สำรวจ 7 หุ้นการเมือง ตัวไหนพุ่งแรงสุด หลัง ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯ หนึ่งสัปดาห์

สำรวจ 7 หุ้นการเมือง ตัวไหนพุ่งแรงสุด หลัง ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯ หนึ่งสัปดาห์

สำรวจ 7 หุ้นการเมือง ตัวไหนพุ่งแรงสุด หลัง ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯ หนึ่งสัปดาห์ หุ้น SC บวกมากสุด 5.99% ตามมาด้วย PR9 บวก 5.26% ด้าน SIRI ลดลง 2.47%

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาไทยได้ลงมติเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่ทั้งหมดมีอยู่ทั้งสองสภา และวันที่ 30 ส.ค.2566 หรือผ่านไป 1 สัปดาห์ การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เศรษฐา 1 ยังไม่ลุล่วง แต่ตลาดหุ้นไทยตอบรับเป็นอย่างดี ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดที่ผ่านมาจนถึง ณ ปัจจุบัน

อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า ตั้งแต่ เศรษฐา เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เริ่มเห็นชัดเจนตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกวันทีละนิด ขณะที่มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างที่จะหนาแน่นขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท บางวันสามารถไปถึง 70,000 ล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีความชัดเจนเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน หุ้นที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากมีความอ่อนไหวกับทางการเมืองสูง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มาจากธุรกิจอสังหา ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารแสนสิริมาก่อน หลายคนอาจจะมีความสงสัยว่า หุ้นที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับการเมืองอาจจะได้ประโยชน์ ส่วนตัวมองว่า ยิ่งอยู่ในที่สูงอาจจะต้องมีความระมัดระวังมากที่อาจจะดูเป็นการเอื้อประโยชน์ ซึ่งอาจจะต้องทำตัวให้เป็นกลางและมีความโปร่งใสต่อไป 

“ที่ผ่านมาจะเห็นว่า นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการเข้าไปพบปะกับภาคธุรกิจก็ถือว่า ค่อนข้างเริ่มต้นได้ดี แต่ยังต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ ตามที่ได้หาเสียไว้ ยังคงต้องติดตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า นายกฯ เคยเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทุกคนก็คาดหวัง เนื่องจากครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนที่คนเชื่อมือว่า พรรคเพื่อไทยมาแล้วทุกอย่างจะดีให้ความสนใจในการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้สิ่งที่แตกต่างคือ คะแนนโครงสร้าง ส.ส. ไม่ได้ชนะแบบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ยังต้องพึ่งพาพรรคการเมืองอื่นด้วย ต้องมีการกระจายการดูแลออกไป แต่ข้อดีก็คือ เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ในอนาคตยังต้องรอดูว่าจะสามารถทำผลงานได้ออกมาในรูปแบบใด” 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เศรษฐา เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตลาดหุ้นไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในเชิงบวก และกลุ่มที่จะตอบรับดีเป็นพิเศษเป็นกลุ่มหุ้นอุปโภคบริโภค ค้าปลีก หรือกลุ่มธนาคาร ดูจะมีการขยับขึ้นมาเรื่อย และกลุ่มที่ดูจะมีการชะลอตัวลงไปบ้าง เช่นกลุ่มโรงพยาบาล หรือกลุ่มสื่อสารยังไม่กลับมา ดังนั้น หากให้ตีความตลาดมีการตอบรับในเชิงบวก มองว่า นโยบายทางเศรษฐกิจน่าจะมีการขับเคลื่อน โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการบริโภค 

