อาชีพในฝัน- เต้นรำไปทำเงิน

อาชีพในฝัน- เต้นรำไปทำเงิน

ในมุมมองของผมที่เป็น  “นักลงทุนอาชีพ” หรือคนที่ทำงานหลักเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาหลายสิบปี  และก่อนหน้านั้นก็ทำงานเป็นวิศวกรในโรงงาน  เป็นพนักงานด้านการวางแผนและบริหารเงินของกิจการให้บริการเงินกู้และเงินร่วมทุนขนาดใหญ่ 

และต่อมาก็ทำงานในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ให้บริการเป็นที่ปรึกษาและระดมเงินให้กับบริษัทต่างๆ  ทั้งที่เป็นบริษัทเอกชนและบริษัทในตลาดหุ้น ผมก็รู้สึกว่า งานแต่ละอาชีพนั้นมีลักษณะและคุณสมบัติไม่เหมือนกัน  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  มีความสุขและความทุกข์ไม่เท่ากัน  เช่นเดียวกับที่มีรายได้ที่แตกต่างกัน

เมื่อคิดย้อนกลับไป  ถ้าผมรู้ว่าเราควรจะเลือกก่อนว่าอาชีพไหนที่จะให้ความสุขมากกว่าและได้เงินดีกว่า สำหรับคนที่มีคุณสมบัติแบบที่ผมเป็น  ผมก็คงจะไม่ทำงานแบบนั้นทั้งหมด  ผมคงจะพยายามหา  “อาชีพในฝัน”  ทำแล้วมีความสุข  และได้เงินมากๆ  ตั้งแต่แรก  ไม่มาเริ่มทำเมื่ออายุกว่า 40 ปี ที่ผม “บังเอิญ” ต้องมาเป็น “นักลงทุนอาชีพ” หลังจากที่ต้องตกงานในวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540  และก็พบว่า  อาชีพนักลงทุนนั้นก็คือ  “อาชีพในฝัน” ที่ทำแล้วมีความสุข  อยากทำทุกวัน  เหมือนกับที่วอเร็น บัฟเฟตต์พูดว่า  เขาแทบจะ  “เต้นแท็ปไปทำงาน” ทุกวัน

แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว  การลงทุนก็อาจจะไม่ใช่ “อาชีพในฝัน” ที่ทำแล้วมีความสุขและได้เงินมาก  เพราะการทำอาชีพอะไรก็ตาม  มันก็จะต้องเหมาะกับคุณสมบัติและนิสัยและความชอบของแต่ละคนด้วย  อย่างไรก็ตาม  จากประสบการณ์ของผม  งานหรืออาชีพที่ผมคิดว่าน่าจะมีความสุขหรือมีทุกข์น้อยกว่า  และคนไม่ต้องมี IQ สูงก็ทำได้  น่าจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

ข้อแรกก็คือ  มันต้องเป็นงานที่  “มีความหมาย” หรือเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือคนอื่น  และอย่างน้อยก็ให้ผลตอบแทนที่ดีพอต่อการใช้ชีวิตของเรา  นอกจากนั้นสถานที่ทำงานก็ต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี  ไม่มีมลพิษที่กระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเรา  นี่ก็เป็นเรื่องพื้นฐานเบื้องต้น  ซึ่งคิดดูแล้ว  สมัยที่ผมเป็นวิศวกรเมื่อเกือบ 50 ปี  มันไม่ผ่าน

ข้อต่อมาก็คือ งานต้องเหมาะกับนิสัยและความสามารถของเรา  ซึ่งจะช่วยให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จในงานที่ทำ  ซึ่งโอกาสก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในงานก็คือสิ่งที่จะก่อให้เกิดความสุข  และเงินที่จะได้มากขึ้น

ความสุขในอาชีพและการทำงานที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือการที่เราจะไม่เครียดหรือมีความกังวลที่มากเกินไปที่มักจะเกิดจากการที่ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย   และถ้าเป้าหมายนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเกินไป  อาจจะเป็นเพราะผู้บังคับบัญชามีความเข้มงวดตั้งเป้าหมายสูงเกินไป และ/หรือบริษัทหรือเราไม่ได้มีความได้เปรียบในการแข่งขันเทียบกับคู่แข่ง  เราก็จะเครียด  กังวล และไม่มีความสุขในการทำงาน  หรือถ้าพูดแบบง่ายๆ  ก็คือ  การถูกวัดผลงานแบบเข้มข้นและโดยผู้บังคับบัญชานั้น  เป็นสิ่งที่ทำให้การทำงานมีความสุขน้อยลงมาก

