันก็จะขาดตลาด หลังจากนี้อาจจะต้องรอดูอีกทีว่าจุดที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ การปรับราคาหน้าโรงกลั่นยังคงต้องใช้ระยะเวลานาน ที่ไม่สามารถทำได้ในเร็ว ๆ นี้ ต้องมีการเจรจา เนื่องจากเป็นโครงสร้างของประเทศ” 

ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจหุ้นกลุ่มโรงกลั่นในตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 5 โรงกลั่น 

1.บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล  (PTTGC) 

  • ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ปตท
  • คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  • มาร์เก็ตแคป 164,572.99 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคา YTD -22.75% 
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน 2.74% 
  • P/E Ratio - เท่า
  • กำลังการผลิต 280,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ซื่้อขายในตลาดหุ้นไทยวันแรก  21 ต.ค.54

2.บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 

  • ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ปตท
  • บัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
  • มาร์เก็ตแคป 108,899.48 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคา YTD -13.33% 
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน 7.59% 
  • P/E Ratio 18.68 เท่า
  • กำลังการผลิต 275,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ซื่้อขายในตลาดหุ้นไทยวันแรก  26 ต.ค.47

3.บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) 

  • ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด
  • ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่
  • มาร์เก็ตแคป 52,323.08 ล้านบาท
  • ผลตอบแทนราคา YTD +20.63% 
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน 5.86% 
  • P/E Ratio 8.52 เท่า
  • กำลังการผลิต 120,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ซื่้อขายในตลาดหุ้นไทยวันแรก 2 ส.ค.37

4.บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) 

  • ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ปตท
  • กฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
  • มาร์เก็ตแคป 46,999.16 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคา YTD -23.84% 
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน 3.04% 
  • P/E Ratio - เท่า
  • กำลังการผลิต 215,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ซื่้อขายในตลาดหุ้นไทยวันแรก 17 มี.ค.38

5.บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) 

  • ผู้ถือหุ้นใหญ่ CHEVRON SOUTH ASIA HOLDINGS PTE LTD
  • โรเบิร์ต โจเซฟ โดบริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  • มาร์เก็ตแคป 39,239.91 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคา YTD -15.42% 
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน 12.27% 
  • P/E Ratio -เท่า
  • กำลังการผลิต 175,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ซื่้อขายในตลาดหุ้นไทยวันแรก 8 ธ.ค.58

สำรวจ 5 หุ้นโรงกลั่น หลังรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เตรียมจัดหนัก ลดราคาพลังงาน