นอกจากนี้หากมองว่า นายกรัฐมนตรี มาจากธุรกิจอสังหา มีทั้งจุดบวกและจุดลบ ซึ่งจดลบคือ การที่จะเข้ามากระตุ้นภาคอสังหาโดยตรงน่าจะเป็นไปได้ไม่มากกับสิ่งที่เคยทำมา อาจจะไม่สามารถเอื้อโดยตรงได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายสำหรับแนวคิด เช่น อัตราดอกเบี้ย ซึ่งถือว่า เป็นจุดแข็งของคนที่ทำธุรกิจประเภทนี้ เพราะการทำธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนมาก ๆ ต้องทำอย่างไร ซึ่งอาจจะมองเป็นปัจจัยบวกในเรื่องของกฎเกณฑ์ อาจจะมีการปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น หรืออาจจะมีการพูดคุยกับ ธปท.ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นควรจะมีการจัดเก็บอย่างไรได้บ้าง 

ขณะที่ช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มการเมืองอย่างของพรรคเพื่อไทยก็มีการปรับตัวขึ้นมาด้วย จากการที่นักลงทุนรายย่อยพยายามเล่นตามข่าว แต่ถ้าถามว่าพื้นฐานของหุ้นมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่นั้น ตรงนี้ยังต้องไปดูในเรื่องของกระทรวงต่าง ๆ กับการแบ่งอำนาจว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ชัดเจนกว่านี้ ว่าจะมีการเปลี่ยนมือไปขนาดไหน 

“ส่วนตัวมองว่า การมีนายกเข้ามาบริหารประเทศก็ดีกว่าไม่มี เพราะจะทำให้ลดความผันผวนของการเมืองลง เพราะก่อนหน้านี้เราไม่แน่ใจว่า ตรงแล้วจะเป็นใครกันแน่ แล้วนโยบายกว่าจะผลักดันขึ้นได้สักชิ้นก็ทำให้ไม่แน่ชัด เพราะเราเริ่มรู้ตัวบุคคลแล้ว การเดาว่าใครจะเป็นนายกฯ วันพรุ่งนี้ก็จะไม่มีแล้ว ขณะที่การแบ่งกระทรวงเริ่มมีความชัดเจน แต่ในอนาคตยังคงต้องตามดูต่อไปว่าจะสามารถทำได้ขนาดไหน ตามนโยบายของพรรคที่หาเสียงไว้ และพรรคร่วมยังอยู่กันได้ดีหรือไม่” 

ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา "กรุงเทพธุรกิจ" ได้สำรวจ การเมืองของ 2 พรรคการเมืองแกนนำรัฐบาล อย่างเพื่อไทยและภูมิใจไทย รวม 7 หลักทรัพย์ ว่าที่ผ่านมาราคามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

สำรวจ 7 หุ้นการเมือง ตัวไหนพุ่งแรงสุด หลัง ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯ หนึ่งสัปดาห์

1.บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) SIRI

  • วันที่ 22 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 2.02 บาท 
  • วันที่ 30 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 1.97 บาท 
  • เปลี่ยนแปลงลดลง 0.05 บาท หรือ -2.47%

2.บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) SC

  • วันที่ 22 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 4.34 บาท 
  • วันที่ 30 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 4.60 บาท 
  • เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 0.26 บาท หรือ +5.99%

3.บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) PR9

  • วันที่ 22 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 17.10 บาท 
  • วันที่ 30 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 18.00 บาท 
  • เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 0.90 บาท หรือ +5.26%

4.บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) XPG 

  • วันที่ 22 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 1.46 บาท 
  • วันที่ 30 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 1.42 บาท 
  • เปลี่ยนแปลงลดลง 0.04 บาท หรือ -2.73%

5.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) STEC

  • วันที่ 22 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 11.90 บาท 
  • วันที่ 30 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 11.90 บาท 
  • ไม่เปลี่ยนแปลง

6.บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) STPI 

  • วันที่ 22 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 3.94 บาท 
  • วันที่ 30 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 4.02 บาท 
  • เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 0.08 บาท หรือ +2.03%

7.บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) PTG

  • วันที่ 22 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 10.70 บาท 
  • วันที่ 30 ส.ค.66 ราคาปิดที่ 10.90 บาท 
  • เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือ +1.86%