ดาวโจนส์ร้อนแรง! พุ่งเกือบ 300 จุด คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบเศรษฐกิจ

ดาวโจนส์ร้อนแรง! พุ่งเกือบ 300 จุด คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบเศรษฐกิจ

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(29ส.ค.)ดีดตัวขึ้นเกือบ 300 จุด ปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 3 ขานรับคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ถูกกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 292.69 จุด หรือ 0.85% ปิดที่ 34,852.67 จุด
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 64.32 จุด หรือ 1.45% ปิดที่ 4,497.63 จุด
  • ดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 238.63 จุด หรือ 1.74% ปิดที่ 13,943.76 จุด

นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 292.69 จุด หรือ 0.85% ปิดที่ 34,852.67 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 64.32 จุด หรือ 1.45% ปิดที่ 4,497.63 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 238.63 จุด หรือ 1.74% ปิดที่ 13,943.76 จุด

นักลงทุนคลายกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ระบุว่า เฟดจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง โดยการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันศุกร์ที่ผ่านมา นายพาวเวลกล่าวว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงเกินไป และเฟดเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลกล่าวเสริมว่า เฟดจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง โดยการประเมินข้อมูลที่เฟดได้รับ รวมทั้งแนวโน้มและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

"การดำเนินการน้อยเกินไปจะทำให้เงินเฟ้อที่อยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดฝังตัวลึก และจะยิ่งทำให้เฟดต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อขจัดเงินเฟ้อออกจากเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ส่วนการดำเนินการที่มากเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจเกิดผลกระทบโดยไม่จำเป็น" นายพาวเวลกล่าว

นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. และเทน้ำหนักมากกว่า 50% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ย. และคงอัตราดอกเบี้ย ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมี.ค.2567

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 5.9% ในไตรมาส 3/2566 หลังจากมีการขยายตัว 2.0% และ 2.4% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ

หากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐมีการขยายตัว 5.9% ในไตรมาส 3 ตามที่คาดการณ์ไว้ ก็จะเป็นการขยายตัวมากกว่า 2 เท่าจากไตรมาส 2 และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2564

ตลาดจับตาตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 2/2566 (ประมาณการครั้งที่ 2) ที่จะมีการเปิดเผยในวันพุธ และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันพฤหัสบดี รวมทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์

นักลงทุนจับตาดัชนี PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)