หุ้น ALL ดิ่งเหวร่วง 28% ตลท.ขึ้นเครื่องหมาย ‘C’ ขาดสภาพคล่องหนัก 

หุ้น ALL ดิ่งเหวร่วง 28% ตลท.ขึ้นเครื่องหมาย ‘C’ ขาดสภาพคล่องหนัก 

หุ้น ALL โดนตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศ ขึ้นเครื่องหมาย “C” ในวันที่ 17 ส.ค.2566 เหตุส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว สำหรับงบฯ การเงินไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2566 ส่งผลให้ราคาหุ้น ALL เช้านี้ ร่วงลงมาที่ 0.05 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ -28.57%  

กรณี บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) หรือ ALL ได้มีรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า กลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนจากการดําเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด จํานวน 1 ล้านบาท และ 0.83 ล้านบาท ตามลําดับ หนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน จํานวน 1,943.07 ล้านบาท และ 1,912.83 ล้านบาท ตามลําดับ

ขณะที่ ภาระผูกพันในการจ่ายชําระค่าซื้อที่ดินที่ถึงกําหนดชําระภายใน 1 ปี จํานวน 1,523.22 ล้านบาท และ 1,433.65 ล้านบาท ตามลําดับ จนส่งผลให้มีผลขาดทุนเกินทุนจํานวน 781.27 ล้านบาท และ 617.74 ล้านบาท ตามลําดับ และขาดสภาพคล่องทางการเงิน

หุ้น ALL ดิ่งเหวร่วง 28% ตลท.ขึ้นเครื่องหมาย ‘C’ ขาดสภาพคล่องหนัก 

ล่าสุดเช้านี้ (16 ส.ค.66) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศ ขึ้นเครื่องหมาย “C” ในวันที่ 17 ส.ค. 2566 เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว สำหรับงบฯ การเงินไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2566

ส่งผลให้ราคาหุ้น ALL เช้านี้ (16 ส.ค.66 เวลา 10.10 น.) ร่วงลงมาที่ 0.05 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ -28.57% ซึ่งถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 

กรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจ ว่า หุ้น ALL มีหนี้สินหมุนเวียนเป็นจำนวนเงิน 5,321.55 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 2,323.04 ล้านบาท หุ้นกู้ 4 รุ่น ได้แก่ ALL235A, ALL230A, ALL242A และ ALL252A ผิดนัดชำระดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 

ขณะเดียวกันงบไตรมาส 2/66 ที่เป็นบ้านเดี่ยวไม่ดี ยอดขายค่อนข้างตก เนื่องจากว่า ยอดขายของชาวต่างชาติซื้อไปเยอะตอนช่วงโควิด ปี 2564 - 2565 แล้ว 

“หากเทียบกับ STARK เป็นการสร้างงบปลอม แต่ หุ้น  ALL ไม่ใช่งบปลอมแต่ไม่มีเงินสด ส่วนแนวทางการยื่นขอฟื้นฟูทางที่น่าจะเป็นการเพิ่มทุน แต่หุ้นก็จะไม่ค่อยชอบเท่าไร เพราะถ้าดูแล้วหุ้นกู้ยังไม่สามารถที่จะจ่ายได้ และหากมีการเพิ่มทุนจะมีใครเข้ามาเพิ่มหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องตามดูต่อไปว่าจะออกมาในรูปแบบใด แต่มองว่า การเพิ่มทุนน่าจะเป็นหนึ่งในทางเลือก”

ธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) หรือ ALL ได้นําส่งงบการเงินสําหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 30  มิถุนายน 2566 ของบริษัท ซึ่งผู้สอบบัญชีได้สอบทาน และรับรองงบการเงิน โดยไม่แสดงความเห็นต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลที่สอบทาน ดังต่อไปนี้

1. การขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ตามที่ได้เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ในงบการเงินรวม และงบการเงินเฉพาะกิจการ กลุ่มบริษัทมีเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวน 1.00 ล้านบาท และ 0.83 ล้านบาท ตามลำดับ หนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน จำนวน 1,943.07 ล้านบาท และ 1,912.83 ล้านบาท ตามลำดับ และภาระผูกพันในการจ่ายชำระค่าซื้อที่ดินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 1,523.22 ล้านบาท และ 1,433.65 ล้านบาท ตามลำดับกลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้มีผลขาดทุนเกินทุนจำนวน 781.27 ล้านบาท และ 617.74 ล้านบาท ตามลำดับ และขาดสภาพคล่องทางการเงิน 