อาชีพที่ทำแล้วมีความสุขก็คือความเป็นอิสระและ/หรือความยืดหยุ่น  ซึ่งนี่ก็รวมถึงความเป็นอิสระที่จะสามารถทำงานตามเวลาที่สะดวกของเรา  การมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ และการที่สามารถที่จะได้ผลตอบแทนตามผลงานที่ยุติธรรม เช่น  ทำดีหรือทำมากได้มาก  ทำน้อยได้น้อย  เป็นต้น

เพื่อนร่วมงานและผู้ที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้อาชีพนั้นก่อให้เกิดความสุขหรือความทุกข์มากกว่ากัน  อาชีพบางอย่างอาจจะมีการแข่งขันหรือแก่งแย่งชิงดีมากกว่าอาชีพอื่น  ดังนั้น  เพื่อนร่วมงานก็มักจะเป็นแหล่งที่จะทำให้มีความสุขหรือความทุกข์ที่สำคัญ  ในหลายอาชีพนั้น  เพื่อนร่วมงานมักจะต้องช่วยกันมากกว่าแข่งขัน  บางอาชีพก็เป็นแบบต่างคนต่างทำหน้าที่  ซึ่งก็จะทำให้มีความสุขมากกว่าสำหรับการทำงาน

อาชีพบางอย่างนั้น  มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์หลายข้อดังที่กล่าวถึง  นอกจากนั้นก็ยังให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินที่ดีพอ    ดังนั้น  ก็จะเป็น  “อาชีพในฝัน” สำหรับคนที่อยากทำงานอย่างมีความสุข  ตัวอย่างก็น่าจะรวมถึงอาชีพต่อไปนี้  ซึ่งผมเองก็สังเกตพบว่าคนที่ทำก็มักจะมีความสุขและก็ไม่ค่อยที่จะเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนอาชีพบ่อย

กลุ่มแรกก็คือ  อาชีพครูอาจารย์และผู้สอนในสาขาวิชาต่าง ๆ   เพราะนี่คืออาชีพที่ค่อนข้างอิสระและมีคนนับหน้าถือตา  ไม่มีใครมาประเมินผลงานอะไรมากนัก  และรายได้นั้นแม้ว่าจะไม่สูงหรือเติบโตมากนัก  แต่การหารายได้เพิ่มจากการเป็นครูพิเศษก็ดูเหมือนว่าจะดีทีเดียวเมื่อเทียบกับรายได้จากอาชีพอื่น  ว่าที่จริงในปัจจุบันนั้น  คนที่มีทักษะหรือความสามารถบางอย่างสามารถที่จะยึดอาชีพเสริมเป็นครูพิเศษหรือติวเตอร์ได้ไม่ยาก  เพราะเด็กหรือคนรุ่นใหม่ต่างก็พร้อมจ่ายเงินเรียนรู้ทักษะสารพัดรวมถึงการทำศิลปะ  ทำอาหาร  เล่นกีฬา และฝึกภาษา เป็นต้น

อาชีพพนักงานบริการบนเครื่องบินเช่น แอร์โฮสเตสหรือนักบิน  นี่ก็เป็นอาชีพที่คนทำมักจะมีความสุข  อาจจะเนื่องจากได้ท่องเที่ยวด้วย  รายได้ดี  การทำงานเมื่อทำแล้วเสร็จก็จบเป็นเที่ยว ๆ  ไม่ต้องมีความกังวลหรือต้องรับผิดชอบงานต่อเนื่อง  และถึงแม้ว่าจะต้อง “ให้บริการ” คนอื่น  แต่ก็ดูเหมือนว่าคนรับบริการก็มักจะประพฤติปฏิบัติดีกว่าการรับบริการบนพื้นดิน

อาชีพพิธีกร  ผู้ประกาศและนักแสดงในสื่อต่าง ๆ  ก็มักจะเป็นอาชีพที่คนทำมีความสุขและมีรายได้ดี  จริงอยู่  ไม่ใช่ว่าทุกคนมีความสามารถที่จะทำได้  แต่การฝึกฝนก็ทำได้ไม่ยากเหมือนกับการเป็นวิศวกรหรือวาณิชธนกิจ  อาชีพพิธีกรนี้ก็เช่นเดียวกับอาชีพในฝันอื่น ๆ  ที่เมื่องานจบแล้วความเครียดก็จบ  ไม่ต้องเก็บกลับบ้านไปคิดหรือกังวลอีกต่อไป  จริงอยู่  การเป็นนักแสดงก็อาจจะต้องมีการท่องบท  แต่ก็เป็นเรื่องที่จะติดอยู่ในสมองในช่วงเวลาสั้น ๆ  ไม่น่าจะทำให้  “นอนไม่หลับ” เหมือนงานอื่นในบางอาชีพ

