ทิศทางตลาดยังทรงตัว ไม่ผันผวนรุนแรง

ทิศทางตลาดยังทรงตัว ไม่ผันผวนรุนแรง

ภาวะการลงทุน ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวตามปัจจัยการเมืองในประเทศ แต่ก็มีปัจจัยต่างประเทศ ที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม โดยเฉพาะในฝั่งของตราสารหนี้ โดยมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในฝั่งของสหรัฐ และ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครดิต ทั้ง 2 เรื่อง ผมขอเริ่มจากฝั่งต่างประเทศก่อนครับ

เรื่องแรก Fitch Ratings ตัดสินใจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯสู่ระดับ AA+ จากเหตุผลที่ว่าสถานการณ์คลังของสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะเสื่อมถอยในช่วง 3 ปีข้างหน้า และปัญหาที่มีซ้ำๆต่อเนื่องของการเจรจาปรับขึ้นเพดานหนี้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ในระยะถัดไป ดูคำจำกัดความอาจจะแรงๆ

 แต่ก็พูดได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงความสามารถทางการคลังแบบตรงไปตรงมา มาต่อกันที่ด้านฝั่งภูมิภาคเอเชีย Country Garden ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 6 ของจีน ประกาศว่าบริษัทได้ผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร 2 ชุด ซึ่งครบกำหนดเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความวิตกของตลาดว่าอาจมีบริษัทพัฒนาอสังหาฯรายถัดๆไปที่กำลังประสบปัญหาในการชำระหนี้ และอาจจะก่อให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ในจีนได้ 

อย่างไรก็ตามเราก็คงต้องติดตามมาตรการของทางภาครัฐบาลจีน ว่าจะมาจัดการเรื่องนี้อย่างไร ส่วนปัจจัยที่มาเขย่าตลาดในช่วงปลายเดือนก็ได้แก่ การประชุมผู้นำธนาคารกลางที่เมือง Jackson Hole ปรากฏว่านาย Jerome Powell ส่งสัญญาณว่ากระบวนการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ยังไม่สิ้นสุด แต่ความถี่ในการขึ้นนั้นคงจะไม่รุนแรงเหมือนกับรอบปีที่ผ่านมา

หันมาด้านปัจจัยในประเทศของเราบ้าง ตอนนี้ก็คงเป็นเรื่องของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ที่ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการเอาไว้ โดยปรับขึ้นสู่ระดับ 2.25% เหตุผลหลักของการปรับขึ้น คือ เพื่อดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้ง สร้าง Policy space เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

โดยรวมแล้วถ้าพิจารณากันตามข้อมูลก็ไม่น่าจะต้องขึ้น แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรทางเศรษฐกิจและมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิ ใน กนง. พิจารณา เรื่องที่น่าเป็นห่วงของเราตอนนี้ คือ ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของไทย รายงานโดย สภาพัฒน์ฯ พบว่า ไตรมาส 2 สิ้นสุดเดือนมิ.ย. ออกมาต่ำกว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญ โดยขยายตัวเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปัจจัยหลักได้แก่การชะลอตัวของการส่งออกที่คิดเป็น 60% ของ GDP ทั้งนี้เป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของ ไทย ได้แก่ประเทศจีน 

ดังนั้นสภาพัฒน์ฯ ได้ทำการปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลง เหลือขยายตัว 2.5-3.0% จากเดิม 2.7-3.7% ตอนนี้ตัวช่วยที่เหลือน่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวนะครับ อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกที่คลายความกังวลตลาดหุ้นได้ช่วงปลายเดือน คือ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ และมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คาดว่าน่าจะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ออกมาเร็วๆนี้

สำหรับเดือนก.ย.เรายังคงต้องติตตามผลประชุมของ FED โดยตลาดคาการณ์คงอัตราดอกเบี้ย เพราะประธานเฟดส่งสัญญาณก่อนหน้านี้จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็วเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดยังคงเฝ้ารอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยภาพรวม ผมมองว่า ทิศทางการลงทุนยังไม่เคลื่อนไหวมากนัก บางคนอาจจะพูดได้ว่าเป็นจังหวะพักตัว ไม่มีความผันผวนรุนแรงทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องระวังก็คือเรื่องของเศรษฐกิจจีน

 ในส่วนของพอร์ตการลงทุน เรายังคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นคงไว้ที่ 45% โดยแบ่งเป็น สหรัฐฯและ จีน รวมกันไม่เกิน 15% ญี่ปุ่น คงน้ำหนักไว้ที่ 10% ประเทศไทย 20% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 20% เป็นตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade ประมาณ 10% ตลาดเงิน 10% ทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันประมาณ 15% โดยเน้นไปที่ REIT