ทั้งนี้ จึงเป็นเหตุให้กลุ่มบริษัทไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในปัจจุบันต่อได้ ผิดนัดชำระหนี้ทั้งจากเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากบุคคลภายนอก เจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และหุ้นกู้ รวมถึงผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ และผิดนัดชำระคืนเงินรับล่วงหน้าจากลูกค้า ซึ่งบริษัท อยู่ระหว่างการจัดหาเงินจากแหล่งเงินทุนเพื่อจ่ายชำระหนี้สินหมุนเวียน และภาระผูกพันที่ถึงกำหนดชำระดังกล่าว สถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทยังไม่สามารถเพิ่มทุนได้ตามแผนธุรกิจเดิม และแผนการขายสินทรัพย์เพื่อนำมาชำระหนี้มีความล่าช้า จึงทำให้มีความไม่แน่นอน ที่มีอย่างสาระสำคัญที่เกี่ยวกับความสามารถในการจัดหาเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการชำระคืนหนี้สินของกลุ่มบริษัท และเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 ได้มีมติอนุมัติการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และการจัดจ้างสำนักงานทนายความเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

2.การผิดนัดชำระหนี้

ตามที่ได้เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนเป็นจำนวนเงิน 5,321.55 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 2,323.04 ล้านบาท หุ้นกู้ 4 รุ่น ได้แก่ ALL235A ALL230A ALL242A และ ALL252A ผิดนัดชำระดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ใช้สิทธิขอเรียกให้หุ้นกู้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระหนี้โดยพลัน (วันที่ครบกำหนดชำระโดยพลันคือวันที่ 31 กรกฎาคม 2566) ซึ่งเหตุผิดนัดดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ดังนั้นเมื่อนำมูลหนี้หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระเงินต้น และดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระโดยพลันซึ่งมีจำนวนมากกว่า 400.00 ล้านบาท จึงเป็นเหตุให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ที่เหลือ (CrossDefault) ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดสิทธิ และหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นกู้

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นกู้ได้มอบหมายให้ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ดำเนินการเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ไถ่ถอนหุ้นกู้ หรือดำเนินการฟ้องร้อง และบังคับจำนองทรัพย์สินหลักประกันของผู้ออกหุ้นกู้ เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นจากบุคคลภายนอก เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีและเงินกู้ยืมระยะยาวจากบุคคลภายนอกที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี รวมจำนวน 1,544.69 ล้านบาท ซึ่งบริษัท ไม่สามารถจ่ายชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวได้ตามระยะเวลาที่กำหนด และเจ้าหนี้เงินกู้หลายรายฟ้องร้องบริษัทต่อศาลแพ่งและศาลอาญาให้บริษัท จ่ายชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ปัจจุบันคดีความอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล นอกจากนี้บริษัท ยังมีภาระหนี้สินอื่นๆ ที่ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาอีกเป็นจำนวนมาก

3.การถูกฟ้องร้อง

ตามที่ได้เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 20 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทถูกฟ้องร้องจากสถาบันการเงิน บริษัทอื่นและบุคคลธรรมดาหลายรายในคดีต่างๆ จากการผิดสัญญาการเรียกร้องค่าเสียหายและอื่นๆ โดยมีทุนทรัพย์สำหรับงบการเงินเฉพาะกิจการ รวมจำนวน 317.01 ล้านบาท ปัจจุบันคดีความอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล

สถานการณ์ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้นมีผลกระทบ และมีความเกี่ยวข้องกัน โดยแสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์ และหนี้สินที่มีสาระสำคัญในงบการเงินรวม และงบการเงินเฉพาะกิจการ

บริษัท ใคร่ขอเรียนชี้แจงว่า การที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความคิดเห็นต่องบการเงินของบริษัท สำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหาร  แต่เกิดจากผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญตามสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์