สุดท้ายที่จะพูดถึงและน่าจะเป็น  อาชีพในฝันสำหรับคนจำนวนไม่น้อยก็คือ  “นักลงทุน” โดยเฉพาะในตลาดหุ้น  และสิ่งที่ผมจะเน้นก็คือ  เป็น “นักลงทุนระยะยาวแบบ VI” ในแบบของวอเร็น บัฟเฟตต์ และตัวผมเอง  ซึ่งก็ยึดถือแบบอย่างของบัฟเฟตต์  โดยที่ความแตกต่างอาจจะมีอยู่บ้างในแง่ที่ว่าบัฟเฟตต์ยังต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นของเบิร์กไชร์จำนวนมาก  แต่ผมเองนั้นรับผิดชอบเฉพาะคนในครอบครัว

การเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลระยะยาวแบบ VI นั้น  เป็นการลงทุนที่มีความสุขด้วยเหตุผลมากมาย  แต่จะมีความสุขจริงๆ  ในระยะยาวได้จะต้องมีเงื่อนไขว่าเรา “ประสบความสำเร็จ” จนกระทั่ง “มีอิสรภาพทางการเงิน” แล้ว  ซึ่งนั่นก็หมายความว่า  เราอาจจะต้องมีเงินเริ่มต้นมากพอที่จะไม่ต้องทำงานอย่างอื่นแต่ก็มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้  ซึ่งนั่นก็คือ  เราจะต้องมีเงินต้นอย่างน้อย 200 เท่า ของรายจ่ายประจำเดือน  เราถึงจะยึดอาชีพเป็นนักลงทุนระยะยาวแบบ VI ได้  ตัวอย่างเช่น  ถ้ามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท  เราจะต้องมีเงินต้นถึง 10 ล้านบาท ก่อนที่จะคิดเป็น “นักลงทุนอาชีพ”

ถ้ายังมีไม่ถึง  เราจะต้องหาเงินให้ถึง  อาจโดยการทำงานประจำอย่างอื่นและมีอาชีพหรืองานเสริมเป็นนักลงทุนสมัครเล่นไปก่อน  และถ้าอยากทำงานอย่างมีความสุขก็อาจจะเลือกงานในฝันอย่างอื่นไปก่อน  เช่น  อาจจะเป็นนักบินหรือแอร์โฮสเตสที่มีรายได้ดีและเก็บเงินให้มากพอแล้วจึงเปลี่ยนมาเป็น  VI เต็มตัว  เป็นต้น

อาชีพนักลงทุนระยะยาวแบบ VI นั้น  ข้อดีก็คือ  เราเป็นเจ้านายตนเอง  มีอิสระเสรีในการทำอะไรก็ได้ที่เราชอบ  ไม่มีเวลาทำงานตายตัว  ไม่ต้องเฝ้าหน้าจอหุ้น  ว่าที่จริงไม่ว่าเราจะอยู่แห่งไหนของโลก  เราก็ซื้อขายหุ้นได้  แต่จริงๆ  เราก็ไม่จำเป็นที่จะทำงานตอนตลาดหุ้นเปิด  เพราะส่วนใหญ่แล้วเราจะซื้อขายหุ้นน้อยมาก  ปีหนึ่งก็ทำไม่กี่ครั้ง  แต่เราก็ทำงานทุกวันโดยการศึกษาข้อมูลทั้งในหนังสือและในชีวิตจริง

ข้อเสียของอาชีพ VI ข้อหนึ่งนั้นก็คือ  การที่เราจะไม่มี “หัวโขน” ในสังคม  เราจะไม่มีสถานะอะไรที่คนทั่วไปจะยกย่องนับถือโดยเฉพาะในสังคมไทยที่ยังอนุรักษ์นิยมและคนคุ้นชินกับตำแหน่งหน้าที่ที่เป็น “ทางการ” และ “อำนาจตามวัฒนธรรมและประเพณี” มากกว่าความสามารถและผลงานที่คนๆ นั้นมอบให้แก่สังคม

จริงอยู่ว่าในภาวะปัจจุบัน  นักธุรกิจและเจ้าของกิจการธุรกิจที่ “ร่ำรวย” ก็เป็น  “Class” หรือ “ชนชั้นทางสังคม” ที่กำลังได้รับการชื่นชมยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ  เทียบเคียงกับคนในกลุ่มที่มี “หัวโขน” แล้ว  แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังห่างชั้นจาก “เจ้าของธุรกิจ” มาก  แม้ว่า “VI” โดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นเจ้าของธุรกิจเช่นเดียวกัน  เพียงแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของส่วนใหญ่เท่านั้น